xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เฉลิม”ตามบี้ภาษีบุหรี่นอก แค้นนี้ต้องชำระของเพื่อไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมการการเมือง

แม้จะไม่ได้มีข่าวคราวทางหน้าการเมืองมาระยะหนึ่ง แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ยังติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการอีก 10 คน เพื่อเตรียมการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาคดีภาษีบุหรี่นำเข้าของ "ฟิลลิป มอร์ริส" ซึ่งเป็นเรื่องที่ร.ต.อ. เฉลิมเคยเป็นผู้เปิดประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาก่อนเมื่อปี 2544 ทำให้ประเด็นภาษีบุหรี่กลับมาอยู่ในกระแสความสนใจอีกครั้ง

เริ่มจากประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ที่ร.ต.อ. เฉลิม อ้างว่ารัฐบาลจงใจออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบริษัทบุหรี่ ทำให้บุหรี่ไทยและบุหรี่นอกราคาเท่ากัน จนคนหันไปสูบบุหรี่นอก ทำเอาโรงงานยาสูบและประเทศไทยต้องเสียรายได้ และเดือดร้อนไปถึงชาวไร่ยาสูบ สร้างความเสียหายและเป็นการเอาใจบริษัทบุหรี่อย่างออกนอกหน้า

ความจริงแล้วการปรับโครงสร้างสรรพสามิต เมื่อปี 2560 นั้น เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.สรรพสามิต ที่บังคับใช้กับสินค้าสรรพสามิตทุกประเภท เช่น สุรา เบียร์ รถยนต์ รวมถึงยาสูบ เพื่อให้กฎหมายมีความโปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกฝ่าย ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดการผลิตบุหรี่ในประเทศมาอย่างยาวนาน กลับไม่สามารถปรับตัวตามสภาพการแข่งขัน และกำหนดราคาขายที่เหมาะสมตามกฎหมายใหม่ ทำให้การบริหารต้องสะดุดลง ยอดขายได้รับผลกระทบ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงชาวไร่ ภายใต้การดูแลของตัวเองในที่สุด

ตามกลไกใหม่ของ พ.ร.บ.สรรพสามิต 2560 นั้น สินค้ายาสูบซึ่งเดิมใช้ พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ. 2509 ได้ถูกนำมารวมกับสินค้าสรรพสามิตอื่นๆ ทั้งหมด และจัดเก็บภาษีในรูปแบบมาตรฐานเดียวกันกับทุกสินค้า โดยเก็บจากราคาขายปลีกแนะนำที่ผู้ประกอบการแจ้งต่อกรมสรรพสามิต

สำหรับสินค้าบุหรี่ มีการเก็บระบบผสมคือ เก็บทั้งตามปริมาณและตามมูลค่าของสินค้า ทั้งนี้ในด้านปริมาณ อัตราภาษีคือ 1.2 บาทต่อมวน ส่วนด้านมูลค่านั้น แบ่งการเก็บภาษีเป็น 2 ชั้น คือ 1) ราคาขายต่ำกว่า 60 บาท เก็บร้อยละ 20 ของราคาขายปลีกแนะนำ 2) ราคาขาย 60 บาทขึ้นไป เสียภาษีร้อยละ 40 ของราคาขายปลีกแนะนำ หลังจากนั้น 1 ปี จะปรับเป็น 40% อัตราเดียว

ว่ากันว่ารัฐบาลตั้งใจออกมาแบบนี้เพื่อช่วยเหลือบุหรี่ราคาถูกของโรงงานยาสูบ ซึ่งก่อนหน้านี้ขายอยู่ 40-50 บาท ไม่ให้ต้องเสียภาษีสูงเกินไป เพื่อทำให้สามารถแข่งขันได้ แต่ในเมื่อกฎหมายใช้บังคับเท่าเทียมกัน และการกำหนดราคาขายก็ป็นอิสระของผู้ประกอบการ ที่จะกำหนดให้เหมาะสม สามารถแข่งขันได้ เพราะหากราคาขายเกิน 60 บาท ก็ต้องไปเสียภาษีเพิ่มอีกเท่าตัว จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องกำหนดราคาขายสินค้าตัวหลักที่ 60 บาท เพื่อให้ขายได้โดยราคาไม่สูงเกินไป

