วันที่บทความชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินหัวหน้าพรรค 191 ล้าน ว่าเข้าข่ายการกระทำผิดหรือไม่ ถ้าผิดจะมีถึงขั้นไหนยุบพรรคหรือไม่ หรือแค่ตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร ซึ่งต้องรอดูว่าศาลจะหยิบเอามาตราไหนมาใช้
ถามว่าเห็นช่องทางที่ศาลจะยกคำร้องไหม ในส่วนตัวผมยังมองไม่เห็นนะครับ ผมคิดว่า พรรคการเมืองกู้เงินได้ น่าจะเข้าหัวข้อว่า เป็นประโยชน์อื่นใด ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องวงเงิน นี่เป็นเหตุผลว่าพรรคอื่นที่กู้ทำไมไม่มีความผิด ก็เพราะวงเงินเขาไม่เกินข้อกำหนดของกฎหมายนั่นเอง
การจำกัดวงเงินมีเหตุผลสำคัญคือ ป้องกันใครมาครอบงำพรรคการเมือง แล้วกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะควบคุมที่มาของรายได้ และรายจ่ายของพรรคในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แม้จะอ้างว่า เงินที่ยืมมาไม่ใช่รายได้แต่เป็นรายจ่ายเพราะเป็นหนี้ที่กู้ยืมมา แต่ถามว่า เงินที่ยืมมาก็นำไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใช่ไหม คำตอบแน่ๆ ก็คือ ใช่ เท่ากับว่าเงินที่ใช้ไปเราก็ไปลงใช้จ่าย ถามว่าแล้วมันคือรายจ่ายของรายจ่ายหรืออย่างไร
เงินที่กู้มาเป็นรายจ่าย แต่เมื่อนำไปใช้ในกิจกรรมพรรคการเมืองก็ต้องถือเป็นทุนที่นำไปใช้จ่ายในการทำกิจกรรมหรือไม่
ในขณะที่เรื่องของอนาคตใหม่กำลังจะรู้ผลในบ่ายวันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีเรื่องที่คล้ายกันมากอีกซีกโลกคือ เรื่องของแมนเชสเตอร์ ซิตี้
เรื่องของอนาคตใหม่นั้นเป็นที่รู้กันว่ามีการยืมเงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค 191 ล้าน ดอกเบี้ยต่ำ และไม่มีหลักประกัน ถ้าไม่มีเงินจำนวนนี้มา พรรคก็ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ลำบาก แต่จะให้หัวหน้าพรรคบริจาคเงินเข้ามาหรือหารายได้เข้ามาก็มีข้อจำกัดในทางกฎหมาย เพราะธนาธรนั้นบริจาคให้พรรคเกินวงเงินแล้ว ก็เลยเลี่ยงไปใช้วิธีกู้เงิน โดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายห้ามไว้
แต่กฎหมายกำหนดที่มาของรายได้เขาไว้ว่ามีที่มาได้อย่างไร จำกัดการระดมทุน แต่ฝั่งนี้ก็โต้แย้งว่า หนี้ไม่ใช่รายได้จึงไม่เข้าข่ายข้อห้ามตามกฎหมาย เพียงแต่ กกต.มองว่า หนี้นั้นเป็นประโยชน์อื่นใดในมาตรา 62 ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ ดังนั้นจึงเกินวงเงินที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 66 จึงมองว่า เงินนี้เป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72
