xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยกระอักกระอ่วน เดินหน้า-ถอยหลังไม่ได้ !!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

**ต้องบอกว่าสภาพของพรรคฝ่ายค้านในเวลานี้ ไม่ว่ามองในมุมไหนไม่ได้มีแต้มต่อเหนือฝ่ายรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย แม้จะว่าไปแล้วหากเป็นปกติโดยทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงอดีตที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายรัฐบาลที่ “มีแต่เรื่อง”แบบนี้ น้ำหนักน่าจะเทไปทางฝ่ายค้าน แต่นี่กลับกลายเป็นตรงกันข้าม ทุกอย่างดูหยุดนิ่ง หรือถดถอยลงไปเรื่อยๆ ด้วยซ้ำไป
แน่นอนว่า ในช่วงที่ใกล้ถึงเวลาในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ตามปกติทุกสายตาจะโฟกัสมาที่ฝ่ายค้าน ว่าจะยื่น“ซักฟอก”รัฐมนตรีคนไหน เรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป้าหมายหลักคือ“เบอร์ 1” คือตัวนายกรัฐมนตรี อย่างคราวนี้ก็มีการ “กาชื่อ”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาไว้มาตั้งแต่แรก รวมไปถึงรายชื่อรัฐมนตรีคนอื่นๆ อย่าง“บิ๊กเนม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ที่ถือว่าเป็น“พี่ใหญ่”ในฐานะเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล”ชุดนี้อยู่ด้วย
แต่มาถึงตอนนี้ ทุกอย่างก็ยังไม่เคลียร์ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ จะมีรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกยื่นซักฟอกจำนวนกี่คน เรื่องอะไรบ้าง จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ ซึ่งไม่ใช่มีความหมายในแบบที่ว่า“ไม่รู้เพราะเป็นความลับ”แต่อย่างไร แต่กลับมีความหมายในแบบ “ความเห็นไม่ลงรอย”กันว่า
ฝ่ายหนึ่งต้องการให้มีการอภิปรายรัฐมนตรีคนนั้น ขณะที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ถึงขั้นที่ว่ามีการข่มขู่ว่า หากอภิปรายในเรื่องที่จบสิ้นกระบวนการไปแล้วอาจถึงขั้น“เสี่ยงคุก”อีกด้วย
หากขยายความให้เข้าใจในเรื่องการถกเถียงของฝ่ายค้านก็คือ ประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กลายเป็นความไม่ลงรอยกันในกลุ่มส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ที่แยกออกมาเป็นสองแนวทาง นั่นคือ แนวทางแรกตามข้อเสนอของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิเศษเฉพาะกิจ มีหน้าที่กำกับดูแล หรือ“ติวเข้ม”ให้กับบรรดา ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ โดยเขาเห็นว่าไม่สมควรยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ“บิ๊กป้อม”เนื่องจากหากเอาเรื่อง “นาฬิกายืมเพื่อน”มาเป็นสาเหตุ ก็ถือว่าไม่สมควร เพราะเรื่องดังกล่าว ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สรุปเรื่องออกมาแล้วว่า “ไม่ผิด”ดังนั้นหากนำเรื่องแบบนี้มาอภิปราย ก็ต้อง“เสี่ยงคุก”อะไรประมาณนั้น แต่อีกฝ่ายมองว่ามีข้อมูลเรื่องอื่นมากมาย นั่นคือต้อง“หมายหัว”อภิปรายเอาไว้แน่นอน
หรือหากกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในกรณีการซื้อขายที่ดินของบิดาในย่านบางบอน เมื่อปี 2556-2557 ที่ระบุว่ามีราคาสูงเกินจริง บางฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องเก่า ที่เอาผิดยาก ประกอบกับตอนนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่ได้เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)รวมไปถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกด้วย
นอกเหนือจากนี้ ยังมีความเห็นแตกแยกกันอีกว่า สมควรที่จะมีการการอภิปรายตัวนายกรัฐมนตรี ย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงช่วงการดำรงตำแหน่งกว่า 5 เดือนล่าสุดนี้ หรือไม่ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยืนกรานว่า หากจะอภิปรายก็ทำได้แค่ช่วงการดำรงตำแหน่งในวาระปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งหากเป็นแบบนั้น ก็ต้องถือว่ามีประเด็นที่“เบาหวิว”เนื่องจากยังมองไม่เห็นการทุจริต หรือความผิดพลาดออกมาในแบบที่จะแจ้งเลย เนื่องจากเวลายังสั้นเกินไป
**อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ “ความแตกแยก”กันเองในพรรคเพื่อไทย เป็นสำคัญมากกว่า ทำให้เอกภาพในการทำงานของพรรคดังกล่าวยังไม่มีพลังที่หนักหน่วงเพียงพอ เนื่องจากรับรู้ว่ากำลังเกิดความแตกแยกอย่างหนัก ระหว่างกลุ่มของ"คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ประธานยุทธศาสตร์ของพรรค กับ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจกรรมพิเศษ และรับหน้าที่คุมเกมติวเข้มการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคในคราวนี้ ซึ่งหากสังเกตที่ผ่านมา คุณหญิงสุดารัตน์ ไม่เคยเข้าร่วมประชุมมาก่อนเลย เพิ่งจะมีครั้งหลังสุด ที่เธอปรากฏตัวและภาพถ่ายออกมาให้เห็นว่าร่วมประชุมกับร.ต.อ.เฉลิม ออกสื่อ ซึ่งในทางการเมืองก็เข้าใจได้ว่า เพื่อต้องการให้เห็นว่าทั้งองฝ่ายไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกัน
นอกเหนือจากนี้ ยังมีข่าวคราวที่ทำให้เกิดความลดทอนความน่าเชื่อถือลงไปอีกในทำนองว่ามีการเจรจา “เกี้ยเซียะ”กันกับแกนนำพรรคเพื่อไทย เพื่อล็อบบี้ไม่ให้ซักฟอก“บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อีกด้วย โดยอ้างแหล่งข่าวในเรื่อง “ดีลงูเห่า”เพื่อร่วมรัฐบาลในคราวหน้า ซึ่งแน่นอนว่า จริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่ข่าวนี้ย่อมทำให้ลดทอนพลังของพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคเพื่อไทยลงไปอักโขทีเดียว
ดังนั้น แม้ว่าตามตารางเวลาที่วางเอาไว้ว่าอีกไม่กี่วันจะต้องยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล แต่จนถึงวันนี้ บรรยากาศก็ยังไม่ได้เร้าได้ที่เหมือนกับที่ควรจะเป็น ตรงกันข้ามกลับมีแต่ข่าวในทางลบ ทางลุ้น ข่าวความขัดแย้งในพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย ที่ข่าวสองขั้วหลักไม่ลงรอยกัน รวมไปถึงพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องลุ้นอยู่กับคดียุบพรรคในอีกคดี มันก็ย่อมทำให้เกิดอาการกระอักกระอ่วน แบบเดินหน้า ถอยหลังก็ไม่ได้ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น