xs
xsm
sm
md
lg

“ป่าสะตอ” แตก ไม่แปลก!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"โสภณ องค์การณ์"

พรรคประชาธิปัตย์ ฉายา “พรรคเก่าแก่” ผ่านร้อนหนาวมาหลายสิบปีถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านอีกรอบ เมื่อคนสำคัญเริ่มทยอยตีจากไปร่วมกับค่ายอื่นและอยากตั้งพรรคเอง ล่าสุด กรณ์ จาติกวณิช อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ ทนอยู่ไม่ไหว ขอโบกมืออำลาหลั่งน้ำตาอาลัย

ไม่แปลก ก่อนหน้านี้ก็มีคนคาดกันอยู่แล้วว่าค่ายสะตออยู่ในสภาพร้าวหนัก หลังจากมีความคิดเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย คือการอยากเข้าร่วม และไม่อยากเข้าร่วมกับรัฐบาลคณะ 3 ลุง และความอยากอย่างแรงนี่แหละ ทำให้คณะลุงตั้งรัฐบาลสำเร็จ

ถ้าไม่เป็นความอยากเต็มที่ เห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้นของแกนนำบางส่วน ก็คงมีวาระนี้เช่นกัน เพราะประเด็นการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคก็เป็นลิ่มอีกอันซึ่งถ่างรอยร้าว เมื่อเห็นต่าง วัดกันด้วยคะแนนเสียง มีคนอยากร่วมมากกว่า หัวหน้าอภิสิทธิ์ ก็ลาออก

ไม่ใช่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า ยังไม่แยแสกับตำแหน่ง ส.ส. อีกด้วย สังคมการเมืองพัฒนาแล้วไม่ว่ากัน ถือว่าเป็นจิตวิญญาณที่น่ายกย่อง ไม่หวงเก้าอี้ดันทุรังอยู่สร้างความร้าวฉานให้มากกว่าที่เป็นในช่วงนั้น แปลกจากการเมืองศรีธนญชัยแบบไทยๆ

ค่ายสะตอเป็นอย่างนี้ เพราะมีสมาชิก แกนนำด้วยคลื่นความคิด แนวนโยบายต่างระดับ เป็นสังคมการเมืองแบบ “ภาคนิยม” ระบบอาวุโสเป็นหลักสำคัญ คนรุ่นใหม่ต้องยอมรับ ทั้งยังมีพฤติกรรม “ยามมีศึกนอกเราร่วมใจกันรบ ยามสงบเราฟัดกันเอง” เสมอ

พวกที่โลดแล่นเป็นแกนนำในพรรคอื่นๆ ส่วนใหญ่มีประวัติเคยสังกัดค่ายสะตอทั้งนั้น “ดังแล้วแยกวง” ได้เป็นนายกฯ เช่น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และสมัคร สุนทรเวช

การชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคครั้งล่าสุด มีเสียงนกหวีดเป็นโรคแทรกซ้อนรบกวนต่อเนื่องอย่างแรง เป็นเสียงเป่าเรียกให้คนในแยกตัวออกห่าง ซึ่งก็สำเร็จ มีแกนนำระดับหนึ่งลาออก ไปได้ดีแบบเฉียบพลัน ส่วนหนึ่งรับงานรณรงค์สร้างราคาเสริมอยู่วงนอก

ความร้าวฉานหลังจากได้ หัวหน้าอู๊ดด้า จุรินทร์ ไม่ถูกเยียวยา เพราะการเมืองแบบไร้สปิริต ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ นำไปสู่ความอาฆาต ฝ่ายแพ้ก็ไม่อยากสมานแผล ฝ่ายชนะก็สะใจ ไม่อยากให้ฝ่ายเห็นต่างเข้าร่วมในกระบวนการนำพรรค ตั้งท่ากีดกัน

ค่ายสะตอในภาวะปกติก็มีหลายก๊ก แต่ละก๊กมีแยกเป็นก๊วน แต่ละก๊วนมีเป็นมุ้งเล็ก มุ้งใหญ่ ซ่อนมีดซุยไว้ในรอยยิ้ม รอจังหวะได้เปรียบ เฉพาะภาคใต้ก็มีหลายก๊ก แต่ละก๊กไม่ยอมใคร นอกจากนายหัวชวน ซึ่งยังมีบารมี “พอเอาอยู่” ได้ระยะหนึ่ง

ก่อนกำนันแยกตัวออกไป สุราษฏร์ธานีก็แบ่งก๊กใหญ่ระดับไม่ธรรมดาอยู่แล้ว เมื่อค่ายสะตอ มีนายหัวคนใหม่ เป็นอู๊ดด้า จุรินทร์ บารมียังไม่บ่มตัวเต็มที่ จึงเห็นรอยแยกกว้าง ก่อนหน้านั้นนายหัวมาร์คก็ถูกแซวโดยนายสมัครว่าเป็น “มะม่วงจำบ่ม”

หรือเป็นมะม่วงบ่มแก๊ส ยังไม่สุกงอมคาต้น เพราะเป็นภาวะเร่งรีบ แต่ก็ได้เป็นนายกฯ ในภาวะที่มีแต่ความวุ่นวาย ถึงขั้นวิกฤต กลุ่มการเมืองสังกัดค่ายเหลี่ยมใช้ความรุนแรง หลายคนต้องติดคุก หนีก็มี และรอคำพิพากษารอบสุดท้ายก็ล้วนเป็นแกนนำม็อบ

อันที่จริง การลาออกจากตำแหน่งของหัวหน้าอภิสิทธิ์ ก็ถือว่าเป็นการแตก และโอกาสที่ “เดอะมาร์ค” จะกลับมาเป็นแกนนำในพรรคอีกรอบคงจะยาก เพราะชุดปัจจุบันต้องตีกันอย่างหนัก แม้จะให้เป็นประธานร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังมีขบวนการขวางกั้น

ดังนั้น “เดอะมาร์ค” ย่อมเข้าใจ “กรณ์” จึงพูดจาเหนี่ยวรั้งพอเป็นพิธีเท่านั้น!

