xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตเศรษฐกิจเกินกำลังก๊วน 3 ลุง

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์



“ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยพบเคยเห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจจะย่ำแย่ขนาดนี้ และยังมองไม่เห็นทางออกว่าจะไปกันอย่างไร จะดีขึ้น หรือเลวร้ายกว่านี้...” นี่เป็นความเห็นของคนโดยทั่วไปซึ่งเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากเพราะปัญหาเศรษฐกิจซบเซาสาหัส

“คนโดยทั่วไป” มีทั้งคนทำธุรกิจในขนาดต่างๆ และพ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งผู้ประกอบการที่ต้องพยายามผ่องถ่ายเงินออกจากกระเป๋าคนอื่นโดยการให้บริการ ขายสินค้าในสภาวะของเศรษฐกิจตายซาก แม้แต่เครือข่ายกลุ่มธุรกิจใหญ่ก็ลำบาก

สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์หายใจไม่ทั่วท้อง หลังจากเข้มกับการปล่อยสินเชื่ออย่างมากป้องกันไม่ให้มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้เสีย ยังต้องระวังเพิ่มจากปัญหาสภาพคล่องในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ บริการ ฯลฯ

พวกที่ยังไม่เดือดร้อนมากนัก ถ้าไม่มีภาระหนี้เกินไป คือข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการบำนาญ และพนักงานองค์กรเอกชนที่มั่นคง เพราะสิ้นเดือนมีรายได้แน่นอน ต่างจากผู้ที่ทำธุรกิจซึ่งต้องให้อยู่รอด ดูแลพนักงานและครอบครัว

ถ้าองค์กรมีปัญหาสภาพคล่องรุนแรงต่อเนื่องยืดเยื้อ ผลกระทบสุดท้ายคือเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ถ้ายอมล้มละลาย มีโอกาสใหม่หลังจาก 3 ปี เจ้าหนี้ก็ได้หลักทรัพย์ชดใช้หนี้คืนบางส่วนหรือทั้งหมด แต่ในระบบทั่วไป คือการป่วยหนัก

บอกได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะส่วนหนึ่งที่ซ้ำเติมจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ก็คือเชื้อโรคร้ายที่ยังระบาดไม่หยุด และยังไม่มีวี่แววว่าจะควบคุมได้ แม้จะมีความหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายใน 2-3 เดือน

ไวรัสทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยว การบิน การบริการทุกอย่างต้องขาดรายได้มหาศาล เกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างข้ามทวีป ไม่มีใครบอกได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และโครงสร้างของปัญหา ศักยภาพในแต่ละประเทศแตกต่างกัน

ในบ้านเรามีปัญหาเรื้อรังหลากหลายมิติ ระดับรากหญ้าชนบทและป่าคอนกรีตตายซาก ส่วนหนึ่งเพราะการจัดระเบียบสังคมเมือง พ่อค้ารายย่อยขาดโอกาสทำมาหากิน รายได้ที่เคยมีหดหาย อำนาจการซื้อของผู้บริโภคก็อ่อนล้า

อย่างที่รู้ รายได้หลักของประเทศไทยคือการส่งออก การท่องเที่ยว เมื่อเศรษฐกิจโลกเผชิญปัญหาไม่คาดฝันคือสงครามการค้า การตั้งกำแพงภาษี ซ้ำเติมด้วยค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ผู้ซื้อสินค้า นักท่องเที่ยวต้องจ่ายแพง รัฐไร้ทางแก้ไข

ยิ่งการส่งออกตก และจะเลวร้ายกว่าเดิม ด้วยเหตุภาคการผลิตการค้าชะงักเพราะไวรัส การท่องเที่ยวแทบไม่เหลือ เมื่อนักท่องเที่ยวจากจีนปีละประมาณ 10 ล้านคนต้องหายไปเป็นส่วนใหญ่ รายได้จากคนกลุ่มนี้ปีละ 5 แสนล้านก็หายไปด้วย

เป็นจำนวนไม่น้อยถ้าเทียบกับรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทในแต่ละปี รัฐบาลลุงเชื่อมั่นว่าทันทีที่ได้ใช้งบประมาณปี 2563 จะมีเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบ และฝันเฟื่องว่าเศรษฐกิจในประเทศจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2

แน่นอน จากนี้ไปรัฐบาลก็คงต้องหามาตรการอัดฉีดกระตุ้น เหมือนฉีดยาโด๊ปให้ม้าป่วยหนัก จะตายมิตายแหล่ให้ลุกขึ้นวิ่งทะยาน กระโจนมุ่งสู่เป้าหมาย ช่วงก่อนไวรัสระบาด ก็อัดฉีดไปเป็นแสนล้าน ยังไม่กระดิก จะฝันหวานว่าสำเร็จได้ไง

นั่นเป็นเรื่องการเมือง ต้องพูดให้ชาวบ้านมีความหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น ก็คงจะมีชุมชนบ้องตื้นที่เชื่อโดยสนิทใจ ที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่า แม้แต่ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกของเจ้าสัวยังสุ่มเสี่ยงหนักด้วย ความหวังกับความสามารถทำให้เกิดขึ้น เป็นคนละเรื่อง

ฝีมือเป็นอย่างไรในช่วงกว่า 5 ปี ก็รู้เห็นกันอยู่ คงไม่มีปาฏิหาริย์ อภินิหาร ทางไหนมาช่วยเพราะวิกฤตเป็นทั้งเชิงโครงสร้าง และผู้บริหารบ้านเมืองความรู้ ขีดความสามารถต่ำ ซ้ำร้ายยังมีเรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับ “เงินทอน” ทุกระดับของโครงการ

ฟังคำแถลงของตัวแทนรัฐบาล แทบไม่มีอะไรที่สร้างความเชื่อมั่นได้เลย!

“รัฐบาลเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเมื่องบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากหลายปัจจัยตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ภัยแล้ง การแพร่ระบาดของไวรัส บวกกับการใช้จ่ายงบประมาณที่ล่าช้า...

“เมื่องบปี 2563 ได้ประกาศใช้แล้ว การเบิกจ่ายงบประมาณจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลจะดำเนินโครงการต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ สามารถลงนามในสัญญาต่างๆได้ จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้อย่างแน่นอน

...งานด้านการท่องเที่ยว เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสคลายตัวลงแล้ว ขอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวช่วยกันเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวจีนให้กลับมาเที่ยวประเทศไทย ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะมีการนำมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (ฟรีวีซ่า) ให้นักท่องเที่ยวจีนและอินเดียช่วงเทศกาลสงกรานต์...”

การระบาดจะจบสิ้นก่อนสงกรานต์หรือไม่ ใครจะมีจิตใจคึกคักเที่ยวในยามที่เศรษฐกิจของประเทศและของตนเองมีปัญหา การท่องเที่ยวไม่ใช้ปัญหาเดียว สภาพตายซากเป็นมาก่อนหน้านี้ ถูกกระหน่ำซ้ำด้วยไวรัสซึ่งฉุดให้เลวร้ายกว่าที่เคยเป็น

ยังมีปัญหาภัยแล้ง การทำนาได้ผลหรือไม่ คนไทยจะมีข้าวกินก่อนส่งออกหรือไม่ และจะเอาเงินที่ไหนซื้อเพราะหนี้ครัวเรือน อำนาจการซื้อแทบไม่เหลือ ภาคอสังหาริมทรัพย์จะถูกทิ้งเงินจอง เงินดาวน์หรือไม่ หนักหนาสาหัสเพียงใด

ถ้ามาตรการที่จะทำยังเป็น “ชิม ช้อป ใช้” เดิมๆ ละก้อ เตรียมลาโรงได้!
กำลังโหลดความคิดเห็น