ดูเหมือนว่า โครงการหมอนยางประชารัฐ ไอเดียของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่เรียกเสียงฮือฮาว่า คิดได้อย่างไร จะไม่ได้แจ้งเกิดเสียแล้ว
ก่อนสิ้นปี นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงเรื่องนี้สั้นๆ ว่า ยังเป็นเพียงแนวความคิด ยังไม่มีข้อยุติใดๆ ทั้งสิ้น และยังไม่มีการเสนอเรื่องนี้มาถึงตน ตนได้พูดในที่ประชุม ครม.แล้วว่า โครงการนี้ถ้าคิดแล้วมันผิดก็ไม่ต้องทำ แล้วต้องดูว่า ราคาแพงหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ และช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราได้หรือไม่
เปิดศักราชใหม่ได้ไม่กี่วัน ร.อ.ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์สื่อว่า อยู่ระหว่างมอบหมายคณะทำงานหาแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานกับกระทรวงต่างๆ ซื้อยางพารามาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะทำราคายางพาราปรับสูงขึ้น
การให้สัมภาษณ์นี้เป็นการตอบโต้กระแสข่าวที่ว่า ร.อ.ธรรมนัส เตรียมของบกลาง 18,000 ล้านบาท จัดทำโครงการหมอนยางพาราประชารัฐ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง ตนเองไม่เคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากอยู่ระหว่างมอบหมายให้คณะทำงานศึกษาการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และใช้ประโยชน์หลายรูปแบบ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะทำโครงการใด และใช้งบประมาณเท่าไร เนื่องจากการใช้งบประมาณแผ่นดินจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้
นับเป็นท่าทีที่แตกต่างไปจากก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง จากเดิมที่มีการกำหนดวิธีการไว้อย่างชัดเจนว่า จะออกสสลากการกุศลหาเงิน 18,000 ล้านบาท ให้องค์การตลาดเพื่อการเกษตร หรือ อ.ต.ก.ผลิตหมอนยางพารา 30 ล้านใบแจกประชาชนทั่วประเทศ โดยจะเริ่มแจกตอนต้นปีใหม่
เมื่อเปลี่ยน พ.ศ.ใหม่กลายเป็นอยู่ระหว่างการศึกษาว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น
เป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่จะไม่ต้องตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ด้วยราคาที่สูงลิ่ว 18,000 ล้านบาท
ถ้าการแจกหมอนยางพารา จะทำให้ราคายางในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจริง อย่างที่ ร.อ.ธรรมนัสเคยพูดไว้ รัฐบาลก็ควรจะนำ “ธรรมนัสโมเดล” ไปใช้กับผลิตผลการเกษตรอื่นๆ เช่น ทำข้าวถุงแจกคนไทยทั่วประเทศ เพื่อยกระดับราคาข้าว ทำเงาะกระป๋อง น้ำลำไยแจกทุกครัวเรือน เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร
โครงการหมอนยางพาราประชารัฐนี้ เดิมทีจะให้ อ.ต.ก.เป็นผู้ดำเนินการ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการกำกับดูแลของ ร.อ.ธรรมนัส
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 11 ธันวาคม ร.อ.ธรรมนัส เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งน้องชายตัวเองนายอัครา พรหมเผ่า เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะตัวแทนสถาบันเกษตรกรในคณะกรรมการ อ.ต.ก.หลังจากนั้นไม่กี่วัน โครงการแจกหมอนยางก็ถูกปั้นขึ้นมา
เดิมทีงบประมาณ 18,000 ล้านบาทนี้ ถูกกำหนดไว้แล้วว่า อ.ต.ก.จะกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส.มาผลิตหมอน 30 ล้านใบ และจะชำระเงินกู้ด้วยการขออนุมัติ ครม.ให้ อ.ต.ก.ออกสลากการกุศลตั้งแต่งวดเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 หาเงินมาคืน ธ.ก.ส.
บังเอิญว่า หนึ่งในธุรกิจหลักของ ร.อ.ธรรมนัส ก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่ง รมช. คือ ยี่ปั๊วรายใหญ่กองสลาก ยิ่งมีการออกสลากกินแบ่ง สลากการกุศลมากเท่าใด ยี่ปั๊วก็จะได้รับสลากไปขายต่อมากขึ้นเท่านั้น ตามโควตาที่มีอยู่ ส่วนต่างราคาที่จะได้รับก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
โครงการหมอนยางพาราจะช่วยยกระดับราคายางพาราได้หรือไม่ ไม่รู้ แต่จะช่วยยกระดับรายได้ของยี่ปั๊วกองสลากแน่นอน
โชคดีที่ อ.ต.ก.มีผลดำเนินงานขาดทุนติดต่อกันเกิน 3 ปีทำให้กู้เงิน ธ.ก.ส.ไม่ได้ แผนการที่จะออกสลากการกุศล 18,000 ล้านบาท จึงล้มเลิกไปโดยปริยาย
ข้อจำกัดเรื่องแหล่งงบประมาณที่จะมาดำเนินโครงการหมอนยางพาราประชารัฐ น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้เดินต่อไม่ได้ แต่สาเหตุหลักน่าจะมาจากความเหมาะสมเป็นไปได้ของโครงการที่จะยกระดับราคายางพารา ดังที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวไว้ในการประชุม ครม.ว่า
โครงการนี้ถ้าคิดแล้วมันผิดก็ไม่ต้องทำ แล้วต้องดูว่า ราคาแพงหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ และช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราได้หรือไม่
โชดดีของประเทศไทย โชคดีของรัฐบาลที่จะไม่ต้องถูกเยาะเย้ย เสียดสีว่า คิดได้อย่างไร หากยอมให้เกิดโครงการแจกหมอนยางพารา 30 ล้านใบ