ถ้าศาลบอกว่าผิดตามมาตรา 66 และมาตรา 72 ก็ไม่มีบทกำหนดโทษให้ยุบพรรค จะตัดสิทธิ์แค่กรรมการบริหารและมีโทษจำคุก แต่ยังมีมาตราคือ 91 ที่ให้ยุบพรรคได้ซึ่งผมยังมองว่ายากที่จะไปถึงขั้นนั้น
ทีนี้เหมือนและคล้ายกันอย่างไรกับกรณีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ถูกตัดสิทธิ์ห้ามเล่นบอลยุโรป 2 ฤดูกาล และอาจถึงขั้นถูกตัดแต้มริบแชมป์พรีเมียร์ลีก
เรื่องของเรื่องคือว่า หลังจากบรรดาเศรษฐีมากว้านซื้อทีมฟุตบอลในยุโรป ยูฟ่ามองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำนั้นอาจทำให้เกิดการผูกขาดแชมป์อยู่เฉพาะสโมสรที่เจ้าของร่ำรวยมีเงินกวาดซื้อนักเตะจึงออกกฎใหม่ขึ้นมาชื่อ Financial Fair Play (FFP) ก็เหมือนกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดที่มาของพรรคการเมือง และควบคุมตั้งรายได้และรายจ่ายนั่นแหละ
มาตรการ FFP วางกฎสโมสรต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินทุกอย่างให้ยูฟ่ารู้ และเงินซื้อนักเตะต้องมาจากกำไรของสโมสรที่ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เงินที่ควักจากกระเป๋าของนายทุน เงินที่มาของสโมสร เช่น บัตรเข้าชม ค่าสปอนเซอร์ ค่าถ่ายทอดสด ค่าของที่ระลึก และเงินที่ได้จากการขายนักเตะ รายได้ทั้งหมดนี้เท่านั้นที่เป็นเงินที่เอาไปซื้อนักเตะ
เมื่อมีข้อจำกัดนี้ทางออกของสโมสรส่วนใหญ่ก็คือ พยายามหาสปอนเซอร์ให้มากขึ้นทั้งสปอนเซอร์หลักและสปอนเซอร์ท้องถิ่นเพื่อหาเงินเข้าสโมสร แต่ถ้ามองแล้วจะเห็นว่า สโมสรใหญ่ๆ ก็มีโอกาสหาเงินจากส่วนนี้ได้มากกว่าสโมสรเล็กๆ อยู่ดี เช่นเดียวกับพรรคการเมืองใหญ่ก็ย่อมมีนายทุนเข้ามาบริจาคเงินสนับสนุนตามที่กฎหมายกำหนดให้มากกว่า
หลายสโมสรที่ไม่ได้มีแฟนทั่วโลกหนาแน่นจึงต้องหาทางหลีกเลี่ยงเพื่อหาเงินมาใช้ซื้อนักเตะ โดยเฉพาะที่เจ้าของร่ำรวยก็คือ การย้ายเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา
เจ้าของสโมสรแมนฯ ซิตี้อย่างชีค มันซูร์ มีเงินถุงเงินถังจากบ่อน้ำมันยิ่งกว่าธนาธรก็หาวิธีผ่องเงินอย่างที่ว่าไปให้สโมสรซื้อนักเตะ เขาก็ให้เอติฮัด แอร์เวย์ส สายการบินแห่งชาติซึ่งเป็นของพี่ชายตัวเองคือ ชีค ฮาเหม็ด บิน ซาเย็ด เป็นสปอนเซอร์ให้แมนฯ ซิตี้
เอติฮัด เป็นสปอนเซอร์ของแมนฯ ซิตี้ ในระยะเวลา 10 ปี ด้วยจำนวนเงิน 400 ล้านปอนด์ จากซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์ สเตเดี้ยม เปลี่ยนชื่อเป็นเอติฮัด สเตเดี้ยม แต่เงินมาจากไหนอีกเรื่องหนึ่ง
