กรมสุขภาพจิต เร่งติดตามคนเห็นเหตุการณ์กราดยิงโคราช ดูแลสภาพจิตใจหลังเห็นภาพรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่น่าเป็นห่วง เผยมีมาปรึกษาแล้ว 4 ราย ขอพ่อแม่ผู้ปกครองช่วยสังเกตอาการผิดปกติ เผยเหตุกราดยิงใน ตปท.เกิดจากปัญหาสุขภาพจิตน้อยมาก เคสนี้ต้องหาสาเหตุปัจจัยกระตุ้น
วันนี้ (9 ก.พ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ว่า หลังจากกรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT หรือทีมวิกฤตสุขภาพจิตเพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนเป็นการเร่งด่วนตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 8 ก.พ.จนถึงบ่ายวันที่ 9 ก.พ.พบว่า มีเด็กและเยาวชนมาเข้ารับการประเมิน 4 ราย โดยทั้ง 4 รายนี้ ได้รับการดูแลด้านจิตใจเบื้องต้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ และสามารถกลับบ้านได้ โดยจะมีการติดตามต่อเนื่องเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม คาดว่า มีเด็กและครอบครัวอีกจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ และได้เดินทางกลับบ้านไปก่อนแล้วระหว่างความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ซึ่งกรมสุขภาพจิตกำลังติดตามเพื่อประเมินเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ให้ได้ครอบคลุมมากที่สุด
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ผู้ปกครองและครอบครัวต้องติดตามอาการของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพจิต เพราะเด็กมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงน้อย รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเด็กได้ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ตกใจง่าย ฝันร้าย 2.ปัญหาด้านพัฒนาการ เช่น พัฒนาการหยุดชะงัก ฉี่รดที่นอน 3.ปัญหาด้านการเรียน เช่น สมาธิแย่ลง หนีเรียน การเรียนตก และ 4.ปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว เก็บตัว เซื่องซึม เป็นต้น นอกจากนี้ ในระยะยาวอาจเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา เช่น โรคซึมเศร้า โรค PTSD และปัญหาพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรง
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ผู้ปกครองและครอบครัวจะช่วยให้เด็กรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงได้โดย 1. ให้เด็กได้เล่าและพูดถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป กระตุ้นให้เด็กได้แบ่งปันความคิด และถามคำถามต่างๆ 2. ให้เด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัย สงบ เชื่อมต่อ และรู้สึกมีความหวัง 3. ลดการดูสื่อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น 4. เมื่อเด็กพร้อมควรกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดการผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกว่า ตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้บ้าง เช่น เป็นอาสาสมัครในการสร้างชุมชนปลอดภัย แต่ควรงดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุโดยเด็ดขาด
