บทความพิเศษ โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ
ผมดูหนังเรื่องนี้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2019 บนจอคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ผ่าน Netflix ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ในโลกภาพยนตร์ออนไลน์ และเป็นผู้สร้างหนังเรื่องนี้อีกด้วย ไม่ได้เน้นที่การออกฉายตามโรงหนัง เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม โดยฉายตามโรงอย่างจำกัดจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม จึงออกออนไลน์
คนสร้างคงตั้งใจออกมาในช่วงคริสต์มาส และเตรียมเข้าประกวด ขณะนี้ก็ได้รับการเสนอชื่อรางวัลใหญ่ๆ ไปบ้างแล้ว และก็คงไม่แปลกใจที่คนที่ได้รับการเสนอผู้แสดงนำยอดเยี่ยม คือ Christopher Pryce ดาราชาวเวลส์ ผู้แสดงเป็นพระสันตะปาปาฟรันซิส ขณะที่ Anthony Hopkins ดาราอาวุโสกว่า ดังกว่าที่แสดงเป็นพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้รับการเสนอชื่อเป็นนักแสดงประกอบ
ที่บอกว่า ไม่แปลกใจ เพราะดูหนังจนจบก็รู้ว่า หนังเรื่องนี้ต้องการเน้นที่พระสันตะปาปาฟรันซิสมากกว่าโป๊ปเบเนดิกต์ เราจึงได้เห็นภาพย้อนหลังชีวิตของคุณพ่อฆอร์เฆ แบร์โกลิโอ ตอนเด็ก ตอนหนุ่ม และระหว่างยุคเผด็จการทหารครองเมือง หรือที่เรียกกันว่า “สงครามสกปรก” (Dirty War 1973-1983) ที่มีผู้คนเสียชีวิต ถูกฆ่า ถูกลักพาตัว หายสาบสูญไปกว่า 30,000 คน
เป็นช่วงที่คุณพ่อแบร์โกลิโอหนุ่มในวัย 36 ปี หัวหน้าคณะเยซุอิตถูกกล่าวหาว่าไปเข้าข้างเผด็จการทหาร ไม่ปกป้องสมาชิกในคณะ ซึ่งท่านได้ปฏิเสธตลอดมา หลังจากเผด็จการทหารถูกโค่นอำนาจ ได้รัฐบาลประชาธิปไตย คุณพ่อหนุ่มถูกส่งไปอยู่ในป่าในเขา 2 ปีเหมือนถูกทำโทษ เนรเทศ เป็นช่วงวิกฤตที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตของท่าน
หนังเรื่องนี้อยากพูดถึงพระสันตะปาปาทั้งสองในสองด้าน สองสถานะ คือ เป็นผู้นำสูงสุดของสถาบันที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก และในฐานะมนุษย์ปุถุชนเดินดินกินพิซซ่า ดื่มแฟนต้า ดื่มไวน์ เล่นเปียโน เต้นแทงโก้ เชียร์ฟุตบอล
ได้เห็นความเป็นมนุษย์ (humanized) ของทั้งสองท่านที่มีความอ่อนแอ ท้อแท้ ที่สารภาพว่า ได้พบความเงียบงัน (silence) เคยอยู่คนเดียวตั้งแต่เด็ก (alone) แต่ไม่เคยเดียวดาย (lonely) ขนาดนี้ ได้เห็นทั้งสองสารภาพบาปและโปรดบาปให้กันและกัน
