ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนในสภาฯ และ ส.ส.ที่ได้รับเลือกจะแบ่งเป็นสองฝ่ายคือ
1. ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาฯ สังกัดพรรคเดียวหรือรวมกันหลายพรรคก็ได้ เพื่อออกเสียงสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองของรัฐบาลในสภาฯ เช่น ร่างกฎหมายสำหรับเป็นเครื่องมือบริหารประเทศ และออกเสียงสนับสนุนในกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือทั้งคณะ เป็นต้น
2. ฝ่ายค้าน ซึ่งมีเสียงข้างน้อยในสภาฯ สังกัดพรรคฝ่ายค้าน จะเป็นพรรคเดียวหรือหลายพรรคก็ได้ ทำหน้าที่เสนอร่างกฎหมาย และถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐบาล โดยการตั้งกระทู้ถามเป็นการท้วงติงเมื่อเห็นว่าการกระทำของรัฐบาลส่อเค้าว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยรวม พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนวทางที่ควรจะเป็น รวมไปถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือรัฐบาลทั้งคณะ เมื่อพบว่ามีการกระทำผิดชัดเจน และมีพยานหลักฐานยืนยันการกระทำผิดนั้น
ในขณะที่เขียนบทความนี้ ฝ่ายค้านซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลจำนวน 6 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีอื่นอีก 5 คน
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 24-26 ก.พ. และดูเหมือนว่าฝ่ายค้านจะมุ่งเป้าไปที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก ส่วนรัฐมนตรีนอกนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบ และประเด็นการอภิปรายพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำประชาชน เชื่อว่าคงจะหนีไม่พ้นพฤติกรรมอันเป็นปัจเจก และการบริหารประเทศด้อยประสิทธิภาพ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และในด้านสังคม ทั้งนี้อนุมานจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจี้ปล้น ชิงทรัพย์ที่เกิดขึ้นรายวัน และล้วนแล้วแต่มีเหตุมาจากความยากจน และการว่างงาน
ส่วนประเด็นที่ว่า ประชาชนจะได้อะไรจากการอภิปรายของฝ่ายค้าน และมากน้อยแค่ไหนนั้น อนุมานได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ถ้าผู้อภิปรายพูดตรงประเด็น และมีข้อมูลถูกต้องครบถ้วน ทั้งตนเองมีความรู้ มีความเข้าใจข้อมูลที่นำมาเปิดเผยแจ่มแจ้งชัดเจน ประกอบกับการพูดเป็นไปตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธที่ว่า คำพูดอันเป็นสุภาษิต 5 ประการคือ
1. เป็นความจริง 2. มีประโยชน์ 3. ถูกกาลเทศะ 4. ไม่ใช้คำพูดหยาบคาย 5. พูดโดยมีเมตตาเป็นที่ตั้ง ไม่มีความอาฆาตพยาบาทเป็นการส่วนตัว
ประชาชนก็จะได้ประโยชน์มาจากการฟัง เนื่องจากสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือก และไม่เลือกผู้แทนในครั้งต่อไป
2. ผู้อภิปรายไม่มีจุดด่างพร้อยในเรื่องที่ตนเองอภิปราย เช่น ถ้าพูดในเรื่องทุจริต ตนเองก็จะต้องไม่มีจุดด่างจุดด้อยในเรื่องเดียวกันนี้ เป็นที่ประจักษ์ในสายตาของประชาชน อันเป็นเหตุให้ผู้ถูกการอภิปรายสวนกลับ และทำลายความน่าเชื่อถือการอภิปราย ในทำนองถ่มน้ำลายรดฟ้าตกลงมารดหน้าตนเอง
ผลของการอภิปราย สามารถทำให้ผู้ถูกอภิปรายเกิดจุดด้อยทางการเมือง ส่งผลกระทบในทางลบในการเลือกตั้งครั้งต่อไปถึงขั้นปิดโอกาสในการหวนคืนสู่สภาฯ อีกครั้ง
ถ้าการอภิปรายในวันที่ 24-26 ก.พ. เป็นต้นไปตามเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น ก็จะช่วยให้ประชาชนได้รับรู้ความผิด และความถูกต้องของนักการเมือง ก็จะทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยดีขึ้นได้ทางหนึ่ง
แต่ถ้าการอภิปรายที่จะเกิดขึ้นเป็นเพียงการพูดเพื่อหาเสียงในสภาฯ ของฝ่ายค้าน โดยไม่คำนึงว่า ประเทศชาติ และประชาชนได้อะไร ก็จะเป็นการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทางอ้อม เนื่องจากว่าทำให้ประชาชนเบื่อการเมือง และไม่สนใจการเมือง จะส่งผลในทางลบต่อการเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไป
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเชื่อว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้น คงไม่ต่างไปจากอดีตที่ผ่านมา คือ ส.ส.แต่ละคนมุ่งผลทางการเมืองของตนเอง และพรรคของตนเองมากกว่าที่มองเห็นประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม ทั้งนี้อนุมานได้จากความเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมือง ทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคล และของพรรค โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ซึ่งมี ส.ส.หลายคนเคยร่วมสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งมีผู้นำตกเป็นจำเลยในคดีทุจริต คอร์รัปชัน
ดังนั้น การจะอภิปรายเกี่ยวกับรัฐบาลชุดนี้ในข้อหาเดียวกัน คงจะทำได้ยาก โดยที่ไม่ให้กระทบอดีตของตนเอง และพรรคซึ่งเคยเป็นรัฐบาล