โรงงานยาสูบเองจึงเป็นเจ้าแรกที่ปรับลดราคาขาย บุหรี่ Wonder จาก 63 บาท ก่อนเปลี่ยนระบบภาษี มาเหลือ 60 บาท ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นต้องปรับลดราคาบางตัวลงมา เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน โรงงานยาสูบกลับปรับราคาขาย Wonder ขึ้นไปแพงลิบลิ่ว ส่งผลให้เป็นจุดเปลี่ยน เสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับผู้นำเข้านับแต่นั้นเป็นต้นมา นับเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้บริหารโรงงานยาสูบ ณ ขณะนั้น

แต่ที่ลึกแต่ไม่ลับที่สุดคือ การพ่วงขึ้นภาษีเพื่อมหาดไทยอีก 10 % เข้าไปด้วยตอนออกกฎหมายปี 2560 เพราะก่อนหน้านี้ ไม่มีการจัดเก็บ ทำให้บุหรี่ราคา 60 บาท ต้องเสียภาษีทั้งหมดรวมภาษีเพื่อมหาดไทย ถึง 48 บาทต่อซอง ที่เหลือถึงเป็นกำไรทอดต่างๆ ของผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีก ค้าส่ง ทำเอาโรงงานยาสูบกำไรหดหายจาก 9,000 ล้าน เหลือเพียง 800 ล้าน ในปีถัดมา

เพราะกำไรถูกดึงไปจ่ายเป็นภาษีเกือบหมด เรื่องนี้กระทบทั้งยอดขาย และกำไรของผู้ประกอบการทุกบริษัทฯ แต่คนที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ คือรัฐบาลได้ภาษีเข้ากระเป๋าไปให้ท้องถิ่น

ส่วนกรณีคดีภาษีนำเข้า ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ชี้ว่ารัฐบาลคสช. ของพล.อ.ประยุทธ์ แก้ไขพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 เพื่อให้การช่วยเหลือบริษัทผู้นำเข้าให้เสียค่าปรับลดลง จาก 25,000 ล้านบาท เหลือ 1,200 ล้านบาท ทั้งที่ในความเป็นจริง มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อน จากพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 เรื่องการจ่ายสินบน-รางวัล และบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรม ทำหนังสือร้องเรียนผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย รวมทั้งหอการค้าต่างประเทศ มาเป็นเวลานับสิบปี

เพื่อขอให้รัฐบาลแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อลดแรงจูงใจเจ้าหน้าที่ศุลกากร รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่มีความคลุมเครือ เปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการระงับคดี และได้รับเงินรางวัลและสินบนนำจับสูงถึง 55% ของมูลค่าความเสียหาย

ร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้เวลายกร่าง โดยกระทรวงการคลัง กว่า 2 ปี ก่อนจะถูกเสนอให้ครม. ผ่านความเห็นชอบหลักการ และมีการนำเข้าพิจารณาในครม. หลายครั้งหลายหน ทั้งในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รวมถึงและรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยที่มีการนำร่าง พ.ร.บ.นี้ เข้าสู่การพิจารณาถึง 3 ครั้ง แต่ด้วยความไม่มั่นคงทางการเมือง มีการประกาศยุบสภาโดย นายอภิสิทธิ์ และน.ส. ยิ่งลักษณ์ ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้รับการอนุมัติ

จนมาถึงยุครัฐบาลคสช. ที่มีความตั้งใจสะสางร่างกฎหมายที่ค้างคาอยู่ระหว่างการพิจารณาให้เสร็จสิ้น จึงได้นำร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง และผ่านความเห็นชอบในที่สุด ทำให้ประเทศไทยไทยได้กฎหมายศุลกากรใหม่ที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างความโปร่งใสในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร รวมถึงไม่สร้างภาระความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการและผู้นำเข้าจากทุกอุตสาหกรรม ได้รับเสียงชื่นชมจากหลายฝ่าย

ประเด็นสำคัญคือ การแก้ไขแยกโทษลักลอบกับหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเดิมเหมารวมอยู่ใน มาตรา 27 พ.ร.บ.ศุลกากรเดิมให้เหมาะสมเป็นธรรมมากขึ้น เพราะ 2 เรื่องนี้มีความต่างกัน การลักลอบนั้นไม่มีการผ่านพิธีศุลกากรใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการกระทำเยี่ยงโจร แต่การหลีกเลี่ยงนั้นมีการทำพิธีการศุลการ แต่อาจมีการสำแดงที่ไม่ถูกต้อง กฎหมายใหม่จึงแยกโทษออกมา กรณีหลีกเลี่ยง จึงมีโทษปรับเพียงอากรที่ขาดไปเท่านั้น แต่ถ้าลักลอบหนีภาษี ก็ปรับจากอากรรวมราคาสินค้ากันไป เต็มๆ

