xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตรรกะอันตรายของ “พีท คนเลือดบวก” อ้างทฤษฎี U=U เปิดคอร์สสอนเซ็กซ์สด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณี “พีท คนเลือดบวก” เปิดคอร์สสอนมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ “ถุงยางอนามัย” เก็บเงินคนละ 500 บาท โดยยกทฤษฎี “U=U (Undetectable = Untransmittable) ตรวจไม่เจอเชื้อ = ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้” ถือเป็น “ตรรกะวิบัติ” ที่อันตรายยิ่งในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเอชไอวียังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งมีการรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง

“พีท คนเลือดบวก” หรือ “นายฐิฏิวัสส์ ศิรเศรษฐกร” เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่ติดโรคจากพฤติกรรมรักร่วมเพศ รักสนุก เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ซึ่งเจ้าตัวกล่าวอ้างว่าเปลี่ยนคู่นอนมาแล้วนับพันคน รวมถึงยอมรับว่านอกจากมีเชื้อเอชไอวี ยังติดโรคทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ มาแล้วอีกด้วย

กล่าวสำหรับทฤษฎี “U=U (Undetectable = Untransmittable)” คือการที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี กินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการรักษาจนระดับของไวรัสให้ต่ำจนตรวจเชื้อไม่พบ ทั้งนี้ จะไม่แพร่เชื้อเอชไอวีทางเพศสัมพันธ์ โอกาสติดเชื้อไปยังผู้อื่นเป็นศูนย์ U=U เป็นการลดการตีตราลดความแปลกแยก ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสภาพจิตใจดีขึ้น

ในประเด็นนี้ มีบุคลากรทางแพทย์จำนวนมากออกมากำราบ รวมถึงให้ความรู้วิชาการที่ถูกต้อง ต้านแนวคิดหนุนการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ถุงยางอนามัย อันเป็นต้นเหตุของสารพัดสารพันปัญหาที่จะตามมา

ดังเช่น “นพ.ปกรัฐ หังสสูต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงเวทีกำราบมารไปออกรายการโหนกระแส ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ตอบโต้ “พีท คนเลือดบวก” ชูแนวคิดเซ็กซ์สดไม่ใส่ถุง อ้างกินยาแล้วไม่แพร่เชื้อ

โดยสาระสำคัญที่อาจารย์แพทย์ จุฬาฯ ต้องการสื่อสารคือ ไม่ว่าจะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ก็ควรใส่ถุงยางอนามัย เพราะยังมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และหากบางคนมีเชื้อดื้อยาก็ป้องกันไม่ได้

นพ.ปกรัฐ ไม่เห็นด้วยต่อการเคลื่อนไหวของนายฐิฏิวัสส์ โดยระบุว่า แม้ทฤษฎีไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (Undetectable = Untransmittable) หรือ U=U เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะยังมีโอกาสได้รับเชื้อหนองใน ซิฟิลิส โรคเริม ซึ่งไม่ว่าจะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ก็ควรใช้ถุงยางอนามัยถ้ามีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อป้องกันตนเอง และมองว่าทัศนคติเช่นนี้เป็นอันตรายมาก เป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องให้สังคม

ขณะที่ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) อธิบายเพิ่มเติมว่า หลักการของ U=U หรือ Undetectable=Untransmittable หมายถึง ไม่เจอ=ไม่ถ่ายทอดเชื้อ ซึ่งเป็นการวิจัยและศึกษาในคู่รักที่มีผลเลือดต่างกว่า 1,000 คู่จากหลายประเทศทั่วโลก แล้วผลสรุปออกมาว่าไม่มีใครติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งคนที่มีเชื้อเอชไอวีต้องตระหนักและมีความรับผิดชอบกินยาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงต้องตรวจวัดปริมาณไวรัสในเลือดเป็นประจำด้วย การป้องกันที่ดียิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพดีที่สุด ควรใช้ถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ รวมทั้งไวรัสตับอักเสบบีและซีด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 และในปี 2562 อัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคสำคัญ ได้แก่ หนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลืองสูงขึ้น ซึ่งอัตราป่วยในทุกกลุ่มอายุเท่ากับ 33.9 ต่อประชากรแสนคน โรคที่มีอัตราป่วยสูงที่สุดได้แก่ หนองใน รองลงมาได้แก่ ซิฟิลิส และกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคสำคัญสูงสุด ถึง 124.6 ต่อประชากรแสนคน

“การมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว และต้องรู้จักป้องกันอย่างถูกวิธี ทั้งการป้องกันเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ รวมถึงไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นต้น ด้วยการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นการรับผิดชอบต่อคู่รักและตัวเราเองให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยจากข้อมูลพบว่าการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีมีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึง 98% อีกทั้งเทคโนโลยีมีการพัฒนาถุงยางอนามัยขึ้นมาหลายขนาด พร้อมทั้งเพิ่มฟังก์ชันต่างๆ เช่น กลิ่น สี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคู่รักให้เลือกใช้งานได้อย่างสะดวก”นพ.อัษฎางค์ให้คำแนะนำ

