“ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวสวนยาง“ แนะศึกษา “B10” โมเดลเน้นสร้างผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ายางพารา หนุน "ธรรมนัส"ผลิตหมอนประชารัฐช่วยเกษตรกร วอนคนค้านหาข้อมูลให้ดีก่อนพูด หลังเผยราคาต้นทุนมั่วจนสหกรณ์ต้องแจงลูกค้าวุ่น
นายเกรียงไกร เทพินทร์อารักษ์ ผู้จัดการสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด และที่ปรึกษาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกยางภาคตะวันออก ว่า ขณะนี้ปัญหาราคายางพาราเป็นปัญหาของเกษตรกรทั้งประเทศ ไม่เพียงเฉพาะภาคตะวันออกเท่านั้น ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยางพารามีเกือบ 10 ล้านคน ทั้งผู้ผลิต เจ้าของโรงงาน เกษตรกรชาวสวนยาง และครอบครัว ทำให้การขับเคลื่อนจากรากหญ้าน้อยลงไปด้วย เพราะไม่มีใครออกมาใช้เงินจับจ่ายใช้สอย ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังร้านค้าร้านขายของด้วย โดยปัญหาใหญ่ๆที่พบขณะนี้ คือ เกษตรกรรายย่อยไม่มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ส่วนเจ้าของสวนรายใหญ่ก็ขาดแรงงานไม่มีคนกรีดยาง เพราะแรงงานเขาไปทำงานโรงงานได้เงินมากกว่าอีก แม้กระทั่งแรงงานต่างด้าวก็หาได้ยากมาก
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส่วนแนวทางการช่วยเหลือนั้น ประเทศไทยมีการส่งออกยางพารามากที่สุดในโลกถึง 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเราน่าจะกลายเป็นผู้กำหนดราคาเหมือนกลุ่มโอเปคที่เคยเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่การกำหนดราคายางพารากลับกลายเป็นจีนหรือสิงคโปร์ที่ไม่มียางพาราสักต้น ดังนั้นเราต้องมาวิเคราะห์ปัญหาว่าเกิดจากอะไร ปัญหาหลักๆคือการที่เกษตรกรไทยเก่งในการผลิตต้นน้ำ เราถูกสอนให้ผลิตวัตถุดิบให้ดีที่สุด แต่เราไม่เคยเรียนรู้ที่จะแปรรูปเพิ่มมูลค่า สถิติเมื่อปี 2562 มูลค่าส่งออกยางพารากว่า 3.5 แสนล้านบาท เป็นวัตถุดิบ 86% เช่น ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางอัดก้อนมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ส่วนอีก 14% เป็นสินค้าแปรรูป เช่น ล้อยางรถยนต์ ถุงมือยาง หมอน ที่นอนยางพารามูลค่า 1.7 แสนล้านบาท เช่นเดียวกัน ตรงนี้เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าเราต้องแปรรูปเพิ่มมูลค่าของยางพาราให้มากขึ้น เมื่อเราแปรรูปมากขึ้นแน่นอนว่ายางที่เป็นวัตถุดิบจะหายไปจากตลาด รับรองว่าจะเกิดแรงซื้อขึ้นมาและทำให้ราคายางดีขึ้นอย่างแน่นอน นี่คือคำตอบที่ชัดเจนในการเพิ่มมูลค่า ซึ่งประเทศมาเลเซีย เขาเริ่มทำแบบนี้มาก่อนเรา เขาซื้อวัตถุดิบจากเราและนำไปผลิตถุงมือยาง ซึ่งเขาส่งออกมากที่สุดในโลก ดังนั้นเราต้องเรียนรู้จากพวกเขาให้ได้
"วันนี้ผมทราบว่ารัฐบาลกำลังพยายามหาวิธีในการช่วยเหลือเกษตรกร และเชื่อว่ามาถูกทางแล้ว อย่างการนำน้ำมันปาล์มมาผสมน้ำมันดีเซล เป็น B10 ทำให้ราคาปาล์มดิบจากเดิม กิโลกรัมละ 2.5 บาท ขึ้นมาที่ 7 บาท หรือโครงการของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่มีแนวคิดทำหมอนยางพารา ซึ่งผมในฐานะผู้จัดการสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จำกัด ได้ทำหมอนยางพาราขายอยู่แล้วโดยเน้นการส่งออกไปยังประเทศจีนที่มีความต้องการสูงมาก ทำให้มีการผลิตหมอนปลอมจำนวนมาก โดยผมเห็นข่าวผู้ที่ออกมาต่อต้าน กลับขาดความรู้ขาดข้อมูล ซึ่งตนอยากขอร้องว่าอย่าเอาการเมืองมายุ่งเกี่ยวเลย ผมเห็นบางคนไปแคปหน้าจอจากเวปไซต์ขายของแล้วบอกว่าใบหนึ่ง 200 กว่าบาทเอง ต้นทุนหมอนเพียงแค่ใบละ 100 บาทเอง ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร เพราะเขาไม่ได้ศึกษาอะไรเลย ที่ขายตรงนั้นเป็นหมอนจริงหรือหมอนปลอม ผมขอแจ้งข้อมูลในฐานะผู้ผลิตจริง หมอนหนึ่งใบใช้น้ำยางสดถึง 5 กิโลกรัม วันนี้น้ำยางกิโลกรัมละ 40 บาท ไหนจะค่าไฟ ค่าแรง ค่าการผลิต ค่าปลอกผ้าต่างๆ แล้วคุณมาบอกว่าหมอนยางพาราต้นทุนแค่ร้อยกว่าบาทได้อย่างไร"
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ปกติการขายของสหกรณ์ตกอยู่ที่ใบละ 900 บาท การที่ร.อ.ธรรมนัสจะขายใบละ 600 บาทก็ถือว่าราคาต่ำแล้ว ตนอยากฝากถึงผู้จะให้ข่าวอะไรควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เพราะสหกรณ์ที่ผลิตหมอนถูกลูกค้าสอบถามและตำหนิเรื่องราคาซึ่งต้องอธิบายกับลูกค้ากันวุ่นวายไปหมด ทั้งนี้ตนขอสนับสนุนแนวคิดโครงการหมอนยางพาราประชารัฐของท่าน ร.อ.ธรรมนัส และเราหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการต้นแบบให้กับกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ คิดโครงการลักษณะเช่นนี้ขึ้นมาบ้าง เช่น นำหมอนรองคอยางพาราแจกนักท่องเที่ยวทุกคน นอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่สินค้าที่ผลิตโดยสหกรณ์อีกด้วย หรืออาจให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยประชาสัมพันธ์หมอน ที่นอนยางพาราไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นตลาดใหญ่ได้รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างหมอนที่ผลิตจากยางพารา 100% และหมอนยางปลอมว่ามีความแตกต่างอย่างไร หากสามารถทำได้คาดว่าจะสามารถดึงยางพาราออกจากระบบได้จำนวนมหาศาล และกระจายรายได้ให้เกษตรกรทั่วประเทศ.