ปิดฉากสัปดาห์นี้...เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้มันพอคลายๆ ลงไปมั่ง ก็คงต้องขออนุญาตไปว่ากันเรื่องอื่น ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง “ไวรัส” หรือ “ไวรัล” ไม่ว่าที่อู่ฮั่น หรือในบ้านเรา ซึ่งเป็นอะไรที่ออกจะก่อให้เกิดอาการปวดหัว เวียนเฮด ซะเหลือเกิน เผลอๆ อาจถึงขั้นต้องไอ ต้องจาม ต้องมีไข้ หรือต้องเหนื่อยและหอบกันจนได้ ถ้ายังมัวเกาะติด ติดตาม บรรดาข่าวจริงและข่าวปลอม ซึ่งแทบแยกแยะกันไม่ออก ว่าข่าวไหนเป็นข่าวไหน...
เผอิญเหลือบไปเห็นข่าวต่างประเทศอยู่ชิ้นหนึ่ง...ที่น่าคิด น่าสะกิดใจ เอามากๆ จากเว็บไซต์ของผู้คนในแวดวงวิทยาศาสตร์ ที่เรียกกันว่า “EurekAlert” ซึ่งได้นำเอาเรื่องราวบทสำรวจวิจัยชิ้นล่าสุด ของสถาบันวิจัยเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หรือ “University of Cambridge’s new center for Future of Democracy” ที่ว่ากันว่า...กำลังจะตีพิมพ์ เผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน ในช่วงวันที่ 29 มกราคมนี้ มาสรุปเอาไว้คร่าวๆ ถึง “ความไม่พึงพอใจต่อระบอบประชาธิปไตย” ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นๆ กันในระดับทั่วทั้งโลกไปแล้วก็ว่าได้...
โดยการศึกษาและวิจัยที่ว่านี้...คงไม่ได้ทำกันเล่นๆ หรือทำแบบสุกเอา-เผากิน หรือไม่ได้ออกไปในแนวแบบกรุงเทพโพลล์ สวนดุสิตโพล หรือซูเปอร์โพล ฯลฯ อย่างบ้านเรากันสักเท่าไหร่นัก เพราะเป็นกระบวนการสำรวจวิจัยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 โน่นเลย โดยอาศัยทีมงานวิจัยระหว่างประเทศถึง 15 สำนักด้วยกัน และจำนวนตัวอย่างผู้ถูกสุ่มสำรวจมีปริมาณปาเข้าไปถึง 4 ล้านคน ครอบคลุมขอบเขตพื้นที่ถึง 154 ประเทศ ไม่ว่าจะในยุโรป แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ไปจนถึงอเมริกาและตะวันออกกลาง ชนิดถ้วนทั่วไปด้วยกันทั้งหมด และผลที่ปรากฏจากการสำรวจวิจัยอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการที่ว่านี้ ก็ดูจะก่อให้เกิดความตกตะลึงพรึงเพริดมิใช่น้อย โดยเฉพาะต่อบรรดานักการเมือง หรือต่อบรรดาผู้ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยทั้งหลาย...
เพราะบทสำรวจจากการวิจัยและนำมาวิเคราะห์กันโดยละเอียด...พอที่จะสรุปได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” อันเคยเป็นอะไรที่ดูสูงส่ง วิเศษวิเสโส ชนิดทาก็ได้ ดมก็ได้ เป็นระบอบปกครองที่สามารถใช้ทา ใช้ดม อม หยอด สอด เสียบ ให้กับประเทศต่างๆ ในระดับทั่วทั้งโลกมาโดยตลอด แต่มาถึงทุกวันนี้...บรรดา “ปวงชน” ในประเทศต่างๆ ทั้งหลาย กลับเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อถือ หรือกระทั่งเกิด “ความไม่พึงพอใจ” ต่อการนำระบอบการปกครองชนิดนี้มาใช้ภายในประเทศตัวเอง ในแบบเพิ่มขึ้นๆ อย่างน่าตกใจมิใช่น้อย แม้แต่ในประเทศ “พัฒนาแล้ว” อย่างอังกฤษ อเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ไปยันถึงญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ฯลฯ ไม่ต่างไปจากประเทศที่ “กำลังพัฒนา” หรือ “ด้อยพัฒนา” ทั้งหลาย ที่เกิดความรู้สึกในแง่ลบต่อระบอบการปกครองชนิดนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ...
