xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไวรัสฯแผลงฤทธิ์ เศรษฐกิจไทยวังเวง สภาพัฒน์กดจีดีพี ปี 63 ต่ำสุด 1.5%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักท่องเที่ยวจีนที่เคยคึกคักหายไปจากประเทศไทยจนบางจังหวัดแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เห็นภาพ “สนามบินดอนเมือง” ที่ “นายนิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.แล้ว ก็สัมผัสได้ถึงหายนะภัยที่กำลังมาเยือนประเทศไทยอันเป็นผลพวงมาจากการระบาดของ “เชื้อไวรัสโควิด-19” ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวหดหายและการเดินทางซบเซาอย่างน่าตกใจ

เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ “สนามบินดอนเมือง” กลับมาเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2558

ไม่เพียงแต่สนามบินดอนเมืองเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลทำให้ท่าอากาศยานหลักทั้ง 6 แห่งของไทย มีผู้โดยสารลดลง 25-30% จากเดิมวันละ 4.5-4.6 แสนคนต่อวัน เหลือประมาณ 3 แสนคนต่อวัน เนื่องจากทางการจีนสั่งระงับไม่ให้กลุ่มทัวร์จากจีนเดินทางออกนอกประเทศ และนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีกำลังซื้อสูงลดลง

อิทธิฤทธิ์ “ไวรัส covid-19” ส่งผลสะเทือนดุจพายุโหมกระหน่ำกวาดล้างพังพินาศถ้วนหน้า ล่าสุดทั้งสภาพัฒน์ แบงก์ชาติ โบรกเกอร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ปรับเป้า “จีดีพี” ปีนี้ลงกราวรูด จักรกลขับเคลื่อนทั้งภาคการผลิต ลงทุน บริการ ส่งออก ท่องเที่ยว ซวนเซ สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน คนหาเช้ากินค่ำลำบากสาหัสยิ่งกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” แน่

แถมรอบนี้ไม่มีบัพเฟอร์รองรับเพราะภาคเกษตรเจอวิกฤตซ้ำจากภัยแล้งเป็นสองเด้ง จะสุขสบายมีความมั่นคงในชีวิตหน่อยก็กลุ่มข้าราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนเป็นประจำเท่านั้น ส่วนมนุษย์ออฟฟิศที่ถูกเลย์ออฟ ตกงานตามเศรษฐกิจขาลง คิดจะไปเปิดท้าย ค้าขาย ก็เจอสภาพเงียบเหงา วังเวงยังกะป่าช้า

เอาภาพใหญ่กันก่อน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ออกมาแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ที่เรียกกันทั่วไปว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ไตรมาส 4/2562 ขยายตัวเพียง 1.6% ต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส หรือ 5 ปี ก็ว่าได้ ที่น่าสะพรึงยิ่งกว่าตามมาคือ สภาพัฒน์ คาดการณ์จีดีพี ปี 2563 นี้ จะลดต่ำลงขยายตัวแค่ 1.5-2.5% คือปีที่แล้วว่าหนัก ปีนี้สาหัสกว่า

เลขาธิการสภาพัฒน์ อธิบายความถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังถึงสาเหตุที่เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนขยายตัวต่ำมากเป็นประวัติการณ์ เป็นเพราะผลกระทบสงครามการค้า และการส่งออกที่ลดลง 4.9% ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้า ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและเงินบาทที่แข็งค่า

ส่งผลทำให้ทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.4% ลดลงจากปี 2561 ที่ขยายตัว 4.2% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง 3.2% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5% การลงทุนรวมขยายตัว 2.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.8% ของจีดีพี

ขณะที่แนวโน้มปี 2563 คาดจีดีพีไทยจะขยายตัวในกรอบ 1.5-2.5% ชะลอตัวลงจากปี 2562 ตามปัจจัยเสี่ยงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณ

ส่วนปัจจัยหนุน คือ การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวในการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชนและรัฐ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการรัฐ และการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562

