xs
xsm
sm
md
lg

เกมเสี้ยมนอกสภาฯ ธนาธร ลุ้นเหนื่อย !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หากเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และวิปฝ่ายค้าน ที่จะมีการลงมติในญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 6 คน ในวันนี้ (28 กุมภาพันธ์) ก็น่าจะประเมินกันล่วงหน้าว่า ฝ่ายรัฐบาลน่าจะผ่านหรือชนะไปได้อย่างฉลุย
สาเหตุที่ต้องประเมินกันแบบนั้นก็เนื่องมาจากเสียงของฝ่ายรัฐบาลห่างจากเสียงของฝ่ายค้าน มากถึง 39 เสียง หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้มีส.ส.ในสังกัดพรรคดังกล่าวต้องสิ้นสภาพไปทันที 11 คน นอกเหนือจากนี้ หลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปแล้ว ก็ยังมีส.ส.จากอดีตพรรคดังกล่าวย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 9 คน ถือว่ามาเพิ่มเสียงให้กับฝ่ายรัฐบาลมากขึ้นไปอีก
**ประกอบกับการอภิปรายของบรรดาพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตลอดช่วง 2-3วัน ที่ผ่านมาถือว่า “ต่ำกว่ามาตรฐาน”ไม่มีหลักฐานเด็ดที่พอจะเป็น “หมัดน็อก”ฝ่ายรัฐบาลได้เลยแม้แต่น้อย เรียกว่า “ไม่ระคายผิว”ส่วนใหญ่เนื้อหาที่นำมาอภิปรายล้วนเป็น“โวหาร” เป็นเพียงข้อกล่าวหา โดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน หรือที่เรียกว่า “ใบเสร็จ”ที่สร้างความนาเชื่อถือได้เลย ทำให้มองว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านคราวนี้ ไม่ต่างจาก “กระทู้ถามสด”เท่านั้น
อีกทั้งบรรดา “ขุนพล”ที่เรียงหน้ามาอภิปราย ก็ล้วนแล้วแต่ไม่น่าสนใจ ไม่สามารถจูงใจ หรือนำหลักฐานมาสะกดให้ชาวบ้านสนใจติดตามเหมือนเช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีต ส่วนใหญ่จึงเห็นแค่ลีลาการประท้วงของทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดบรรยากาศน่ารำคาญที่มีแนวโน้มมีมากขึ้น
สำหรับรัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลจำนวน 6 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร.อ.ธรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้วยจำนวนคะแนนเสียงของฝ่ายรัฐบาล ที่มีจำนวนมากกว่าฝ่ายค้านแบบ “ห่างกันมาก”ประกอบกับเนื้อหาของฝ่ายค้านที่นำมาอภิปรายนั้นไม่ถือว่าเป็นหลักฐานเด็ดตามที่โหมโรงคุยโม้เอาไว้ มันทำให้การซักฟอกคราวนี้ แทบจะไม่ระคายผิวฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ได้เลย
แม้ว่าในการอภิปรายของฝ่ายค้านตลอดสองวันที่ผ่านมา ฝ่ายค้านจะเน้นเป้าไปที่ตัว “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถือว่าโดนถล่มอย่างหนัก แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ ในเมื่อเนื้อหาไม่หนักแน่น ประกอบกับมีการลุกขึ้นชี้แจงแบบทุกเม็ด แลกกันแบบหมัดต่อหมัด ที่สำคัญคราวนี้มีการเตรียมตัวมาดีในแบบ “ลุคใหม่”ควบคุมอารมณ์ และมีการปรับคำพูดให้ช้าลง และฟังง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับการอภิปรายในสภาฯ ครั้งก่อนๆ
ดังนั้น หากประเมินตามสถานการณ์และบรรยากาศที่เป็นอยู่ถือว่าฝ่ายค้านยังอภิปรายได้ “ต่ำกว่ามาตรฐาน”ไม่มีหมัดเด็ดหรือ“ใบเสร็จ”ที่ทำให้น็อกรัฐบาลให้หงายหลังลงไปได้เลย ทำให้มั่นใจว่า “ศึกในสภา”ผ่านฉลุยค่อนข้างแน่
**อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าติดตามมากกว่าก็คือ“เกมนอกสภา”ที่ถือว่าน่าจับตามมากกว่า ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ “ต่อเนื่อง”กันมาจากการเมืองในสภา และการยุบพรรคอนาคตใหม่นั่นแหละ โดยเฉพาะที่กำลังการเคลื่อนไหวชุมนุมของบรรดา“เด็กๆ”นักเรียน นักศึกษา ตามสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ออกมาคัดค้านการยุบพรรคดังกล่าว มีการให้เหตุผลในแบบพิลึกว่า มีคนเลือกพรรคนี้มากว่า 6 ล้านคน แต่มีคนแค่ 7 คน (ตุลาการฯ) มายุบพรรค ถือว่าไม่ยุติธรรม และไม่ชอบธรรม จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า“ไฟลามทุ่ง”
แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวของบรรดานักศึกษาดังกล่าว เป็นลักษณะของความชอบ ความรู้สึกส่วนตัว หรือการเชียร์แบบ “แฟนคลับ”ที่ไม่ได้พิจารณาถึงเหตุผลที่มีคำวินิจฉัยของศาลฯ ว่ามีความผิดตามกฎหมาย กี่มาตรา และอย่างไรบ้าง มีรายละเอียดอธิบายอย่างชัดเจน เพียงแต่ว่ามีการเปิดใจยอมรับฟังกันหรือไม่ เท่านั้นเอง
ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันอีกมุมหนึ่งในทางการเมือง ย่อมมองออกว่านี่คือเป็นส่วนหนึ่งใน “เกมเสี้ยม”ของบางกลุ่ม โดยเฉพาะสายตาที่เพ่งมองไปที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับพวกที่เป็นเครือข่ายสนับสนุนที่อยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายแห่ง
อีกด้านหนึ่งหากพิจารณาในมุมของฝ่ายอำนาจรัฐ ที่ถือว่ามีการ “ยืดหยุ่น”แก้เกมมาอย่างดีเช่นเดียวกัน นั่นคือ ไม่พยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดกระแสความไม่พอใจ ให้เกิดการชุมนุมขยายวงกว้างออกไปข้างนอกจนเหนือการควบคุมอย่างที่บางฝ่ายมีความพยายามต้องการให้เป็น
ที่ผ่านมา ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่บอกว่า จะไม่ขัดขวางการชุมนุมของ บรรดานักศึกษา เพราะถือเป็นเสรีภาพ สามารถทำกิจกรรมได้ เพียงแต่ว่า "อย่าทำผิดกฎหมาย" โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ“สถาบันฯ”ก็แล้วกัน พร้อมกับเตือนถึงเรื่องคดีความ ที่อาจตามมาในอนาคต
ดังนั้น เกมนี้แม้ว่าจะมีความพยายามจะลากออกมานอกสภาฯ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของบรรดา นักเรียน นักศึกษา ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ในเวลานี้ แต่เมื่อพิจารณาตามบรรยากาศแล้ว ก็ต้องปล่อยให้แสดงออกกันอย่างเต็มที่ แต่อยู่ในกรอบ ขณะที่ฝ่ายรัฐก็เข้าใจสถานการณ์ไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมเหมือนแบบ“เติมเชื้อไฟ”มันทำให้งานนี้หากใครมองว่า “เกมเสี้ยม”ของใครบางคน ที่อยู่ข้างหลังเด็กๆ พวกนี้ก็ต้องลุ้นกันเหนื่อยแน่นอน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น