หรือจากช่วงปี ค.ศ. 1990 ที่ความไม่พอใจ ไม่เชื่อมั่น เชื่อใจ มันเคยอยู่ในระดับประมาณ 47.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ถือว่าหนักแล้ว แต่เมื่อมาถึง ณ ขณะนี้ หรือช่วงปี ค.ศ. 2020 จำนวนผู้ที่ไม่พึงพอใจต่อระบอบประชาธิปไตยภายในประเทศตัวเอง มันพุ่งขึ้นไปถึง 57.5 เปอร์เซ็นต์ หรือพูดง่ายๆ ว่า...บรรดาประชากรกว่าครึ่งโลกเข้าไปแล้ว ที่ชักไม่เชื่อมั่น เชื่อใจ หรือไม่พึงพอใจต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายในประเทศตัวเอง ยิ่งโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างอังกฤษ อเมริกา และบรรดาประเทศยุโรปทั้งหลาย ความไม่พอใจเหล่านี้นอกจากแสดงให้เห็นโดยชัดเจน ยังมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นๆ อย่างน่าตกใจเอามากๆ ในอเมริกาจากจำนวนผู้คนประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่พึงพอใจต่อประชาธิปไตยในอเมริกา แต่เมื่อมาถึงยุค “ทรัมป์บ้า” ทุกสิ่งทุกอย่างก็เลยยิ่ง “กระฉูด” หนักขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับอังกฤษ ที่ความไม่พึงพอใจต่อประชาธิปไตยในอังกฤษเริ่มส่อแววให้เห็นมาตั้งแต่ยุคที่ผู้นำอย่าง “นายโทนี แบลร์” ยอมลดตัวเป็น “สุนัขพูเดิล” ของอเมริกา ในการรุมถล่มประเทศอิรัก แต่ก็ยังไม่ถึงกับหนักหนาสาหัสมากมายสักเท่าไหร่นัก แต่มาถึงยุค “เบร็กซิต” หรือยุคนายกรัฐมนตรี “บอริส จอห์นสัน” ผู้ได้ชื่อว่า “ทรัมป์บ้าแห่งอังกฤษ” ประชาธิปไตยอังกฤษ ก็ชักกลายเป็น “ประชาธิป...ตาย” ยิ่งเข้าไปทุกที...
ในยุโรปนั้น...ว่ากันว่า เหลือแต่ประเทศที่ถูกเรียกขานกันในนาม “เกาะแห่งความสุข” อย่างสวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก เท่านั้น ที่ความรู้สึกต่อประชาธิปไตยยังคงมั่นคง แข็งแรง อาจด้วยเพราะความมั่งคั่งร่ำรวย และความค่อนข้างจะมีเสถียรภาพของประเทศ แต่บรรดาประชากรในประเทศเหล่านี้ ก็มีจำนวนเพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในโลกประชาธิปไตย ที่ผู้คนกว่าครึ่ง กว่าค่อน ไม่ได้เชื่อมั่น เชื่อใจต่อระบอบปกครองชนิดนี้ต่อไปอีกแล้ว ส่วนอะไรที่เป็นสาเหตุหรือ “เหตุปัจจัย” เท่าที่ฟังคำอรรถาธิบาย จากหัวหน้าทีมวิจัย อย่าง “ดร.Roberto Foa” แห่ง “Cambridge’s Department of Politics and International” หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “POLIS” นั้น ก็ยังไม่ถึงกับถนัดชัดเจนมากมายสักเท่าไหร่ แต่ก็พอสรุปรวมความได้ว่า น่าจะมาจากเหตุอันเนื่องมาจาก “สถาบันทางประชาธิปไตย” ในบรรดาประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย ไม่สามารถรับมือหรือประสบความล้มเหลว ในการเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ๆ หรือวิกฤตการณ์ใหม่ๆ ที่อุบัติขึ้นมาในโลกยุคใหม่ ได้อย่างเป็นจริง เป็นจัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ การเงิน ที่มันยิ่งทวีความสลับซับซ้อน ไร้กฎ ไร้ระเบียบ ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร ที่ก่อให้เกิด “ภัยคุกคาม” ทั้งภายนอก ภายใน อย่างเห็นได้ชัดเจนเข้าไปทุกที ไปจนถึงปัญหาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก อย่างไม่พรมแดน ไม่มีเส้นแบ่งใดๆ ที่จะช่วยป้องกัน หรือทุเลาเบาบางจากภาวะดังกล่าวได้เลย ฯลฯลฯ...
โลกทั้งโลกในทุกวันนี้...จึงกำลังตกอยู่ภายใต้ภาวะที่ผู้อำนวยการสถาบัน “POLIS” อย่างศาสตราจารย์ “David Runciman” ท่านถึงกับใช้คำเรียกว่า “ภาวะถดถอยทางประชาธิปไตย” (Global Democratic Recession) เอาเลยถึงขั้นนั้น โดยสรุปเอาไว้ด้วยว่า ภาวะดังกล่าวได้เริ่มต้นแสดงตัวให้เห็นอย่างชัดเจน นับแต่ปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา หรือนับตั้งแต่ช่วง “โลกาภิวัตน์” ที่ขับเคลื่อนโดย “เสรีนิยมยุคใหม่” ประสบความล้มเหลวในการรับมือกับปัญหาต่างๆ มาโดยตลอดนั่นเอง ซึ่งออกจะเป็นข้อสรุปแบบเดียวกับที่ผู้นำรัสเซีย ประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” ท่านเคย “ฟันธง” เอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่า “เสรีนิยมกำลังกลายเป็นสิ่งที่พ้นยุค พ้นสมัย ไปแล้ว” อะไรประมาณนั้น...
สำหรับประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา...ในเมื่อโลกทั้งโลกมันกำลังเป็นไปในแนวนี้ ใครที่ยังมัวเรียกร้องเพรียกหา “ประชาธิปไตย” ก็น่าคิดใหม่ ทำใหม่ ได้มั่งแล้ว หรืออย่างน้อย...ก็น่านึกๆ ไว้บ้างว่า อะไรกันแน่???...คือสิ่งที่ผู้คนกว่าครึ่งโลก ค่อนโลก ปรารถนาและต้องการ โดยไม่ว่าสิ่งนั้นจะเรียกว่าอะไรก็ตาม มันคงหนีไม่พ้นต้องมี “ความถูกต้อง-เป็นธรรม” หรือมี “ธรรมะ” เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน อย่างมิอาจปฏิเสธได้เลย...