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตัวเลขผู้ประสบเหตุการณ์ยังไม่นิ่ง มีคนมาเรื่อยๆ กำลังแยกประเมินอยู่ภายในวันนี้จะรวบรวมข้อมูลได้ส่วนหนึ่ง ทั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยอ้อม รวมถึงครอบครัวผู้ก่อเหตุ ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ค่อนข้างมีความวุ่นวายสูง มีคนได้รับผลกระทบเยอะ แต่ดูแลเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้าก่อน หลังจากนั้นจะติดตามดูแลผู้ที่หนีรอดจากสถานการณ์ ผู้ติดอยู่ในห้าง ก่อนจะออกมาได้ภายหลัง ซึ่งคนกลุ่มนี้กระกระจายออกไปในช่วงแรกๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราเป็นห่วงจะต้องติดตามเช่นเดียวกัน เพราะพบเห็นเหตุการณ์ เห็นภาพความรุนแรงต่อหน้า แต่ยังไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม นอกจากนี้ กลุ่มเด็กเป็นอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วง เพราะทราบว่าชั้นบนของเทอร์มินอล 21 เป็นสถานที่ให้เด็กเล่นและวันเสาร์มีคนพา ลูกหลานเล่น จำนวนมากทำให้มีเด็กได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งเด็กเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถจัดการสถานการณ์ได้ ความกลัวและการจัดการสถานการณ์ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบสูง
"เชื่อว่ามีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์ ถูกทำร้ายหรือเห็นความรุนแรงข้างหน้าแต่สามารถรอดมาได้ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราวิตกกังวลว่าเขาได้รับความรุนแรงเข้าไป แต่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้องเหมาะสมโอกาสจะเกิดปัญหาในอนาคตค่อนข้างสูง ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่โคราชที่ประเมินตนเองสงสัยว่า ได้รับผลกระทบไม่ต้องรอให้เกิดอาการขอให้รีบมาพบจิตแพทย์ หากเครียดกังวลใจนอนไม่หลับ กินไม่ได้คลื่นไส้อาเจียนขอให้รีบมาพบจิตแพทย์อย่าให้มีผลกระทบรุนแรงไปมากกว่านี้" นพ.วรตม์ กล่าว
เมื่อถามถึงการประเมินแรงจูงใจในการก่อเหตุ นพ.วรตม์ กล่าวว่า หากไม่นับรวมการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีกราดยิงคนหมู่มากที่ จ.นครราชสีมา ถือว่าเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ต้องยอมรับว่าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ก่อเหตุน้อยมากเนื่องจาก Social Media ของผู้ก่อเหตุถูกปิดกั้นไปแล้ว ไม่สามารถเปิดข้อมูลเก่าได้ รู้เพียงว่าผู้ก่อเหตุชื่นชอบในการเล่นปืนและศิลปะการป้องกันตัว เป็นความรู้ผิวเผินมาก แต่ไม่รู้เกี่ยวกับครอบครัว ประวัติความเป็นมาเป็นไป การใช้ชีวิตรวมถึงลักษณะอุปนิสัย เป็นส่วนที่เราไม่รู้เลย ตรงนี้เจ้าหน้าที่ ทหารคงต้องมีการสืบต่อไป อย่างไรก็ตาม จากสถิติการก่อเหตุกราดยิงคนจำนวนมาก พบว่ามีสาเหตุ มาจากปัญหาสุขภาพจิตน้อยมาก ในต่างประเทศพบเพียง 5% เท่านั้น ตัวเลขบางประเทศในยุโรปอาจจะขึ้นไปถึง 25% แต่ผู้ก่อเหตุอีก 75 % คือคนทั่วไป ที่มีแรงจูงใจแรงกระตุ้นบางอย่าง
"ยิ่งกรณีนี้มีการวางแผนซับซ้อน มีการใช้อุปกรณ์หลากหลาย เรายิ่งต้องมองที่ปัจจัยอื่นมากกว่า ที่จะเป็นเรื่องของสุขภาพจิต และเมื่อดูจากคลิปวีดีโอ จะพบว่ามีพฤติกรรมหลายอย่าง บางครั้งมีความสุขกับการกระทำของตัวเอง และมีคลิปที่โต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ ในลักษณะที่ดูโกรธแค้น และใช้คำหยาบคาย แต่ก็บอกไม่ได้ว่าผู้ก่อเหตุรายนี้อยู่ในอารมณ์อะไรจนนำไปสู่การก่อเหตุ รุนแรงขึ้น หรือมีแรงจูงใจอะไรก็ตอบได้ยาก หากบอกว่าเป็นอารมณ์โกรธที่ต้องการทำร้ายคน 3 คน แล้วอะไรเป็นสาเหตุต่อจากนั้นที่ทำให้ ต้องมากราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และอะไรเป็นสาเหตุที่ให้ผู้ก่อเหตุต้องเตรียมอาวุธมากขนาดนั้น ตอนนี้มีคำถามเต็มไปหมดเพราะฉะนั้นยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ในการสืบหาข้อมูล โดยเฉพาะหน่วยงานทหารจะมีข้อมูลมากที่สุดเพราะเป็นหน่วยงานบังคับบัญชา เป็นที่พักอาศัย" นพ.วรตม์ กล่าว