กฎหมายเดิม บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ ว่า ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทยก็ดี หรือส่ง หรือพาของเช่นว่านี้ออกไปนอกพระราชอาณาจักรก็ดี หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ ในการนำของเช่นว่านี้เข้ามา หรือส่งออกไปก็ดี หรือย้ายถอนไป หรือช่วยเหลือให้ย้ายถอนไป ซึ่งของดังกล่าวนั้นจากเรือกำปั่น ท่าเทียบเรือ โรงเก็บสินค้า คลังสินค้า ที่มั่นคง หรือโรงเก็บของโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี หรือให้ที่อาศัยเก็บหรือเก็บ หรือซ่อนของเช่นว่านี้ หรือยอม หรือจัดให้ผู้อื่นทำการเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการขนหรือย้ายถอน หรือกระทำอย่างใดแก่ของเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใดๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่งของออก ขนของขึ้น เก็บของในคลังสินค้า และการส่งมอบของโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะต้องเสียสำหรับของนั้นๆ ก็ดี หรือหลีกเลี่ยงข้อห้าม หรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงิน สี่เท่าราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

กฎหมายใหม่ มาตรา ๒๔๒ บัญญัติว่า ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

มาตรา ๒๔๓ ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้นๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่า แต่ไม่เกินสี่เท่า ของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

อีกประเด็นคือ การช่วยเหลือ "ฟิลลิป มอร์ริส" เพื่อให้ยุติการฟ้องร้องคดีอาญา โดยประเด็นการให้ความช่วยเหลือบริษัทบุหรี่นอกนั้น ต้องไล่เรียงความเป็นมาของคดีอันยืดเยื้อยาวนาน ที่มักจะถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมืองและถูกนำเข้าไปเป็นหัวข้ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง

คดีนี้เริ่มในเดือน ส.ค.49 นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีความสนิทสนมกับ บริษัท คิง เพาเวอร์ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง ตรวจสอบราคาของผู้นำเข้าบุหรี่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จึงได้รับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ และคณะกรรมการสืบสวนซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพากรและสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมกันนั้นกรมศุลกากรเองก็เริ่มปฏิเสธราคานำเข้าที่บริษัทสำแดง และกำหนดให้มีการวางเงินประกันทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการนำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์

เป็นเหตุให้ ในเดือน ก.พ.51 ประเทศฟิลิปปินส์ ในฐานะประเทศผู้ส่งออกเจ้าของผลิตภัณฑ์ ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมนี้ ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก เพื่อเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาททางการค้าอย่างเป็นทางการ กับประเทศไทย

ต่อมาในเดือน มี.ค.51 กรมศุลกากร ยอมรับราคานำเข้าของบริษัทอีกครั้ง และมีรายงานสรุปผลการตรวจสอบย้อนหลังว่า ไม่พบมีการกระทำผิดใดๆ ของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส พร้อมคืนเงิน ที่บริษัทวางประกันไว้

แต่ในเดือนเม.ย.52 ดีเอสไอ กลับแจ้งข้อกล่าวหา และมีความเห็นว่าควรดำเนินคดีต่อบริษัท และพนักงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติกันได้ตามกระบวนการของ WTO จนต้องมีการร้องให้ดำเนินการวินิจฉัยข้อพิพาท จนในที่สุด ในเดือนพ.ย.53 ทาง WTO ได้ออกคำวินิจฉัยว่า ประเทศไทยไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะปฏิเสธราคานำเข้าของผู้นำเข้าและสั่งให้มีการแก้ไข

ขณะที่กระบวนการฟ้องร้องใน WTO ยังดำเนินไป ในประเทศในเดือนม.ค.54 อัยการมีความเห็นแย้งกับ ดีเอสไอ และมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทฯ จึงกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยนำประเด็นนี้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วง มี.ค.54