ทั้งสองพยายามอธิบายว่า ได้ผ่านและกำลังผ่านประสบการณ์ที่ยากลำบาก กดดัน เหมือนสัญญาณวิทยุที่ขาดๆ หายๆ ฟังอะไรไม่ได้ศัพท์ ไม่ทราบว่าพระเจ้าต้องการอะไรจากตนเอง
หนังเรื่องนี้พยายามแสดงให้เห็นสภาพที่เป็นจริงของพระศาสนจักรคาทอลิกในวันนี้ ในความเห็นของผม ผู้กำกับและผู้เขียนบททำได้ดีทีเดียว ใช้พระสันตะปาปาสองพระองค์เพื่อเป็นตัวแทนของแนวคิดสองแนวที่ขัดแย้งกัน อนุรักษนิยมกับก้าวหน้า ผู้พิทักษ์หลักความเชื่อและระบบเดิม กับนักปฏิรูปที่มาพร้อมกับแนวคิดและจิตวิญญาณ
ที่บอกว่า หนังเรื่องนี้เน้นที่พระสันตะปาปาฟรันซิสมากกว่า เพราะไม่ได้นำเสนอภูมิหลังของโป๊ปเบเนดิกต์เลย โดยเฉพาะการเป็นเยาวชนนาซี การไปเป็นทหาร ซึ่งก็ไม่มีใครไปกล่าวหาความผิดท่าน หรืออดีตที่ท่านเคยเป็นศาสตราจารย์สอนวิชา “หลักความชื่อ” (Dogmatic) ในคณะเทวศาสตร์ มหาวิทยาลัย Tuebingen ในเยอรมนี ต่อมาเป็นสังฆราชและคาร์ดินัลที่มิวนิก ไม่กี่ปีก็เป็น “รัฐมนตรี” (Prefect) ของกระทรวงที่ว่าด้วยหลักความเชื่อ (Dogma) ที่วาติกัน เป็น “ผู้พิทักษ์” ความเชื่อและพระศาสนจักรถึงสองทศวรรษ
ความจริง ตามประวัติศาสตราจารย์โยเซฟ รัตซิงเกอร์ (โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16) ในวัยหนุ่มเป็นอาจารย์หัวก้าวหน้า เป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของสังคายนาวาติกันที่สอง (1963-1965) เป็นเพื่อนกับคุณพ่อ Hans Kung นักเทวศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งในคณะเดียวกัน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาหนุ่มที่สุดในสังคายนาวาติกันที่สอง
คุณพ่อ “โยเซฟ รัตซิงเกอร์” ไม่เคยทำงานอภิบาล ไม่ได้คลุกคลีกับสัตบุรุษ ชาวบ้าน คนยากคนจนเหมือนกับคุณพ่อฆอร์เฆ แบร์โกลิโอ ผู้ซึ่งเป็นเยซุอิต คณะที่มีชื่อเสียงทางวิชาการ แต่ก็ใช้ชีวิต “ติดดิน” ชอบช่วยเหลือคนทุกข์คนยาก และมีชีวิตที่เรียบง่าย ที่แสดงออกชัดเจนหลายฉากในหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นโป๊ป ที่ไม่ยอมสวมเครื่องเคราอะไรทางการให้วุ่นวาย ใช้อะไรที่ท่านใช้อยู่ดีกว่า
หนังเรื่องนี้มีฉากสำคัญอยู่เพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ ในวังวาติกัน โบสถ์ซิสติน และที่พระราชวังฤดูร้อนที่ Castel Gandolfo ประมาณ 20 กม.จากโรม ตั้งอยู่บนเนินเขาริมทะเลสาบสวยงาม (อยู่ติดกับวิลล่าที่พักร้อนของมหาวิทยาลัยที่ผมไปเรียนที่โรม นึกภาพออกว่าสวยงามมากๆ และในหนังก็ฉายมุมสวยๆ ให้เห็นหลายมุมทีเดียว)
