xs
xsm
sm
md
lg

สมมุติฐานความเคียดแค้นนำไปสู่ความก้าวร้าวกับเหตุการณ์ฆ่าหมู่ยิงบ้าคลั่งที่โคราชโดยปราศจากเหตุผล

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Business Analytics and Data Science
และ M.Sc. in Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ในฐานะคนที่เคยเรียนวิชาจิตวิทยามาบ้าง สิ่งที่ผมหวาดหวั่นว่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งก็คือการฆ่าหมู่ (Mass shooting) ยิงบ้าคลั่งโดยปราศจากเหตุผลหรือความแค้นส่วนตัวใด ๆ กับประชาชนทั่วไปในที่สาธารณะ โดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเหลือเกินในประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงภาพยนตร์ และที่อื่น ๆ อีกมากที่คนมารวมกันมาก ๆ ผู้ก่อเหตุจู่ ๆ ก็ไล่ฆ่าคนยิงกราดจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายไปเป็นอันมาก เหตุที่เกิดขึ้นบ่อยในสหรัฐอเมริกานั้น ผมวิเคราะห์ว่าเป็นการเรียนรู้จากตัวแบบ (Model) โดยการเรียนรู้ด้วยการสังเกต (Observational learning) อันเป็นไปตามทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคม (Social cognitive theory) ของนักจิตวิทยาชื่อดังอัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura) ที่ทดลองโดยใช้ห้องกระจกทางเดียว (One-way mirror room) เพื่อลอบสังเกตโดยไม่ให้เด็กที่เข้ารับการทดลองรู้ตัวว่าถูกสังเกต โดยมีเด็กที่เป็นผู้ทดลอง (Experimenter) ทำหน้าที่เป็นหน้าม้าโดยเป็นตัวแบบให้เด็กที่เข้ารับการทดลองได้สังเกตเห็นพฤติกรรมต้นแบบหรือเป็นตัวแบบที่แตกต่างกัน เด็กที่เข้ารับการทดลองที่เห็นตัวแบบกอดและพูดจากับตุ๊กตาโบโบ้อย่างอ่อนโยน เมื่อปล่อยเข้าไปในห้องกระจกทางเดียวหลังจากเห็นตัวแบบก็มีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมอ่อนโยนกับตุ๊กตาโบโบ้เหมือนที่ตัวแบบได้แสดงให้ดูและตามที่ตนได้รู้ได้สังเกตมา ในขณะที่เด็กที่เข้ารับการทดลองที่ได้เห็นตัวแบบแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับตุ๊กตาโบโบ้ เช่น เตะ ตี ต่อย ตบ เมื่อเข้าไปในห้องทดลองกระจกทางเดียว โดยไม่ได้มีคำสั่งให้ทำอะไร และไม่ทราบว่ามีนักจิตวิทยาผู้ทดลองลอบสังเกตอยู่ก็จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวทำร้ายตุ๊กตาโบโบ้เช่นเดียวกับตัวแบบที่ตนได้สังเกต (โปรดดูวีดีโอได้ตามด้านล่างนี้)



เมื่อมีคนหนึ่งเริ่มทำยิงกราดฆาตกรรมหมู่ และมีสื่อมวลชนทำข่าวกันไปมากมายไปทั่วโลก แม้ว่าท้ายสุดจะจบท้ายด้วยความตายของผู้ก่อเหตุเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการถูกวิสามัญฆาตกรรมหรือไม่ก็ทำอัตวินิบาตกรรม หรือการฆ่าตัวตาย แต่ก็ยังมีคนเลียนแบบเป็นจุดจบที่คนบางคนต้องการลอกเลียนแบบและทำตาม โดยเฉพาะคนที่เป็นหมาจนตรอกกับชีวิตหรือมีความคับแค้นใจ มีรากขมขื่น และแปรเปลี่ยนเป็นความก้าวร้าว

ในฐานะของคนไทยก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในประเทศไทย และเมื่อยังไม่มีตัวแบบให้เห็นในประเทศไทย ก็คงไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ แต่หากได้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะมีตัวแบบที่จะเป็นต้นแบบให้เกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมกันต่อไปเป็นทอดๆ และคงมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดเพิ่มขึ้นมากอีกในอนาคต ซึ่งยากจะคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การกราดยิง (Active shooter) แบบนี้คาดคะเนได้ยาก และไม่อาจจะคาดได้ว่าใครจะตกเป็นเหยื่อ เพราะเป็นไปอย่างสุ่มหรือตามอำเภอใจและเป็นภัย/อันตรายต่อสวัสดิภาพทางสังคมเป็นอย่างยิ่ง