น่าจะสรุปได้ระดับหนึ่งว่า “เดอะมาร์ค” ได้พ้นไปจากค่ายสะตอแล้ว การลาออกของ “กรณ์” นักการเงินมีระดับเป็นการแตกของ “แก๊งอ๊อกซฟอร์ด” ในพรรคอีกด้วย ที่เหลือกุมอำนาจอยู่ร่วมคณะ 3 ลุงขณะนี้ล้วนเป็นกลุ่มแนวคิดระดับ “ภูธร” มรดกการเมืองเก่า

การที่ “กรณ์” ร้องเพลงอำลา น้ำตาซึม อาจถูกมองได้ว่าเป็นความปลื้มปีติที่ตัดใจลาออก เพราะเป็นการตัดสินใจถูกต้อง ไม่มีคำอาลัยจากคนอื่นๆ ในฟากการเมืองเก่า ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เข้าร่วมในหลายงาน เพราะความร้าวฉานด้านมุมมองต่อการเมืองน้ำเน่า

อำนาจเก่าปรับเปลี่ยนแนวคิดไม่ได้ จะขัดกับกลุ่มอำนาจนิยม ทั้งยังต้อง “หงอ” ให้คณะ 3 ลุง ซึ่งลำพองกับอำนาจกองทัพที่ค้ำยันอยู่ระดับหนึ่ง จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้นทำให้กลุ่ม “เด็กนอก” อยู่ในภาวะอึดอัด คลื่นความคิดปรับจูนไม่ติด เพราะกลุ่มกุมอำนาจยังยึดติดในระบบอาวุโส ทำให้ได้เปรียบและจำเป็นต้องนำพรรคในแนวทาง “ภูธร” เหมาะกับการเมืองอำนาจนิยมอ้อนแม่ยก ไม่ถนัดภาษาต่างประเทศ

ตัวแทนค่ายสะตอในรัฐบาล 3 ลุงจึงห่างไกลจากบรรยากาศทันสมัยทั้งการเมือง การค้าระหว่างประเทศ เพราะไม่ถนัดในการเจรจาข้อตกลงกับคนต่างชาติ กลุ่มอ๊อกฟอร์ดมองว่าเป็นสภาวะล้าหลัง การเมืองสไตล์เก่า ภาคนิยมเหมาะกับอำนาจนิยม

ยิ่งผลงานระดับภูธรของเสนาบดีทั้ง 3 กระทรวงของค่ายสะตอไม่เอาอ่าว ขัดตา ไม่โดนใจชาวบ้านด้วยแล้ว น่าห่วงว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะอยู่ในสภาพน่าอนาถ

ยิ่งไม่สามารถเปลี่ยนปรับฉับไวเข้ากับบรรยากาศสากลได้ ทั้งต้องพินอบพิเทากับบารมีกลุ่ม 3 ลุงซึ่งอิงอำนาจกองทัพด้วยแล้ว การพัฒนาบ้านเมืองให้ทันโลกจึงเป็นไปได้ยาก การเมืองน้ำเน่าแบบไทยๆ ต้องพึ่งการทุจริต คอร์รัปชั่นหาทุนสร้างฐานอำนาจให้ยืด

นโยบายต่างๆ จึงต้องเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งใช้อำนาจเงินและพลังการกุมระบบเศรษฐกิจบงการกลุ่มอำนาจการเมือง ดังที่เห็นกันอยู่ ประชาชนไม่ได้อะไรนอกจากรับภาระภาษีและการต้องใช้คืนหนี้ภาครัฐ ซึ่งคณะ 3 ลุงถนัดในการสะสมหนี้อย่างยิ่ง
เมื่อ “กรณ์” ออกไปจากค่ายสะตอ โดยมี นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. ค่ายเดียวกันร่วมด้วย ต้องดูว่าจะตั้งพรรคใหม่ และเข้าร่วมกับคณะ 3 ลุงหรือไม่ เพราะในนั้นก็มีก๊กและก๊วนเขี้ยวโง้งไม่ธรรมดา หวงผลประโยชน์หวังกินยาวทั้งนั้น

ต้องยอมรับว่า งานการเงินการคลังของรัฐบาลยังอ่อนหัด เพราะ “หม่อมเต่า” ไม่ได้ทำงานด้านนี้ ถ้า “กรณ์” จะไปนั่งคลังแทน ซึ่งเป็นไปได้ยาก อาจทำให้ดูแข็งแกร่งขึ้น เพราะน่าจะพูดภาษาเดียวกันกับหม่อมเต่า แต่คนละภาษากับ “เดอะสมคิด” แน่

นั่นเป็นความท้าทายสำหรับเส้นทางใหม่ของ “กรณ์” ไม่ว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรืออยู่วงนอก สร้างฐานใหม่รอจังหวะอีกรอบ เมื่อการเลือกตั้งมาถึง ช่วงนี้ ถ้าจะคิดให้บ้านเมืองดีขึ้นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินละก้อ...

บอกได้แต่ว่า “อย่าหวัง” ถ้าปีนี้ “เน่า” ไม่เลวร้ายกว่าปีที่ผ่านมา ก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว!


กำลังโหลดความคิดเห็น