ข้อมูลการทำหนังบอกว่า ฉากในโบสถ์ซิสตินอันลือชื่อ ที่มีภาพผนังใหญ่วันพิพากษ์สุดท้าย (The Last Judgment) ของมิเกลันเจโลนั้น ทางวาติกันไม่อนุญาตให้ไปถ่ายทำ ต้องไปทำที่โรงถ่ายหนังของกรุงโรม แต่ฉากและภาพอื่นๆ ล้วนสวยงามตื่นตาตื่นใจมาก รวมไปถึงรายละเอียดพิธีการเลือกโป๊ป
ตั้งแต่ต้นจนจบ มีภาพจริง เหตุการณ์จริงหลายภาพที่ถูกนำเข้าประกอบ เพราะเป็นภาพยนตร์ที่เรียกกันว่า Docudrama หรือ Biological Drama ดราม่าสารคดี หรือดราม่าชีวประวัติ นำเรื่องราวจากชีวิตจริงมาทำเป็นหนัง
เมื่อ “มาทำเป็นหนัง” จึงใช้ “ตรรกะ” แบบหนังที่อาจจะขัดตาขัดใจผู้ดู ผู้รู้เรื่องจริงอีกแบบหนึ่ง อย่างเรื่องราวที่เห็นในหนังเรื่องนี้ที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดสองแนวที่แตกต่างกันระหว่างผู้นำสูงสุดของพระศาสนจักร โดยให้สองท่านนี้มาสนทนา เสวนา วิวาทะกัน บางช่วงดูว่าถึงขั้น “รุนแรง” เพราะโป๊ปเบเนดิกต์บอกพระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดทั้งหมดของคุณ”
ในชีวิตจริง ทั้งสองท่านได้พบกันจริง แต่ไม่ได้มีเวลาสนทนากันยาวนานขนาดนั้น และไม่ได้ “ทะเลาะกัน” รุนแรงขนาดนั้น แต่ผู้กำกับและผู้ขียนบทไปนำเอาข้อเขียนและการพูดของทั้งสองท่านทั้งหมดมาวิเคราะห์ และนำมาแปลงเป็นการวิวาทะในหนังเรื่องนี้
ที่เกิดขึ้นจริง คือ การที่คาร์ดินัลแบร์โกลิโอต้องการจะขอลาจากตำแหน่ง (resign) แบบเกษียณก่อนกำหนด ได้ส่งหนังสือไปขอจากโป๊ป ซึ่งท่านไม่ได้ตอบ ไม่อนุมัติ ในหนัง พระสันตะปาปาเบเนดิกต์บอกว่า “ท่านลาออกแบบนี้เหมือนกับวิจารณ์ ไม่ยอมรับการทำงานของผม” แปลว่าไม่ดีต่อส่วนรวม
วิวาทะกันยาวนานที่ผู้สร้างหนังนำมารวมกันนั้น มีแทบทุกประเด็นที่เป็นปัญหา เป็นความขัดแย้งในพระศาสนจักรคาทอลิก เรื่องการละเมิดทางเพศเด็ก การถือพรหมจรรย์ของบาทหลวง การให้สตรีบวชเป็นบาทหลวงได้ การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน การให้คนที่หย่าร้างสามารถรับศีล (มหาสนิท) ได้ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่คาร์ดินัลแบร์โกลิโอถูกกล่าวหาว่าอ่อนข้อมากเกินไป
พระคาร์ดินัลแบร์โกลิโอพยายามอธิบายว่า ท่านไม่ได้มีความเห็นแบบฟันธงอะไร เพียงแต่อยากให้เราพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ยึดติดแบบแก้ไขอะไรไม่ได้ ท่านพูดกับโป๊ปเบเนดิกต์ว่า “ท่านสืบทอดอำนาจจากเซนต์ปีเตอร์ พระสันตะปาปาองค์แรก ซึ่งแต่งงาน เรามาห้ามบาทหลวงแต่งงานในศตวรรษที่ 12 นี่เอง” เหมือนบอกว่า แล้วมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงมิได้