เหตุใดคนจึงเลียนแบบพฤติกรรมการยิงกราดฆ่าหมู่อย่างบ้าคลั่งโดยปราศจากเหตุผล? คำถามนี้พอจะมีคำตอบจากทฤษฎีทางจิตวิทยาชื่อดังที่ชื่อว่า สมมุติฐานความเคียดแค้นนำไปสู่ความก้าวร้าว (Frustration-aggression hypothesis) ซึ่งนำเสนอโดยมิลเลอร์และคณะ ในปี 1941 ในวารสาร Psychological Review ฉบับที่ 48 (4) หน้า 337–342. โดยมีใจความว่าความคับแค้นใจจะนำไปสู่ความก้าวร้าว เมื่อมนุษย์เราคับแค้นใจจนถึงที่สุดย่อมนำไปสู่ความก้าวร้าวได้ อธิบายง่าย ๆ คือหมาจนตรอก ถูกกระทำเหยียบย่ำรังแก และเมื่อไม่มีทางสู้ จนตรอกแล้ว ถึงที่สุดสัญชาตญาณในการเอาชีวิตรอดก็จะทำงาน ย่อมต้องสู้ยิบตา ชนิดที่เรียกว่าตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว แม้ชีวิตจะเสียไป ก็ไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากหนทางต่อสู้และการถูกกดขี่

คำถามคือความคับแค้นใจเกิดจากอะไรได้บ้าง ความคับแค้นใจเกิดจากหลายประการ ผมขอลองยกตัวอย่างเช่น

หนึ่ง การถูกรังแก เมื่อคนเราถูกรังแกหนักและไม่มีทางสู้ วันหนึ่งเมื่อทนไม่ไหวก็ต้องระเบิดออกมา ลุกขึ้นมาสู้ และหลายครั้งหากคับแค้นจนเกิดการระเบิดอารมณ์ สติก็อาจจะหลุดลอยและควบคุมอารมณ์ไม่ได้จนก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้สารพัดประการ

สอง ความน้อยเนื้อต่ำใจ การตกเป็นเบี้ยล่าง การตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพล ที่ไม่มีทางต่อสู้และไม่มีทางก้าวพ้นจากการตกเป็นเบี้ยล่างหรืออำนาจมืด

สาม ความอยุติธรรม เช่น การถูกคดโกง การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การถูกเลือกปฏิบัติ การวิ่งเต้นเส้นสาย ที่จะทำให้คนที่ไม่มีเส้นสาย ไม่อาจจะต่อสู้ได้เลย เป็นต้น

สี่ การถูกหยามหมิ่นน้ำใจและศักดิ์ศรี โดยเฉพาะลูกผู้ชายที่ว่าฆ่าได้หยามไม่ได้ หากมีการพูดจาถากถางดูถูกศักดิ์ศรี ไม่ให้เกียรติกันอย่างหนักก็อาจจะทำให้เกิดความคับแค้นใจได้

พฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดจากความคับแค้นใจนั้นอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ แต่ความคับแค้นใจทำให้เกิดอารมณ์ทางลบ (Negative affect) อาจจะเกิดความรู้สึกซึมเศร้า (Depression) หรืออาจจะเกิดจิตเภทหรือความผิดปกติทางจิต (Mental disorder) ถึงขั้นป่วยได้ และหากได้รับการกระตุ้น (Cue) ให้เกิดความรุนแรง เช่น เกิดการยั่วยุ เกิดการยุแยงตะแคงรั่ว มีคนมาเป่าหู ก็มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงได้ง่าย ความข่มขื่นในใจอาจจะทำให้ทำร้ายสังคมหรือกล่าวโทษสังคมก็ได้ เช่น คำพูดของคนบางคนที่บอกว่า ถ้าผมไม่มีความสุข พวกคุณทั้งประเทศไทยก็ต้องไม่มีความสุข แล้วนำไปสู่การก่อเหตุทำร้ายคนอื่นๆ ในสังคมโดยปราศจากเหตุผลและแรงจูงใจ อันเป็นผลมาจาก Trauma หรือแผลในใจอันร้าวลึกและคับแค้นหนักหนา

