การแถลงตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 และคาดหมายแนวโน้มจีดีพีปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เป็นการตอกย้ำว่า เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และไม่เห็นแนวทางในการแก้วิกฤตที่กำลังคืบคลานเข้ามา
จีดีพีไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เติบโตเพียง 1.6% ซึ่งต่ำกว่าความคาดหมาย และต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส ฉุดให้จีดีพีรวมปีที่ผ่านมาโตเพียง 2.4% ต่ำกว่าประมาณการครั้งแรกที่ตั้งไว้ 4%
ส่วนแนวโน้มการเติบโตจีดีพีปีนี้ สภาพัฒน์คาดว่า จะอยู่ระหว่าง 1.5-2.5% หรือเฉลี่ย 2% ซึ่งหดตัวลงจากปีก่อน เนื่องจากจากแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา บนสมมติฐานที่ว่า สถานการณ์เชื้อไวรัสจะจบภายใน 3 เดือน รวมทั้งผลกระทบจากภัยแล้ง ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ตัวเลขจีดีพีอันน่าหดหู่ที่สภาพัฒน์แถลงเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้ และจะทำให้พนักงานนับพันคนต้องตกงาน
แม้ว่า เหตุผลการถอยทัพของ “จีเอ็ม” จะเกิดจากความพ่ายแพ้ในการแข่งขันด้านการตลาดกับค่ายรถยนต์อื่น แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก กำลังซื้อผู้บริโภคที่ถดถอย เป็นอีกปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ถอดใจ ยกธงขาวยอมแพ้ แบกรับความเสียหายกลับบ้านไป
สองปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกัน ถูกนำไปเชื่อมโยงกัน และถูกสรุปว่า เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงภาวะฟองสบู่ที่ใกล้แตก หรือวิกฤตเศรษฐกิจที่จะรุนแรงยิ่งกว่าปี 2540
ปีที่ผ่านมา ถือว่าเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักแล้ว สร้างผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า การค้าขายเงียบเหงา ภาคธุรกิจต้องดิ้นรนเพื่อประคองตัวให้รอด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาค่าครองชีพ โดยทุกคนหวังว่า สถานการณ์ปีนี้จะดีขึ้น
แต่ตัวเลขการคาดหมายจีดีพีที่สภาพัฒน์แถลง เป็นการยอมรับว่า เศรษฐกิจโดยภาพรวมปีนี้ จะถดถอยยิ่งกว่าปีก่อน ซึ่งหมายถึงประชาชนจะได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น ภาคธุรกิจที่สายป่านกำลังจะขาด คงต้องล้มหายตายจากมากขึ้น และตัวเลขการว่างงานมีแนวโน้มพุ่งขึ้น
เชื้อไวรัสมรณะ จะเป็นตัวเร่งให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ถ้าการแพร่ระบาดยังไม่จบภายในเวลา 3 เดือน หรือภายในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมนี้
ภาคธุรกิจหรือแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ เตรียมการรับมือแรงกระแทกจากภาวะเศรษฐกิจทรุดหนักตั้งแต่ปีก่อนแล้ว ขณะที่ประชาชนเตรียมตัวรับผลกระทบไว้ล่วงหน้า ส่วนนักลงทุนแทบไม่เหลือความมั่นใจกับแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุน และพยายามรักษาเงินสดไว้ในมือ
บริษัทโบรกเกอร์หลายสำนัก ทยอยปรับลดประมาณการผลกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป้าหมายดัชนีหุ้น เพราะประเมินแล้วว่า เศรษฐกิจปีนี้จะชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเกือบ 1 พันบริษัท
หุ้นที่ทรงๆ ทรุดๆ มา 2 ปีแล้ว มีแนวโน้มว่า อาจจะทรงหรือทรุดติดต่อเป็นปีที่ 3 โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งถล่มดัชนีหุ้นหัวทิ่มลง จนทำท่าจะหลุด 1,500 จุดอีกครั้ง
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ลุกลามไปสู่ธุรกิจอื่นเป็นลูกโซ่ และแม้แต่ภาคการเกษตรยังถูกฉุดไปด้วย
รัฐบาลพยายามหามาตรการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมขยายมาตรการชิม ช้อป ใช้ แนวคิดเพิ่มวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์เป็น 9 วัน ซึ่งถูกคัดค้านจนต้องล้มเลิกไป รวมทั้งมาตรการอื่นที่อยู่ระหว่างคิดค้นและเข็นออกมา แต่ไม่อาจเรียกความมั่นใจของประชาชนได้ เพราะมรสุมที่กำลังถาโถมเข้ามา ทั้งปัจจัยร้ายจากภายนอก และปัจจัยลบจากภายในมีความรุนแรง
เกินความสามารถที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรับมืออยู่ ตามความรู้สึกของประชาชนโดยทั่วไป
ทุกฝ่ายทำใจยอมรับแล้ว ปีนี้เจอหนักแน่ และไม่ใช่เศรษฐกิจประเทศไทยเท่านั้น แต่เศรษฐกิจโลกกำลังระส่ำระสายเหมือนกัน
เพียงแต่เศรษฐกิจไทยอ่อนแออยู่แล้ว ธุรกิจเอกชนเปราะบางมาหลายปี ถ้าถูกผลกระทบซ้ำเติมอีก อาจจุดชนวนวิกฤตที่ยากแก่การประเมินความรุนแรง
ความหวังที่จะเห็นรัฐบาลนำประเทศฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจริบหรี่เต็มที แต่ละคนจึงพยายามวางมาตรการรับมือผลกระทบด้วยตนเอง เพราะไม่อาจพึ่งหวังมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลได้
สัญญาณฟองสบู่แตกถูกส่งมาแล้วจากสภาพัฒน์ และตัวเลขประมาณการจีดีพีที่ดูเลวร้าย อาจไม่รุนแรงเท่ากับวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจริงในปีนี้
เศรษฐกิจแย่แน่ๆ แล้ว จะประคับประคองตัวให้รอดกันอย่างไร