ต่อมามีแอกเกอร์ชาวโปรตุเกสชื่อ รุย ปินโต แฮ็กข้อมูลเอกสารสำคัญจากทีมฟุตบอลชั้นนำทั่วยุโรป และก่อตั้งเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมาชื่อ Football Leaks แล้วเอาข้อมูลลับๆ ของแต่ละสโมสรมาเปิดเผย รวมไปถึงขู่แบล็กเมล์จากสโมสรนั้นๆ สโมสรต่างๆ จึงแจ้งความให้ตำรวจสากลจับตัวและมือแฮกเกอร์ก็ถูกจับในที่สุด
แต่ร่องรอยที่รุย ปินโต ทำไว้ ไปเข้าทางแดร์ สปีเกล นักข่าวสืบสวนสอบสวนชาวเยอรมัน สปีเกล ค้นพบเอกสาร 2 ชิ้นสำคัญ ที่ปินโตแฮ็กจากอีเมลของแมนฯ ซิตี้
ชิ้นแรกเป็นอีเมลของไซม่อน เพียร์ซ บอร์ดบริหารของแมนฯ ซิตี้ คุยกับผู้บริหาร Aabar บริษัทลงทุนของยูเออี โดยระบุว่า Aabar จะเป็นสปอนเซอร์ให้แมนฯ ซิตี้ ปีละ 15 ล้านปอนด์ แต่ในรายละเอียดการจ่ายเงินจริง Aabar จะจ่ายแค่ 3 ล้านปอนด์ ส่วนอีก 12 ล้านปอนด์ที่เหลือ ชีค มันซูร์เจ้าของทีมจะจัดสรรมาให้เอง
จากนั้นพบอีเมลฉบับที่ 2 ว่า “เอติฮัด แอร์เวย์ส” จะเป็นสปอนเซอร์ให้เราปีละ 67.5 ล้านปอนด์ แต่บันทึกไว้ด้วยว่า 8 ล้านปอนด์จะเป็นเงินของเอติฮัด แอร์เวย์สจริงๆ ส่วนอีก 59.5 ล้านปอนด์ จะเป็นเงินของอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป ที่เจ้าของคือชีค มันซูร์ เจ้าของทีมแมนฯ ซิตี้นั่นเอง
เอกสารมีลายเซ็นครบทุกอย่าง ชัดเจนว่าเป็นการโยกเงินจากกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้แมนฯ ซิตี้จะเติบใหญ่อย่างก้าวกระโดดในเวลาไม่กี่ปีไม่ได้เพราะไม่มีเงินซื้อนักเตะดีๆ ด้วยราคาแพง
ยูฟ่าเริ่มกระบวนการสอบสวนเรื่องนี้ในเดือนมีนาคม 2019 โดยองค์กรที่ชื่อว่า CFCB (The Club Financial Control Body) แมนฯ ซิตี้ ยื่นเรื่องไปที่ศาลกีฬาโลก กระทั่ง 14 กุมภาพันธ์ ยูฟ่าจึงประกาศบทลงโทษออกมาอย่างเป็นทางการว่า ได้พิจารณาหลักฐานทั้งหมดแล้วพบว่าระหว่างปี 2012 ถึง 2016 แมนฯ ซิตี้จงใจฝ่าฝืนกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ของยูฟ่า ด้วยการแสดงผลกำไรเกินจริงในบัญชีของสโมสร จึงถูกห้ามเข้าแข่งฟุตบอลยุโรป 2 ฤดูกาล รวมถึงรอลุ้นกันว่า จะถูกตัดแต้มในพรีเมียร์ลีกระหว่างปีนั้นหรือไม่ ถ้าถูกตัดสิทธิ์แชมป์พรีเมียร์ลีกในปีนั้นจะเปลี่ยนมือทันที
พรรคอนาคตใหม่ไม่มีเงินดำเนินกิจกรรม เพราะถูกควบคุมด้วยที่มาของรายได้ตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง แมนฯ ซิตี้ไม่มีเงินซื้อนักเตะเพราะมาตรการ FFP จึงต้องหาช่องเอาเงินจากกระเป๋านายทุนมาใช้
นี่คือความเหมือนของพรรคอนาคตใหม่กับแมนฯ ซิตี้ที่ต่างก็มีเจ้าของเป็นมหาเศรษฐี
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan