“ส.อ.ท.” และนักวิชาการเรียกร้องรัฐบาลเร่งสร้างความน่าเชื่อถือหลังประมูลแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ-บงกชเลื่อนมาเรื่อยตั้งแต่ปี 2559 แม้ล่าสุดจะมีกำหนดลงนามกับผู้ชนะประมูล ก.พ. 62 ก็ยังเชื่อว่าจะดีเลย์ออกไปอีก ทั้งที่ 2 แหล่งใกล้สิ้นสุดอายุสัมปทานปี 65-66 หากไม่ทันก๊าซฯ 1 แหล่งหายไปกระทบทุกด้านรวมกว่า 4.5 แสนล้านบาท ทั้งค่าไฟพุ่ง 18 สตางค์ต่อหน่วย อีอีซีขาดวัตถุดิบและไฟฟ้าป้อนอีกสารพัด
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานเสวนา “บงกช เอราวัณ ล่าช้า ตัดโอกาส ลดศักยภาพ เศรษฐกิจไทย” ว่า ขณะนี้การประมูลแหล่งก๊าซฯ เอราวัณและบงกชถือว่าล่าช้าไปมาก ภาครัฐทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือเพราะประกาศว่าจะเสร็จตั้งแต่ปี 2559 แต่ล่าสุดจะได้ผู้ชนะและลงนามในสัญญา ก.พ. 2562 ซึ่งตนก็ไม่เชื่ออีกว่าจะเสร็จทันตามที่กำหนดไว้เพราะจะมีผู้คัดค้านจนนำไปสู่การเลื่อนระยะเวลาหรือดีเลย์ออกไปอีกตามสไตล์ของรัฐจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล ดังนั้น รัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อถืออย่างเร่งด่วนเพราะหากล่าช้าไปมากกว่านี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะค่าไฟจะสูงขึ้นและอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็จะไม่เกิดขึ้นด้วย
“2 แหล่งก๊าซฯ ผลิตขณะนี้ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 50% ของการใช้ในประเทศ ขณะที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-66 เวลาไล่มาแล้ว กรณีเลวร้ายถ้าก๊าซฯ หายไปหมดเท่ากับโรงไฟฟ้าหายไป 10 โรง ต้องนำเข้าเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาซึ่งแพงกว่าราคาก๊าซฯ ในประเทศ เช่น กรณีคิดที่ 10 เหรียญต่อล้านบีทียูจะกระทบค่าไฟให้เพิ่มขึ้น 18 สตางค์ต่อหน่วยซึ่งยังไม่ได้รวมการลงทุนคลังและอื่นๆ และต้องเข้าใจว่า LNG มีเฉพาะก๊าซมีเทนที่ผลิตไฟฟ้าได้เท่านั้นแต่ไม่มีคุณสมบัติผลิตปิโตรเคมีอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีล้วนต้องใช้ปิโตรเคมีเป็นวัตถุดิบก็ไม่เกิด แถมยังไม่มีไฟฟ้าใช้อีก อีอีซีจะกลายเป็นเรื่องฝันเฟื่อง ดังนั้นเมื่อคิดเป็นผลกระทบทั้งหมดรวมถึงรายได้รัฐจะหายไปมากกว่า 4.5 แสนล้านบาทต่อปี” นายบวรกล่าว
ทั้งนี้ การขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมกว่าจะสำรวจจนถึงการผลิตจะใช้เวลา 3-5 ปี แต่ระยะเวลาสัมปทานของ 2 แหล่งจะหมดในปี 2565-66 และหากระยะเวลาไม่เป็นไปตามที่รัฐกำหนดอีกจะทำเช่นไร ซึ่งหากผู้ชนะประมูลเป็นรายเดิมสถานการณ์จะดีขึ้นแต่ก็จะถูกครหาอีกแล้วก็จะถูกต่อต้าน ส่วนตัวอยากเห็น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ชนะเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจรัฐถือหุ้นใหญ่
นายภูวดล สุนทรวิภาค ตัวแทนผู้ประกอบการด้านผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย กล่าวว่า จากราคาน้ำมันดิบที่ต่ำลงช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับรัฐไม่มีนโยบายเปิดสำรวจและผลิตรอบใหม่ส่งผลให้แท่นขุดเจาะใหม่ลดการลงทุนไป 50% ธุรกิจผลิตแท่นก็มีการปลดพนักงานไปแล้ว 2,000 คน เป็นต้น ยังไม่รวมกับโรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ที่เป็นธุรกิจต่อเนื่อง ซึ่งรัฐต้องเข้าใจว่าธุรกิจนี้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำนั้นเป็นห่วงโซ่ที่ยาวมากสำคัญไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนไทย
นายฐิติศักดิ์ บุณปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ถูกในช่วงที่ผ่านมาและการที่รัฐไม่มีนโยบายเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่ๆ ส่งผลให้ไม่มีการลงทุนกระทบโดยตรงต่อการผลิตนักศึกษาของภาควิชาวิศวกรรมปิโตรเลียมจากผลิตปีละ 20 คนขณะนี้เหลือ 10 คน ขณะเดียวกันวัตถุดิบต้นน้ำอย่างหิน ปูนซีเมนต์แนวโน้มก็จะเกิดปัญหาไม่เพียงพอเช่นกันเพราะ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่รัฐยังไม่กำหนดเขตพื้นที่เหมืองที่ชัดเจนทำให้แหล่งต่างๆ ที่ใกล้จะหมดอายุจะไม่สามารถดำเนินการผลิตต่อได้ ขณะที่คอนโดมิเนียมสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นมากมาย