เย็นวันที่วิวาทะกันยาวนานนั้น หนังฉายให้เห็นว่า ทั้งสองท่านไม่ได้รับประทานอาหารค่ำด้วยกัน นั่งกันคนละห้อง ซิสเตอร์นำอาหารมาให้คาร์ดินัลแบร์โกลิโอ จานแรกเป็นซุปมีฝาครอบไว้ เปิดออกมาเป็นซุปแบบบาวาเรียนซึ่งประกอบด้วยขนมปังปั้นกับเนื้อบดก้อนโตสองก้อน (Knoedelsuppe) หนังเรื่องนี้มีภาพสัญลักษณ์มากมายจริงๆ
แต่ก็ลงท้ายกันด้วยดี เมื่อโป๊ปเบเนดิกต์เดินมาที่ห้องที่คาร์ดินัลนั่งดูฟุตบอลทางทีวีอยู่ แล้วสนทนากับแบบ “เพื่อน” จนนำไปสู่การเล่นเปียโนของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ซึ่งบอกให้คาร์ดินัลไปเอาไวน์มาดื่มกันอีกต่างหาก เป็นภาพที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ของทั้งสอง ที่เครียดขนาดไหนก็ย่อมผ่อนคลายได้ ขัดแย้งขนาดไหนก็มีทางประนีประนอมกันได้
ที่สุด หลังจากที่ปฏิเสธการลาออกของคาร์ดินัลแบร์โกลิโอ ฉากต่อไปที่วาติกัน ในโบสถ์ซิสติน กลายเป็นเรื่องการลาออกของโป๊ปเบเนดิกต์เอง ที่สารภาพเรื่องความหนักใจ ความกดดัน ความเงียบงันในใจที่ไม่มีคำตอบจากสวรรค์ ปัญหาสารพันที่วางอยู่บนโต๊ะที่ท่านไม่สามารถคลี่คลายได้ (ปัญหาการละเมิดทางเพศเด็กของบาทหลวงทั่วโลก) การคอร์รัปชันในวงการเงินของวาติกันและอื่นๆ
ครั้งนี้เป็นคาร์ดินัลแบร์โกลิโอเล่นบทเป็น “พ่อ” ที่ปราม “ลูก” มิให้ท้อถอย “พระเยซูไม่เคยลงจากกางเขน ท่านจะลงมาได้อย่างไร” หลังจากการสนทนาที่ยาวนาน คาร์ดินัลก็ฟังการสารภาพบาปของพระสันตะปาปา และยกบาปให้ หนังทำให้เสียงหายไป แต่ทำให้คนดูรู้ว่า บาปที่โป๊ปสารภาพน่าจะเป็นสิ่งที่ท่านคิดว่าได้ย่อหย่อนไม่ได้แสดงความรับผิดชอบเต็มที่ในเรื่องการละเมิดทางเพศที่มีเอกสารอยู่เต็มโต๊ะ
หนังพยายามบอกว่า พระสันตะปาปาเบเนดิกต์อยากเห็นคาร์ดินัลแบร์โกลิโอสืบทอดตำแหน่งนี้ต่อจากท่าน “พระศาสนจักรต้องเปลี่ยนแปลง ท่านคือผู้ที่จะทำสิ่งนี้” ซึ่งในความเป็นจริง ก็น่าสงสัย เพราะสองท่านนี้ไม่ได้สนิทกันนัก และดูจะมีความแตกต่างกันสูงจนไม่น่าเชื่อว่า ผู้พิทักษ์ความเชื่ออย่าง “รัตซิงเกอร์” จะอยากเห็นนักปฏิรูปอย่าง “แบร์โกลิโอ” มารื้อสร้างพระศาสนจักรที่ท่านเชื่อว่าเป็นนิรันดร์นี้ได้
จึงน่าจะเป็น “ความคิดและปรารถนา” (wishful thinking) ของคนทำหนังที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยให้เครดิตแก่โป๊ปเบเนดิกต์และสร้างความชอบธรรมให้พระสันตะปาปาฟรันซิส