ในอีกด้านความคับแค้นอาจจะนำไปสู่ความก้าวร้าวที่ทำให้เกิดการทำร้ายตนเองก็ได้ เช่น การใช้มีดกรีดข้อมือทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย ดังที่เราพบเสมอว่ามีการจบชีวิตเพื่อหาทางออกให้กับตัวเองของบางคนเมื่อถูกรังแกหรือคับแค้นใจแล้วไม่มีทางสู้

นอกจากนี้ความคับแค้นใจสำหรับบางคนเมื่อไม่มีทางออกและไม่มีทางต่อสู้ ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่สิ้นหวังไม่อาจจะช่วยเหลือตนเองได้ (Learned helplessness) จะเกิดภาวะหมดอาลัยตายอยาก ไม่คิดจะสู้อะไร ยอมแพ้ หมดแรงใจทุกอย่าง ซึ่ง Martin Seligman นักจิตวิทยาชื่อดังได้ทดลองกับสุนัข โดยแบ่งกรงสุนัขออกเป็นสองฝั่ง แล้วเมื่อสุนัขอยู่ฝั่งใบก็เปิดไฟฟ้าช็อตให้ทรมาน แต่ไม่ถึงตาย สุนัขจะย้ายมาอีกฝั่งแล้วก็จะรอดจากไฟฟ้าช็อต แต่เพียงชั่วคราวก็จะเปิดไฟฟ้าช็อตใหม่ ไม่ว่าสุนัขจะไปทางไหนมันจะต้องถูกทรมานด้วยไฟฟ้าช็อต แม้ไม่ถึงตายแต่สุดท้ายมันก็จะนอนนิ่งเฉยๆ ให้ไฟฟ้าช็อตทรมานไปเรื่อยๆ ไม่กินข้าวกินปลา ซึมเศร้ามาก และตรอมใจตายในที่สุด เมื่อผ่ากระเพาะอาหารสุนัขออกมาดูก็จะพบแต่แผลในกระเพาะอาหารอันเป็นผลจากความเครียด สุภาษิตไทยที่ว่า ลูกไก่ในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด ไม่ทางต่อสู้ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่สิ้นหวังไม่อาจจะช่วยเหลือตนเองได้ เช่นนี้ หมาจนตรอกนั้นอาจจะลุกขึ้นมาสู้ นี่คือคำอธิบายว่าทำไมมนุษย์เราเมื่อคับแค้นใจมากๆ จะฆ่าตัวเองตายก็ไม่ได้ จะเป็นหมาจนตรอกลุกขึ้นมาสู้ก็ไม่ได้ จึงเกิดการตรอมใจตายได้

กรณีของจ่าสิบเอกที่ก่อเหตุที่ห้าง Terminal 21 ที่จังหวัดนครราชสีมานั้น เท่าที่ได้ตามอ่าน Facebook สเตตัสของเขา พบว่าเขามีความคับแค้นใจมากมายเหลือเกิน

เขาโพสต์ข้อความว่า ร่ำรวยจากการโกงการเอาเปรียบคนอื่น มันคิดว่าจะเอาไปใช้ ในนรกได้รึไง ซึ่งมีข้อความแสดงความคับแค้นใจจากการถูกกระทำและอาจจะไม่มีทางต่อสู้ เนื่องจากในระบบทหาร ผู้บังคับบัญชามีอำนาจมากเหลือเกิน และคำสั่งผู้บังคับบัญชาต้องทำตาม ไม่เช่นนั้นจะผิดวินัยทหารและถูกทำโทษได้ เป็นต้น ในคำพูดนี้ยังแฝงความก้าวร้าวออกมาอย่างชัดเจนว่าหมายเข่นฆ่าชีวิตเพราะความคับแค้นใน มันคิดว่าจะเอาไปใช้ในนรกได้รึไง มีสัญชาตญาณแห่งความตายและการต้องการเข่นฆ่าหมายปองล่าชีวิตอยู่อย่างชัดเจน

และเริ่มมีความก้าวร้าวแสดงออกมาว่า พวกมึงอยากลองของใช่ไหม อันเป็นการสร้างปมความแข็งแกร่งให้กับตนเองในสภาพจิตใจที่อ่อนแอ อันเป็นผลจากความคับแค้นที่ถูกรังแก

