xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม”ปลุกความเชื่อมั่นนักลงทุน เร่งอัดงบลงทุน5แสนล้านเข้าระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“รมว.คลัง” เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ย้ำรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบฯ ปี 63 ไม่น้อยกว่า 80% ภายใน 6 เดือนที่เหลือ โดยไตรมาส 2-3 พร้อมเร่งเม็ดเงินจากงบลงทุนภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจรวม 5 แสนล้านบาทให้ไหลเข้าสู่ระบบเพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้ ด้าน "บสย. - ททท. - 4 สมาคมด้านการท่องเที่ยวเอกชน" ถกด่วนฉุดธุรกิจท่องเที่ยวซบเซาจากพิษโควิด-19

วานนี้ (20 ก.พ.) นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังกล่าวภายหลังปาฐถาพิเศษหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจไทย และการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ" ในโครงการตลาดทุนพบภาครัฐ ครั้งที่ 1/2563 : กระทรวงการคลังพบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า นักลงทุน นักวิเคราะห์ รวมถึงผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ยังมีเรื่องที่มีความสนใจอยู่ 2-3 เรื่องคือ อนาคตของสถานการณ์เมื่อรัฐบาลได้ใช้มาตรการในการดูแลเศรษฐกิจแล้วจะเป็นอย่างไร แนวทางการใช้งบประมาณรายจ่ายในปี 63 และสิ่งที่นักวิเคราะห์ นักลงทุน เห็นห่วงมากที่สุดคือปัญหาการแพร่ระบาดขอเชื้อไวรัสโควิด-19

“หลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 มีผลบังคับใช้มีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ที่มีวงเงินทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาทโดยทันที ทั้งนี้จะเหลือระยะเวลาในการเบิกจ่ายได้อีก 6 เดือนก่อนที่ปีงบฯ 63 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย. 63 โดยสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางคาดว่า ในไตรมาส 3 ของปี 63 จะสามารถเบิกจ่ายได้ราว 77% และการเบิกจ่ายตลอดปีงบประมาณ 63 จะยังเป็นไปตามเป้าหมายในระดับที่ตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 80% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวมที่ 3.2 ล้านล้านบาท” นายอุตตม กล่าว

รมว.คลัง กล่าวต่อว่า ขณะที่งบลงทุนราว 6.4 แสนล้านบาทนั้น สำนักงบประมาณได้ประเมินไว้ตัวเลขว่าจะมีงบประมาณราว 3.5 แสนล้านบาท รวมแล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท ที่จะสามารถเบิกจ่ายได้ทันทีที่ พ.ร.บ. งบฯ ปี 63 มีผลบังคับใช้ และอีกราว 9.6 หมื่นล้านบาทนั้น ได้มีการจัดทำสัญญาข้อตกลงในการว่าจ้าง (TOR) เอาไว้แล้ว และมีความพร้อมที่จะปล่อยเงินงบประมาณส่วนนี้ออกมา โดยเมื่อรวมเม็ดเงินของงบประมาณทั้ง 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกันแล้วจะมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 63 ส่วนงบลงทุนที่ยังเหลืออีก 2.4 แสนล้านบาทนั้น ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการจัดทำราว 45-50 วัน และคาดว่าการเบิกจ่ายงบฯ ในส่วนนี้จะสามารถดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปีนี้ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้ตั้งเป้าการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในเดือน มี.ค. 63 ไว้อีก 1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบจากงบลงทุนรวมของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 63 ที่ 3.5 แสนล้านบาท

“หากรวมงบลงทุนของรัฐบาลที่กำหนดวงเงินรวมไว้ที่ 4 แสนล้านบาทเข้ากับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 1 แสนล้านบาทแล้ว จะทำให้มีเม็ดเงินงบประมาณของรัฐบาลที่ไหลเข้าสู่ระบบรวมกัน 5 แสนล้านบาทเพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้”

ส่วนมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการไปแล้ว และเตรียมที่จะออกมาตรการใหม่เพิ่มเติมอีกครั้ง โดยเป็นผลมาจากการหารือร่วมกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึง 3 สถาบันในภาคเอกชน (กกร.) โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำให้ดูแลเรื่องเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบและผักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่การใช้มาตรการระยะสั้นยังต้องเดินควบคูกันไปกับการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ได้วางเอาไว้ เพื่อช่วยวางรากฐานของเศรษฐกิจใหม่ในระยะยาวให้กับประเทศด้วย

ด้าน นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมด้วย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และทีมผู้บริหารระดับสูงจาก บสย. ได้แก่ นางดุสิดา ทัพวงษ์ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ และนายกิตติพงษ์ บุรณศิริ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาและบริหารผลิตภัณฑ์ ร่วมประชุมหารือเพื่อออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่กำลังได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของ ไวรัส โควิด -19 โดยจะรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการ และการหารือแนวทางให้ความช่วยเหลือร่วมกัน อาทิ มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย โดยขยายระยะเวลาค้ำประกันออกไป 5 ปี และเติมทุนใหม่ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อแบบฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่อง ซึ่งขณะนี้ บสย.ได้บูรณาการความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรของรัฐในการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษมาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น