xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทุนพลังงานคึก “สนธิรัตน์” จัดใหญ่ เปิดสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียม รุกเจรจา “เจดีเอไทย-กัมพูชา”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสนธิรัตน์ สินธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทุนพลังงานตีปีกพรึ่บพรั่บขานรับการเปิดสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมรอบล่าสุดตามที่ “น้าสน” นายสนธิรัตน์ สินธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศออกมาชัดเจน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรับลูกวางไทม์ไลน์เมษายน 2563 นี้ เปิดประมูลแน่

ไม่แค่นั้น กระทรวงพลังงาน ยุค “น้าสน” ยังต้องการสร้างประวัติศาสตร์ ผลักดันการเจรจาพัฒนา “เขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล” หรือ “เจดีเอไทย-กัมพูชา” ที่มีปิโตรเลียมมหาศาล โดยจะยึดโมเดลเจดีเอไทย-มาเลย์ ซึ่งสำเร็จลุล่วงมา 15 ปี ทำรายได้ให้ทั้งสองชาติเฉียด 2 แสนล้านเข้าไปแล้ว

“น้าสน” เดินหน้าประกาศเป็นนโยบายและแผนดำเนินงานตามทิศทางด้านพลังงาน 3 ขาในปี 2563 โดยขาที่หนึ่งคือ ด้านเศรษฐกิจฐานราก และพยุงค่าครองชีพประชาชน เช่นการเร่งผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชน ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซ ฯลฯ ขาที่สอง ความเข้มแข็งด้านพลังงาน ที่จะเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ และเร่งเจรจาเจดีเอไทย-กัมพูชา และ ขาที่สามคือ บทบาทนำในภูมิภาคโดยหวังขึ้นแท่นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคและศูนย์กลางก๊าซแอลเอ็นจี ที่จะทำให้เกิดการซื้อขายได้จริงในไตรมาส 3 ของปี 2563 นี้

ในส่วนการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรอบล่าสุดนี้ มีแพลนชัดเจนจากนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ที่ว่า กรมฯ เตรียมเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ซึ่งจะเป็นการเปิดครั้งแรกในรอบ 13 ปี นับจากปี 2550 คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวน หรือทีโออาร์ TOR ให้เอกชนเข้ามายื่นสำรวจฯ ได้ภายในเดือนเมษายน 2563 นี้ และจะใช้เวลาในการพิจารณาเห็นชอบและอนุมัติเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะลงนามกับเอกชนได้ภายในเดือนมกราคม 2564

การเปิดให้ยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งนี้ จะเน้นพื้นที่ในทะเลอ่าวไทย ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท

“.... การเปิดครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี โดยปี 2557 ครั้งสุดท้ายจะมีการเปิดให้ยื่นฯ แต่ก็ไม่สำเร็จ ครั้งนั้นกำหนดแปลงในทะเลอ่าวไทยไว้ 6 แปลง ก็ต้องมาดูใหม่ครั้งนี้ว่าจะเหลืออย่างไรก็จะสรุปแปลงได้ชัดเจนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ....” นายสราวุธ กล่าว

สำหรับแปลงบนบกครั้งนี้ที่ยังไม่สามารถนำมาเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจฯ ได้เพราะติดปัญหาระเบียบสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ยังไม่อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมสามารถขอเข้าไปใช้ประโยชน์ปฏิรูปที่ดินสำหรับกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ จึงต้องใช้เวลาในการไปเจรจากับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบนี้ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบอกว่าเป็นรอบที่ 23 แต่หากย้อนรอยดูที่มาที่ไปแล้ว เรียกว่าเป็นการปัดฝุ่น “สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21” ในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์สมัยแรก ภายใต้กระแสปฏิรูปพลังงานและการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่มีความเห็นต่างหลากหลาย

ในเวลานั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้เปิดสัมปทานฯ รอบที่ 21 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 ภายใต้ระบบสัมปทาน “ไทยแลนด์ทรีพลัส” (Thailand III Plus) ขณะที่ภาคประชาชนนำโดยเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ต้องการให้แก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมข้างต้นก่อน และขอให้นำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้แทนระบบสัมปทาน

สุดท้าย นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขณะนั้น ได้ลงนามยกเลิกการเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่มีกำหนดสิ้นสุดการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในวันที่ 16 มีนาคม 2558 ออกไปก่อน ซึ่งการเปิดให้ยื่นสิทธิสำรวจฯ รอบดังกล่าว รวม 29 แปลง ที่ถูกยกเลิกไป ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง แบ่งเป็น ภาคเหนือภาคกลาง 6 แปลง พื้นที่รวม 5,458 ตร.กม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 แปลง พื้นที่รวม 49,196 ตร.กม. และในอ่าวไทย 6 แปลง พื้นที่รวม 11,808 ตร.กม.