เราจึงได้เห็นฉากสุดท้ายในหนังที่นำภาพจริงของพระสันตะปาปาฟรันซิสลงจากเฮลิคอปเตอร์ไปสวมกอดพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่วังฤดูร้อน อันเป็นภาพที่งดงามมาก
ส่วนภาพในหนังจะพยายามบอกเรื่องนี้ก็พอเข้าใจได้ ที่ด้านหนึ่งพยายามให้ความแข็งกระด้างของนักคิดนักเทวศาสตร์ชาวเยอรมันอย่างโป๊ปเบเนดิกต์อ่อนลง ให้เห็นความเป็นมนุษย์ขึ้นมาบ้าง แต่ด้วยความยากลำบาก เหมือนกับที่คาร์ดินัลแบร์โกลิโอพยายามสอนโป๊ปให้เต้นแทงโก้ก่อนลาจากกัน ที่ท่านทำได้อย่างเคอะเขิน ขัดกับธรรมชาติของท่านจริงๆ
เป็นการ “ปะทะสังสรรค์” ระหว่างสองวัฒนธรรม เยอรมนีกับอิตาเลียน/อาร์เจนไตน์คาร์ดินัลแบร์โกลิโอเล่าเรื่องตลก โป๊ปเบเนดิกต์ยังไม่ขันเลย ยังเย้ยหยันด้วยซ้ำ ดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้ผมคิดถึงคนเยอรมันและคนอิตาเลียนที่เคยรู้จัก คนทำหนังสะท้อนสองวัฒนธรรมนี้ได้ดีจริงๆ
ยังดีที่หนังจบลงด้วยภาพที่สองพระองค์นั่งดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศระหว่างเยอรมนีกับอาร์เจนตินาที่บราซิลเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริง ที่เยอรมนีชนะ 1-0 ภาพแสดงให้เห็นถึง “ความเป็นมนุษย์” ที่ชัดเจนที่สุดตอนที่เชียร์ฟุตบอลนี่เอง แต่ทั้งสองพระองค์ไม่น่าจะได้นั่งชมด้วยกันจริง เพราะโป๊ปเบเนดิกต์ไม่ชอบฟุตบอล ท่านเชียร์ฟอร์มูล่าวัน
ผู้กำกับหนังชาวบราซิเลียน Fernando Meirelles และผู้เขียนบท Anthony McCarten ประสบความสำเร็จในการทำหนังเรื่องนี้ เป็นหนังที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์หนังทั่วโลก และน่าจะได้หลายรางวัลในต้นปีหน้า
ข่าวบอกว่าได้ถูกนำไปฉายในวาติกัน โดยผู้แสดงเป็นพระสันตะปาปาฟรันซิสไปงานนั้นด้วย พระสันตะปาปาไม่ได้ดู แต่เสียงสะท้อนจากพระคาร์ดินัลและชาวสำนักวาติกันเป็นบวก ชื่นชมว่าทำได้ดี และขอดีวีดีไปให้โป๊ปดูด้วย
ผมไม่ได้อ่านความเห็นของใครก่อนดูหนังเรื่องนี้ อยากดูด้วยตัวเอง และด้วยความเข้าใจเองจริงๆ รู้สึกดีเมื่อได้ดูจบ แต่อยากบอกว่า ไม่น่าจะเป็นหนังสำหรับคนทั่วไป
แม้แต่ชาวคริสต์ ชาวคาทอลิกเองก็อาจเข้าใจยากกับภาษาหนัง และประเด็นปัญหาที่หนังพยายามเสนอ ซึ่งทำได้ละเอียดและลึกทีเดียว
แต่ก็อยากแนะนำให้พระสงฆ์ นักบวช ผู้นำศาสนา ฆราวาส ได้ดูหนังเรื่องนี้ และนำไปเสวนาเพื่อการเรียนรู้ และนำประเด็นที่เป็นวิวาทะของ “ทวิโป๊ป” มาถกเถียงกันต่อ ให้ก่อเกิดปัญญาและศรัทธา ที่ตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริงของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้