แต่หลังจากนั้น DSI โดย นายธาริษฐ์ เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในขณะนั้น กลับทำความเห็นแย้งกับอัยการ ทำให้ต้องส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด จนในที่สุด อัยการได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ เมื่อเดือน ม.ค.59

ในเวลาเดียวกันนั้น ประเทศไทยได้อุทธรณ์คำตัดสินของ WTO แต่ในเดือนมิ.ย.54 คณะผู้พิจารณาอุทธรณ์ WTO ยืนยันคำตัดสินเดิมว่า ประเทศไทยปฏิบัติไม่สอดคล้องกับระเบียบขององค์การการค้าโลก และให้เวลากับประเทศไทยในการไปแก้ไข และปฏิบัติตามคำตัดสิน แต่เวลาล่วงเลยมานาน ก็ยังไม่มีการดำเนินการที่ครบถ้วนตามคำตัดสินของ WTO

ในที่สุดในเดือนพ.ค.59 รัฐบาลฟิลิปปินส์ จึงยื่นคำร้องขอให้ไทยปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO อีกรอบ ซึ่งหนึ่งในข้อเรียกร้องคือการยุติการฟ้องคดีอาญาต่อบริษัทฯ ในข้อหาสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง

เมื่อประเทศไทยยังไม่ยอมปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO อีกทั้งยังเดินหน้ายื่นฟ้องคดีอาญาบริษัทผู้นำเข้าบุหรี่ จนเป็นเหตุให้ฟิลิปปินส์ต้องยื่นฟ้องต่อ WTO อีกหลายครั้งเพื่อขอให้ประเทศไทยดำเนินการ


ในที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงยื่นคำร้องขอให้ไทยปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO อีกรอบซึ่งหนึ่งในข้อเรียกร้องคือการยุติการฟ้องคดีอาญาต่อบริษัทฯ ในข้อหาสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง


เมื่อประเทศไทยยังไม่ยอมปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO อีกทั้งยังเดินหน้ายื่นฟ้องคดีอาญาบริษัทผู้นำเข้าบุหรี่ จนเป็นเหตุให้ฟิลิปปินส์ต้องยื่นฟ้องต่อWTO อีกหลายครั้งเพื่อขอให้ประเทศไทยดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก ประเทศไทยก็แพ้อีกถึง 3 ครั้ง 3 คราในเวทีการค้าโลกในภายหลัง


ในด้านคดีในประเทศ อัยการได้ยื่นฟ้องบริษัทฟิลลิป มอร์ริส เมื่อเดือนมกราคม 2559 และเข้าสู่กระบวนการสืบสวนพยานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาคดีคดีสำแดงราคาบุหรี่นำเข้าเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร โดยสั่งปรับบริษัทบุหรี่ “ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด” เป็นเงิน 4 เท่า จากค่าอากรภาษีที่ขาดไป 3 ร้อยกว่าล้านบาท คิดเป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้นประมาณ 1,200 ล้านบาท ตามที่ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังทุกสื่อ


ภายหลังมีคำพิพากษา ฟิลลิป มอร์ริส ไทยแลนด์ ได้ออกมาประกาศว่าจะยื่นอุทธรณ์แน่นอน โดยยืนยันว่ามีหลักฐานและข้อต่อสู้ที่หนักแน่นที่จะยืนยันความบริสุทธิ์ขององค์กร เนื่องจากก่อนหน้านี้ กรมศุลกากรและองค์การการค้าโลก (WTO) ได้เคยตรวจสอบราคาสำแดงของผู้นำเข้าแล้ว และไม่พบว่าไม่มีการกระทำผิดใดๆ


เรื่องก็เหมือนจะจบลงโดยกระบวนยุติธรรมที่มีขั้นตอน กลับต้องถูกลากมาเป็นประเด็นการเมืองอีกครั้ง เมื่อร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย เตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายก พล.อ. ประยุทธ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในคณะ รวม 4 ราย โดยอ้างว่าใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือ มีการเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปไกล่เกลี่ย รวมถึงทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี


ความจริง จะเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นมหากาพย์ ที่ต้องพิสูจน์กันการกระทำของฝ่ายรัฐบาลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือเป็นการขายชาติ หรือใครจ้องหาประโยชน์จากเรื่องนี้กันแน่!?





กำลังโหลดความคิดเห็น