สภาพัฒน์ยังฝันหวาน โดยคาดการณ์การส่งออกปี 2563 จะขยายตัว 1.4% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.5% และการลงทุนรวมจะขยายตัว 3.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.4-1.4% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.3% ของจีดีพี

แต่ก็มีเงื่อนไขปัจจัยตามที่ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า หาก GDP ไทยปี 2563 จะขยายตัวได้ในกรอบกลางที่ 2% จะอยู่ภายใต้สมมติฐาน คือ เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.2% มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำขยายตัว 2% การแพร่ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจริงๆ แล้ว “รัฐบาลก็ไม่ทราบว่าไวรัสจะสิ้นสุดเมื่อไร” แต่คาดว่าจะเข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคมและสิ้นสุดลงเดือนพฤษภาคม ทำให้ทั้งปีมีนักท่องเที่ยวรวม 37 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.73 ล้านล้านบาท

ขณะที่ปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อการผลิตของภาคเกษตรลดลงเพียง 5% และไม่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ส่วนการเบิกจ่ายงบรวมอยู่ที่ 91.2% โดยมีการเบิกจ่ายงบประจำ 98% และงบลงทุน 65%

เมื่อดูสภาพความจริงแล้ว ตามเงื่อนไขที่เศรษฐกิจจะโตได้อย่างว่านั้นก็ยากอยู่

ภาพ “สนามบินดอนเมือง” ที่ “นายนิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เผยแพร่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อสภาพัฒน์ ซึ่งเป็นเจ้าสำนักในการประเมินเศรษฐกิจภาพรวม ออกตัวมาเช่นนี้ทำเอาสะดุ้งกันเป็นทิวแถว ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ซึ่งเพิ่งตั้งเป้าหมายจีดีพีเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาว่า ในปี 2563เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.8 ก็คงต้องประเมินกันใหม่ตามกรอบเวลาการประเมินรายไตรมาส ก็คือเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ดูทรงแล้วแบงก์ชาติก็คงปรับใหญ่ไล่เลี่ยกับสภาพัฒน์

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ บอกว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลตัวเลขผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด “ขณะนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง” โดยจะทบทวนสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและประเมินตัวเลขจีดีพีใหม่อีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าจะปรับตัวเลขลดลง

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคของแบงก์ชาติ มองว่าตัวเลขจีดีพีที่สภาพัฒน์ปรับลงต่ำกว่าที่แบงก์ชาติเคยประเมินเอาไว้นั้น “สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงแรง”

ซ้ำยังประเมินว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบรุนแรงสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนจะคลี่คลายและดีขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวได้เกิน 3% ในปี 2564 หากไม่มีปัจจัยลบอื่นมารุมเร้า

บรรดาโบรกเกอร์ และศูนย์วิจัยใต้สังกัดแบงก์พาณิชย์ ต่างเรียงหน้าออกมาปรับเป้าจีดีพีลงเช่นกัน

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร ระบุ ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 1.4% จากเดิม 2.2% ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ จากก่อนหน้านี้ได้ปรับลดมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ที่ปรับจาก 2.8% เหลือ 2.2%

สาเหตุเพราะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานกว่าที่คาดการณ์ และกระทบต่อภาคท่องเที่ยวไทยรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

“...เรามองว่าในช่วง 3 เดือนนี้ นักท่องเที่ยวคงหายไปราว 50%และหลายๆ ประเทศก็เริ่มเตือนถึงการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยด้วย”

“... ยังไม่คิดว่าเศรษฐกิจจะเลวร้ายถึงขั้นถดถอย ยกเว้นแต่สถานการณ์จะกินเวลานานและลงลึกกว่าที่คาดเอาไว้ โดยจุดที่ต้องดู คือ เดือนเม.ย. หากสถานการณ์ยังไม่จบ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวได้เช่นกัน”

การปรับประมาณการครั้งนี้ บล.ภัทร ใช้สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่ประเมินว่านักท่องเที่ยวจะหายไปราว 5 ล้านคน สูญเสียรายได้ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ในขณะที่การท่องเที่ยวของไทย มีสัดส่วนต่อตัวเลขจีดีพี ราว 12% ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีผลต่อการเติบโตประมาณ 1.4%