ในรอบล่าสุดนี้ แปลงที่เปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะเป็นเฉพาะส่วนแปลงในอ่าวไทยเพียง 6 แปลง ส่วนแปลงบนบกนั้นติดปัญหาที่เป็นที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งกฎหมาย ส.ป.ก.กำหนดให้ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น จึงไม่สามารถนำมาเปิดประมูลให้เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้

จากสถิติการเปิดสัมปทาน รอบที่ 18 เมื่อปี 2543 รอบที่ 19 เมื่อปี 2548 และรอบที่ 20 เมื่อปี 2550 มีการอนุญาตให้สัมปทานพื้นที่รวม 354,789 ตร.กม. แต่มีการสำรวจพบปิโตรเลียมที่คุ้มค่าที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์ เพียง 1,513 ตร.กม. เท่านั้น

ทั้งนี้ ปี 2562 ที่ผ่านมาไทยจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศคิดเป็น 40% ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตรวม 821,060 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มีสัมปทานปิโตรเลียมอยู่ 38 สัมปทาน 48 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29 แปลง และแปลงสำรวจบนบก 19 แปลง และสามารถส่งรายได้เข้ารัฐรวมในปี 2562 กว่า 1.6 แสนล้านบาท นับเป็นกรมฯ ที่ส่งรายได้เข้าแผ่นดินสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ

นอกจากการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศแล้ว เป้าใหญ่ที่เล็งไว้เพราะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมมหาศาลนั่นคือ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ซึ่งรอบนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โต้โผใหญ่ จึงเตรียมหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานความมั่นคงภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยยึดหลักสำคัญว่า การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนฯ นี้จะอยู่บนเงื่อนไขที่ไม่เสียอธิปไตยทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวและล่มเสียก่อนทุกครั้ง

“ข้อกังวลของท่านสนธิรัตน์คือต้องแน่ใจว่าไม่ว่าเขาหรือเราต้องไม่เสียอธิปไตย เราจึงต้องให้ความสำคัญในจุดนี้ในการคุยกัน ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนมีทั้งหมด 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร แนวทางคงจะต้องออกมาในรูปแบบเดียวกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA คือไม่ได้แบ่งเส้นเขตแดนแค่กำหนดพื้นที่ขึ้นมาร่วมกันเพื่อพัฒนาปิโตรเลียมและได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากไทยและกัมพูชาหาจุดลงตัวได้ว่าพื้นที่นี้แหละที่จะกำหนดในการพัฒนาปิโตรเลียมนำร่องไปอาจจะเหลือไม่กี่พันตารางกิโลเมตรก็ได้” นายสราวุธ กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลเรื่องอธิปไตย เป็นประเด็นอ่อนไหว ซึ่งก่อนหน้านี้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายพลังงาน เคยทักท้วงเอาไว้ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เฟสแรก ว่า รัฐบาลไทยโดยเฉพาะในยุคนี้ที่เป็นรัฐบาลมาจากทหาร จะต้องแก้ไขในสิ่งผิดที่รัฐบาลในสมัยนายทักษิณ (ชินวัตร) อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สร้างปัญหาความสุ่มเสี่ยงไว้ต่ออธิปไตยด้านดินแดนทางทะเลของประเทศ โดยขอให้ประกาศยกเลิก MOU 2544 และไม่ควรไปเจรจากับกัมพูชาเพื่อแสวงหาประโยชน์ด้านปิโตรเลียมก่อนที่จะแก้ไขเรื่องเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิอย่างไม่ถูกต้องเสียก่อน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทย-กัมพูชา มีการเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเล และบรรลุข้อตกลงโดยเซ็นเอ็มโอยูว่าด้วยการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยแบ่งพื้นที่การเจรจาออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรก พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ซึ่งไม่มีข้อขัดแย้งกันให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนที่สอง พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area - JDA) กินอาณาบริเวณ 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร

ส่วนสูตรการแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาร่วม มีการหยิบยกขึ้นมาหลายทางเลือก แต่สูตรแบ่งครึ่งๆ 50:50 ที่ไทยและมาเลเซียเคยใช้นั้นไม่เป็นธรรมเพราะสองฝ่ายรู้แล้วว่าพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรนั้นไม่ได้อยู่ตรงกลาง มีบางส่วนชิดไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า ดังนั้นจึงมีการเสนอหลักการว่า ถ้าอยู่ใกล้ฝั่งประเทศใดให้ฝั่งนั้นได้ประโยชน์มากกว่า ที่ผ่านมาจึงมีข้อเสนอสูตรแบ่งผลประโยชน์ ตั้งแต่ 60:40, 80:20 หรือแม้แต่ 90:10 แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังไม่สามารถตกลงอะไรกันได้จนบัดนี้

ดังนั้น ถือเป็นการบ้านเดิมที่ “น้าสน” ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กลับไปเวิร์กใหม่ในเวลานี้ ส่วนจะผลักดันให้การเจรจาเดินหน้าไปได้สักเพียงใด คงเป็นหนังเรื่องยาว เอาคั่นเวลาด้วยการเปิดสิทธิสำรวจฯ 6 แปลงในอ่าวไทยไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น