ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ใช่รายแรกและไม่ใช่รายสุดท้ายสำหรับปัญหา “เด็กถูกทิ้ง” เหตุการณ์สะเทือนความรู้สึกสังคมไทย โดยเฉพาะกรณีแม่นำลูกสาววัย 2 ขวบ ไปทิ้งไว้หน้าสถานสงเคราะห์เด็กใน จ.ลพบุรี จนเกิดกระแสวิพากษ์อย่างหนัก
ทั้งนี้ ในขณะที่ภาครัฐเร่งคลอดนโยบายส่งเสริมการ “มีลูกเพื่อชาติ” เพิ่มจำนวนการเกิดของเด็กไทย เร่งสร้างประชากรวัยแรงงานทดแทน เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ในปี 2564” แต่ความเป็นจริงอีกด้านนั้น สังคมไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ “แม่วัยใส-ท้องไม่พร้อม” ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามมาต่อเนื่อง
อีกทั้งนโยบายช่วยเหลือเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด สำหรับเด็กวัยทารกแรกเกิด - 6 ขวบ จำนวน 600 บาทต่อเดือน รวมถึง เงินสงเคราะห์สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดูจะไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ ปัญหาความยากจนและความรุนแรงในครอบครัว ความไม่พร้อมในการเลี้ยงดูเด็ก ทำให้สถานการณ์เด็กถูกทิ้งยังคงทวีความรุนแรงในสังคมไทย
ข้อมูลจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่ามีเด็กทารกวัยแรกเกิด - 6 ขวบ ถูกทอดทิ้งตามสถานที่ต่างๆ มีอัตราสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยจำนวนกว่า 100 คนต่อปี
ส่วนสถานที่ทิ้งเด็กทารกยอดนิยม คือ โรงพยาบาล บ้านผู้รับจ้างเลี้ยง สถานที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ ถังขยะ พงหญ้า ฯลฯ สถานสงเคราะห์เด็กของรัฐบาล รวมทั้ง บริเวณหน้าบ้านคนรวยมีฐานะดี ซึ่งเป็นพฤติกรรมเลียนแบบละคร เพราะคิดไปเองว่าเด็กจะได้รับการดูแลจากเศรษฐีใจบุญ เป็นต้น
สาเหตุหลักๆ การทอดทิ้งเด็กจากปัญหาการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น ปัญหาการหย่าร้าง ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาความยากจน และความพิการ
กล่าวสำหรับ เมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา กรณีหญิงรายหนึ่งนำลูกสาวอายุประมาณ 2 ขวบ ไปทิ้งไว้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดลพบุรี พร้อมกับจดหมายเผยความในใจขอให้รัฐดูแลถาวร เนื่องจากตนไม่สามารถดูแลได้ โดยอ้างความยากจน
กระทั่ง มีการติดตามตัวให้ผู้เป็นแม่ให้ดำเนินการตามระบบระเบียบ “เซ็นชื่อยินยอม” เพื่อยกเด็กให้กับสถานสงเคราะห์ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทย
อย่างไรก็ดี เด็กหญิง 2 ขวบ ได้เข้าสู่กระบวนการดูแลของรัฐแล้ว เริ่มตั้งแต่นักสังคมสงเคราะห์ของบ้านเด็กและครอบครัวจังหวัดลพบุรี ได้พาเด็กหญิงดังกล่าวเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งได้พาเด็กไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนารายณ์ เนื่องจากพบร่องรอยฟกช้ำ มีแผลตามร่างกาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทุบตีทำร้ายร่างกายจากผู้เป็นแม่ แต่ในส่วนสภาพจิตใจของเด็กหญิงปกติดี พัฒนาการการเติบโตสมวัย
ทั้งนี้ ตามกระบวนจะมีสืบเสาะตามหาพ่อแม่ หรือญาติ หากไม่พบ หรือ หากพบและไม่พร้อมดูแล ดังเช่นกรณี เด็กหญิง 2 ขวบ ซึ่งพ่อและแม่เด็กยืนยันและยินยอมยกลูกให้รัฐดูแล เด็กจะเข้าสู่กระบวนการดูแลในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนดูแลต่อไป รวมถึง โครงการการรับบุตรบุญธรรม ซึ่งจะไม่สามารถเลือกระบุตัวเด็กได้โดยเด็ดขาด มีกฎเกณฑ์การจัดลำดับและเงื่อนไขต่างๆ
ต้องยอมรับว่า ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย เป็นข่าวครึกโครมให้สะเทือนใจกันอยู่บ่อยครั้ง และมีเด็กจำนวนมากเสียชีวิต แม้ในทางกฎหมายมีบทลงโทษระบุชัดเจน แต่มิอาจยับยั้งการกระทำผิดของผู้เป็นพ่อแม่ได้
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ มาตรา 25 และมาตรา 26 พ่อแม่ที่ทิ้งเด็ก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 306 และ 307 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บสาหัส ต้องระวางโทษฐานฆ่าคนตาย หรือทำให้บาดเจ็บสาหัส มาตรา 290 ,297 ,และ 298
อย่างไรก็ตาม หากผู้เป็นพ่อแม่กลับใจมารับเด็ก เจ้าหน้าที่มักไม่ดำเนินคดีเอาผิดใดๆ เพียงตักเตือนและลงบันทึกไว้ เพราะเหตุผลในการทอดทิ้งส่วนใหญ่มาจากความยากจนข้นแค้น
“อย่าทิ้งลูก…ท่านใดที่คิดว่าไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ โปรดอย่าทอดทิ้ง เพราะไม่มีอะไรทดแทนพ่อและแม่ได้” นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว พร้อมบอกด้วยว่า หากมีปัญหาสามารถมาขอความช่วยเหลือผ่าน สายด่วน 1300 ได้
บทความเรื่อง “เรื่องของเด็กถูกทิ้ง” โดย ดร.แพง ชินพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ mgronline.com เปิดเผยถึง ปัญหาเด็กถูกทิ้งที่มีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเด็กไทยที่ถูกทอดทิ้งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เด็กถูกทอดทิ้ง ความว่า
1. การตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่เป็นเด็กวัยรุ่นไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูเด็กได้จึงเลือกที่จะทิ้งลูกไว้หลังคลอดที่โรงพยาบาล หรือในกรณีที่เป็นผู้หญิงถูกข่มขืน ไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูเด็กได้ เนื่องจากเกิดความอับอายคนในสังคมหรือในกรณีที่แม่ของเด็กมีอาชีพเป็นโสเภณีจึงคิดว่าเด็กที่เกิดมาเป็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถค้าประเวณีได้จึงเลือกที่จะทอดทิ้งเด็ก
2. ขาดความรู้และความเข้าใจ ในปัจจุบันพบว่าสาเหตุของการทิ้งเด็กทารกนั้นมักจะเกิดจากแม่ที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการคุมกำเนิด ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับพ่อแม่ที่อยู่ในวัยเรียนที่ใช้สารเสพติดการดื่มสุรามึนเมาซึ่งนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยขาดการป้องกัน จนทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยที่ไม่มีความพร้อม เมื่อมีลูกแล้วไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูลูกได้จึงได้นำเด็กทารกนั้นไปทิ้งไว้ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ นั่นเอง
3. ปัญหาครอบครัว มักจะพบว่าปัญหาของการทิ้งเด็กนั้นมักจะเกิดขึ้นกับครอบครัวที่ขาดการศึกษาและมีฐานะยากจนเกินกว่าที่จะมีกำลังดูแลเลี้ยงดูเด็กได้ นอกจากนี้ปัญหาการหย่าร้างของพ่อแม่ การทะเลาะและใช้ความรุนแรงในครอบครัวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการตัดสินใจผิดๆ ในการเลือกที่จะทอดทิ้งเด็ก
4. เด็กมีความพิการ เป็นสาเหตุใหญ่อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ตัดสินใจนำเด็กมาทิ้ง เพราะเมื่อพบว่าเด็กทารกที่เกิดมานั้นมีความบกพร่องหรือความพิการ แม่จึงรู้สึกว่าเด็กที่มีความพิการเหล่านี้จะสร้างภาระให้กับตนเองอีกทั้งยังต้องมีค่าใช้จ่ายและการดูแลที่มากกว่าเด็กปกติ จึงได้มีตัดสินใจนำเด็กเหล่านี้ไปทิ้งในที่สุด
พร้อมทั้งเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาเรื่องของการทิ้งเด็ก ดังนี้
1. ให้ความรู้ความเข้าใจแก่เด็กในวัยเรียน เกี่ยวกับเรื่องของเพศศึกษาและครอบครัวศึกษาอย่างถูกต้องไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ในโรงเรียนและสถานศึกษาเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของการเป็นพ่อแม่ อีกทั้งควรมีการให้คำปรึกษาแนะนำแก่เด็กวัยรุ่นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ สื่อมวลชนในแขนงต่างๆไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ ควรให้ความสำคัญในการนำเสนอข้อมูลความรู้ในเรื่องดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น
2. ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้ยังชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัวและเพื่อเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นการช่วยในเรื่องการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด วิธีการดูแลลูก การฝึกอาชีพเพื่อช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจที่จะเป็นการช่วยลดปัญหาการทิ้งเด็กให้ลดน้อยลง
3. จัดหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ในกรณีสำหรับเด็กที่ถูกทอดทิ้งแล้ว รัฐควรจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมให้กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสถานสงเคราะห์หรือการส่งเด็กบางรายไปอยู่กับครอบครัวที่รับเลี้ยงดูอุปถัมภ์ เพื่อที่เด็กจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างดี ได้รับการศึกษาที่ดี เพื่อให้เขามีพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์/จิตใจ สังคม สติปัญญา ที่จะทำให้เขาเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม โดยที่จะไม่กระทำผิดซ้ำรอยอย่างที่พ่อแม่ของเขาได้เคยกระทำ
นอกจากนี้ นโยบายมีลูกเพื่อชาติ ต้องสร้างประชากรเกิดใหม่ที่มีคุณภาพ ข้อมูลจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คนไทยมีลูกน้อยลงกว่าสมัยก่อน เทียบเคียงประมาณ 50 ปีก่อน เฉลี่ยแต่ละครอบครัวมีลูก 6 คน แต่ตอนนี้เหลือเพียง 1-2 คน อีกทั้ง มีแนวโน้มว่าชายหญิงชาวไทยมีแนวโน้มไม่สมรสและอยู่เป็นโสดเพิ่มมากขึ้น
หากดูอัตราการเกิดโดยรวมของประเทศไทยจะพบว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทว่า ในทางตรงกันข้ามกลับมีเด็กเกิดใหม่จากแม่วัยใส อายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มขึ้น อย่างตัวเลขในปี 2560 มีจำนวนกว่า 104,300 คน
สถานการณ์ “เกิดน้อย-ตายยาก” กำลังเป็นปรากฏการณ์ท้าทายรัฐบาลในปัจจุบัน จะรับมืออย่างไรกับการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” และจะมีมาตรการในการเพิ่มจำนวนประชากร “เด็กเกิดใหม่” ให้อยู่รอดและเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร
โดยเฉพาะทางออกปัญหา “เด็กถูกทอดทิ้ง” ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี แม้มีสถานสงเคราะห์รองรับ แต่ลึกๆ คงไม่มีเด็กคนไหนมีความสุขเท่าการที่พวกเขาได้อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น