ส่วน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB (TMB Analytics) คาดการณ์ในทำนองเดียวกัน ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวที่ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เมื่อเทียบการเติบโตไตรมาส 1 ปี 2563 กับไตรมาสก่อนหน้า คาดว่าจะติดลบ 3.3% (ปรับฤดูกาล) สาเหตุเพราะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายตัวที่ 1.6% ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีปัจจัยกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภัยแล้ง และงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า

ในกรณีการระบาดของโควิด-19 TMB Analytics ประเมินว่า จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกในไตรมาสแรก ขณะที่ผลกระทบของภัยแล้งจะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนเติบโตเพียง 3%

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 เหลือเติบโต 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงและน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาด จากปัจจัยต่างๆ ทั้งการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยที่ลดลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่อง Supply chain disruption ที่อาจส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของการส่งออกไทยด้วย

สำหรับการแพร่ระบาด จากการประเมินของ EIC ในกรณีฐาน คาดว่าสถานการณ์นี้จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือนก่อนที่จะกลับมาเป็นปกติในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งผลกระทบจะมีมากสุดในช่วงไตรมาสแรกจากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีนในการควบคุมโรคที่ส่งผลต่อการเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการผลิตและการขนส่งสินค้าของจีน

ทางด้าน Goldman Sachs ได้ออกบทวิเคราะห์ล่าสุดปรับลด GDP ไทยลงมาเหลือเพียงแค่ 2.1% เท่านั้น จากเดิมที่คาดไว้ 2.3% หลังจากที่สภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา และในปี 2019 ที่ปรับลดลง ต่ำกว่านักวิเคราะห์ทั้งในประเทศและต่างประเทศคาดไว้

บทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวลดลงจากการระบาดมากกว่าที่คาดไว้ หลังจากได้ข้อมูลจาก ททท. โดยประมาณว่านักท่องเที่ยวในปีนี้อาจถึง 5 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 13% ซึ่งจะกระทบกับจีดีพีถึง 0.5%

นอกจากนี้ ยังมองว่าผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวยังจะส่งผลต่อเนื่องต่อภาคเศรษฐกิจไทยส่วนอื่นๆ เช่น การขนส่ง โรงแรม ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร ซึ่งใช้แรงงานคิดเป็น 40% ของแรงงานทั้งหมด

ขณะที่ภัยแล้งยังส่งผลทำให้ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของปีย่ำแย่มากกว่านี้ และแม้ว่าภาคการเกษตรของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% แต่ปัญหาใหญ่คือภาคแรงงานคิดเป็น 40% กลับอยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2563 ในเบื้องต้นจะขยายตัวต่ำกว่ากรอบล่างของประมาณการที่ 2.5%-3.0% โดยยังมองความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.0% ภายใต้เงื่อนไขที่ภาครัฐสามารถนำเม็ดเงินใหม่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ราวแสนล้านบาทในระยะเวลาที่เหลือของปี โดยจะทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 อีกครั้งในวันที่ 16 มีนาคม 2563

เอาเป็นว่า ไม่ว่าสำนักไหนประเมินเศรษฐกิจปีนี้ก็ล้วนยังไม่มีข่าวดีสำหรับประเทศไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะที่ผลสะเทือนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าจะสงบลงในเวลาอันสั้น ยังมีปัจจัยลบจากงบประมาณ ปี 2563 ที่ล่าช้า ทำให้กระทรวงการคลัง ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้เร็วที่สุด ซึ่ง นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ออกมาดันสุดลิ่ม อย่างช้าสุดเดือนเมษายนนี้ก็คงเบิกจ่ายได้

ส่วนตอนนี้มีงบกลางอยู่แสนล้านสำรองจ่ายก่อนในกรณีเร่งด่วนซึ่งเอามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนได้ เช่น เยียวยาเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง แม้แต่ชิม ช้อป ใช้ เฟส 4 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศแบบเร่งด่วน ก็เบิกงบกลางได้ โดยเบิกจ่ายได้ถึงเดือนกันยายน 2563