ทั้งนี้ จากการตรวจพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ส่วนใหญ่เป็น “กลุ่มชายรักชาย” มักมีพฤติกรรมเสี่ยงโรคติดต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แม้สัดส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าถึงการตรวจรักษาและการได้รับยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว แต่ยังพบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกปี

ประเด็นที่น่ากังวล ข้อมูลเชิงสถิติพบวัยรุ่นจำนวนมากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแบบไม่ป้องกัน อีกทั้งอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปีสูงขึ้น

ในปี 2562 เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำนวนกว่า 77,558 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,190 คน ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 25 ปี จำนวนกว่า 628 คน คิดเป็น 52.8% รวมทั้ง มีผู้เสียชีวิตภายในปี 2562 จำนวน 1,877 คน

ทั้งนี้ การติดเชื้อเอชไอวีติดต่อผ่าน 3 ช่องทางสำคัญ 1.การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน 2.การใช้ของมีคมร่วมกัน และ 3. การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก

รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ นายกสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์เอดส์และความก้าวหน้าการรักษาภาพรวมว่า สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก นับตั้งแต่มีการระบาด 38 ปี ล่าสุด มีผู้ติดเชื้อจำนวน 77.3 ล้านคน และ 35.4 ล้านคนเสียชีวิต และปี 2560 มีจำนวน 36.9 ล้านคน ติดเชื้อและยังมีชีวิตยู่ รวมถึงมีผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ อีกจำนวน 1.8 ล้านคน

สำหรับในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อมากกว่า1 ล้านคนในเวลา 35 ปี และมีผู้ติดเชื้อประมาณ 6 แสนคนเสียชีวิต นับตั้งแต่มีการระบาด และผู้ติดเชื้อประมาณ 6 แสนคนติดเชื้อ HIV ที่ยังมีชีวิตในปี 2560

ทั้งนี้ ด้วยวิวัฒนาการการรักษาเอชไอวีเริ่มตั้งแต่ปี 2524 ไม่มียาต้านไวรัสที่ได้ผล ทำได้เพียงรักษาโรคติดเชื้อแทรกซ้อน การพยากรณ์โรคผู้ติดเชื้อ HIVก่อนยุคยาต้านไวรัส HIV ผู้ป่วยที่เริ่มมีโรคติดเชื้อแทรกซ้อน สภาพไม่ต่างกับมะเร็งระยะสุดท้าย ต่อมา ปี 2538 เริ่มมียาต้านไวรัสที่ได้ผล ผู้ป่วยกลับมามีภูมิต้านทาน ปกติ แข็งแรงทำงานได้ปกติ ผู้ติดเชื้อมีชีวิตยืนยาวได้ใกล้เคียงคนปกติ หากได้รับการวินิจฉัย การรักษาอย่างถูกต้อง และผู้ป่วยปฏิบัติตัวดี รับประทานยาครบถ้วน ตรงเวลา และไม่ไปรับเชื้อใหม่

อย่างไรก็ดี จากการคาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ Spectrum-AEM ของจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ปี 2561 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เฉลี่ยวันละ 17 คน มีผู้เสียชีวิตเนื่องมาจากเอดส์ 49 คนต่อ วัน รวมทั้ง ยังมีกลุ่มที่ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี ยังไม่ได้รับการรักษา และสามารถส่งถ่ายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2557 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามปฏิญญาเพื่อยุติปัญหาเอดส์ Fast-Track Citis 90-90-90 ในวันเอดส์โลก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้มีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่กรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีประชากรในพื้นที่ 5,676,648 คน เป็นเพศชาย 2,679,453 คน เพศหญิง 2,997,195 คน กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากกว่ากลุ่มประชากรอื่น ได้แก่

1. ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย 78,045 คน (แบ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 43,879 คน กลุ่มเสี่ยงต่ำ 34,166 คน ) 2. ชายขายบริการทางเพศ 6,404 คน 3. กลุ่มสาวประเภทสอง 32,380 คน 4. พนักงานบริการทางเพศหญิง 21,778 คน 5. ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด 3,189 คน

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีเป้าหมายจะยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 ตั้งเป้าไม่ติดเชื้อรายใหม่ ไม่เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ ทว่า การเพิ่มขึ้นของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น

ประเด็นการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย สามารถใช้ถุงยางอนามัยป้องกันได้ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่องค์กรและหน่วยงานของรัฐเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เชิงบูรณาการเพื่อป้องกันและควบคุมปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ฉะนั้น การอ้าง “U=U (Undetectable = Untransmittable)” ไม่ใช่แค่กินยาป้องกันแล้วจบ หรือเป็นช่องทางให้กลับมาใช้ชีวิตสำส่อน จนติดโรคอื่นๆ ซ้ำซ้อน สิ่งที่ควรทำคือลดพฤติกรรมเสี่ยง และการหนุนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันเป็นรูปแบบความคิดผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว เพราะความสนุกชั่วคราวอาจทำลายไปทั้งชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น