ยังไงก็หนีความตายไม่พ้นทุกคน คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าคับแค้นใจถึงถึงกับจะใช้ความตายหรือหยิบยื่นความตายให้กับผู้ที่ทำให้ตนคับแค้น ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดความก้าวร้าวกับตนเองคือ อาจจะต้องการฆ่าคนที่ทำให้ตนคับแค้นแม้ว่าตัวเองจะถึงกับต้องตาย ก็คือยอมตายเพื่อจะฆ่าคนที่ทำให้ตนเองคับแค้น อันเป็นการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับทั้งตนเองและผู้อื่น

สเตตัสเมื่อก่อเหตุแล้ว อยู่ในห้าง Terminal 21 หลังจากหน่วยอรินทราชของตำรวจกับหน่วยหนุมานของกองทัพได้เข้าไปโอบล้อมแล้ว ทำให้ระบายความรู้สึกสิ้นหวังคิดว่าตนเองไม่มีทางต่อสู้และทางรอดแล้วออกมาว่า ยอมแพ้ดีมั้ยนะ คงเกิดจากความรู้สึกเหนื่อยล้ามาก เกิดการเรียนรู้ที่สิ้นหวังไม่อาจจะช่วยเหลือตนเองได้อีกต่อไป และเริ่มรู้สึกเหมือนสุนัขที่ถูกไฟฟ้าช็อตไม่ว่าจะเดินไปทางไหนในกรง ห้างสรรพสินค้า Terminal 21 นั้นไม่ได้แตกต่างอะไรกับกรงที่ขังสุนัขตัวนั้นไว้

เหตุการณ์จบด้วยการเสียชีวิตของคนที่ทำให้เกิดความคับแค้นสองคนคือผู้บังคับบัญชาและแม่ยายของผู้บังคับบัญชา เกิดการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ราว 20 คน มีผู้บาดเจ็บราว 30 คน ทั้งหมดเป็นผลของความคับแค้นที่นำไปสู่ความก้าวร้าวหลากหลายรูปแบบ

สำหรับกองทัพไทย ควรให้ผู้บังคับบัญชาได้ผ่านการเรียนรู้จิตวิทยาและทักษะในการเป็นผู้บังคับบัญชา (Psychology and skills for supervisor) การเป็นผู้บังคับบัญชา หากใช้แต่อำนาจโดยปราศจากพรหมวิหาร 4 คือเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา จะนำไปสู่ความคับแค้นใจได้ ยิ่งระบบทหารมีวินัยทหารและมีวัฒนธรรมองค์การที่มีระยะห่างระหว่างอำนาจ (Power distance) สูงมากยิ่งทำให้เกิดเกิดความคับแค้นใจ ภาวะหมาจนตรอกได้โดยง่าย

สำหรับจิตแพทย์และทีมสาธารณสุข ผมคิดว่าผู้ก่อเหตุมีความผิดปกติทางจิตใจและเจ็บป่วยทางจิตเวช มีปรมาจารย์ด้านนิติจิตเวช (Forensic psychiatry) ได้เคยกล่าวไว้ว่า ผู้ป่วยนิติจิตเวชนั้นไม่มี มีแต่ผู้ป่วยจิตเวชธรรมดาทั่วไปที่ไม่อาจจะเข้าถึงการรักษาหรือได้รับการดูแลรักษาไม่ดีพอหรือไม่ถูกต้อง

สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้ตระหนักว่าชีวิตนั้นแสนสั้น ขอให้เราอยู่กันทำดีต่อกัน ด้วยความรักและความปรารถนาดีต่อกันไว้เถิด อย่าไปรังแกใคร อย่าไปคดโกงใคร ให้เกิดความคับแค้นอันจะนำไปสู่ความก้าวร้าวและผลเสียหายร้ายแรงต่อสังคม ตลอดจนการสูญเสียชีวิต

ขอให้เกิดเหตุครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในประเทศไทย
กำลังใจไปโคราชจงคลาดแคล้ว
ไม่ให้สูญเสียอีกแล้วสุดใจหาย
นครราชสีมาน้ำตาราย
ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายในแผ่นดิน



กำลังโหลดความคิดเห็น