นอกจากนั้น คลังยังเปิดช่องหากรัฐบาลต้องการเพิ่มการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ สามารถนำโครงการที่ถูกตีตกไปในงบประมาณปี 2563 หรือโครงการลงทุนในปี 2564 ที่มีความพร้อมมาลงทุนในปีนี้ได้ โดย สศค.จะให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณาความเหมาะสมในการก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อใช้ในโครงการลงทุนใหม่ของรัฐบาล ควบคู่กับการเบิกจ่ายเงินลงทุนของรัฐบาล 600,000 ล้านบาท

เศรษฐกิจจะโงหัวขึ้นได้ก็ต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ดังนั้น นายอุตตมสาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงเตรียมเทกะจาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในกลางเดือนมีนาคมนี้ กระตุ้นการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุน นั่นหมายความว่าอีกไม่นานโครงการ ชิม ช้อป ใช้ เฟส 4 มาแน่

ตัดกลับมายังภาพไมโครที่แชร์กันในโลกออนไลน์ จะเห็นสภาพความเงียบเหงาของแหล่งช้อปปิ้ง สถานที่ท่องเที่ยวในย่านที่เคยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนพลุกพล่าน ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ โดนกันหมด แม้แต่สนามบินดอนเมือง หรือสุวรรณภูมิ ที่เคยมีนักเดินทางคึกคักก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกัน

ชัดๆ จากเฟซบุ๊ก Nitinai Sirismatthakarn ของนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่ง เผยให้เห็นภาพบรรยากาศภายในอาคารผู้โดยสารในประเทศ (อาคาร 2) ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริเวณเคาน์เตอร์เช็กอินเส้นทางในประเทศ เป็นไปด้วยความเงียบเหงา มีผู้โดยสารมาใช้บริการบางตา ถือว่าซบเซามากที่สุดนับแต่สนามบินดอนเมืองเปิดให้บริการในปลายปี 2558

เป็นที่มาของมติที่ประชุมบอร์ด ทอท. อนุมัติมาตรการบรรเทาผลกระทบแก่ผู้ประกอบการในสนามบินทั้ง 6 แห่ง ของ ทอท. คือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และแม่ฟ้าหลวง-เชียงราย โดยปรับลดค่าตอบแทนกิจการเชิงพาณิชย์ภายในสนามบินลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 - มีนาคม 2565 เช่น ปรับค่าตอบแทนสำหรับสัญญาที่มีผลตอบแทนคงที่รายเดือนลดลงประมาณ 20% ในปีแรก ส่วนปีถัดไปจะทบทวนอีกครั้ง และยังเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนออกไปแก่ผู้ประกอบการทั้ง 6 สนามบิน เป็นเวลา 6 เดือน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการดังกล่าว จะทำให้รายได้ของ ทอท. ในปี 63 ลดลง 5% เมื่อเทียบกับรายได้จากการดำเนินงานในปีงบประมาณ 62 คิดเป็นวงเงินที่ลดลงประมาณ 3,249 ล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวมรายได้จากค่าธรรมเนียมสนามบิน (PSC) ที่ลดลงตามจำนวนผู้โดยสารด้วย.

สภาพเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ที่ไทยเท่านั้น แต่เป็นกันทั่วโลก กระทั่ง Moody's ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกประจำปี 2020 ลง ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจ G-20 จะโตเพียงแค่ 2.4% ขณะที่คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีน ลดลงมาอยู่ที่ 5.2%

อย่างไรก็ตาม ในมุมของไอเอ็มเอฟ เชื่อว่ายังมีความหวังฟื้นตัวเร็ว โดยช่วงต้นมีนาคมที่โรงงานต่างๆ ของจีนกลับมาเปิดทำการจะทำให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการปรับตัวของเศรษฐกิจจีนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะปรับตัวเป็นรูป V คือทรุดตัวเร็วจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 1แต่จะดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น

มรสุมเศรษฐกิจรอบนี้ทั้งไทยและทั้งโลกหนักหนาสาหัสจริง และยังไม่รู้ว่าจะโงหัวขึ้นได้ไวอย่างที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น