ในอดีต เมื่อพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ คอการเมืองจะนึกถึงบทบาทในการเป็นฝ่ายค้านที่มีความโดดเด่นในด้านการแสดงออกด้วยการพูด จึงเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน แต่จุดเด่นนี้ได้ถูกฝ่ายตรงกันข้ามนำไปวิพากษ์ในทางลบ ว่าเป็นพรรคที่พูดมากกว่าทำ และบางคนบางกลุ่มถึงกับพูดว่าเป็นพรรคที่ดีแต่พูด
แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงแก่นแท้ของความเป็นพรรคการเมือง ซึ่งมีอายุการจัดตั้งยาวนาจนเรียกได้ว่าเป็นสถาบันการเมือง แล้วก็จะทำให้เข้าใจว่าทำไม พรรคประชาธิปัตย์ในอดีตที่ผ่านมาจึงพูดมากกว่าทำ ทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา การเมืองไทยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมากกว่าระบอบประชาธิปไตย และถ้าพูดโดยยึดความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว ประเทศไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยแท้จริง จะมีก็เพียงรูปแบบคือการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนเนื้อหาคือการยึดประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลักนั้นไม่เคยเกิดขึ้นได้ 100% ยิ่งกว่านี้ ถ้ายึดประชาธิปไตยตามหลักที่ว่าโดยประชาชน เพื่อประชาชนด้วยแล้ว พูดได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นในระยะที่มีการพูดปราศรัยหาเสียง แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว ส่วนใหญ่ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง ดังนั้น จึงพูดได้ว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ผ่านมา ยึดแนวที่ว่าโดยประชาชนแต่เพื่อตนเองและพวกพ้อง
ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการ จึงมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลน้อยกว่าเป็นฝ่ายค้าน และเมื่อเป็นฝ่ายค้านก็มีหน้าที่แสดงความคิดเห็นในเชิงคัดค้าน หรือท้วงติงในเรื่องที่ฝ่ายรัฐบาลทำไม่ถูกต้อง และอาจนำประเทศไปสู่ความหายนะ
2. แม้ในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นรัฐบาลผสม จึงเป็นการยากที่จะทำทุกอย่างที่พรรคต้องการจะทำ เนื่องจากถ้าทำในสิ่งที่มีผลกระทบต่อพรรคร่วม ก็จะเกิดความขัดแย้งและแตกแยก และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลก็ทำได้น้อยกว่าที่พูด
3. ในอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะแกนนำของพรรคเป็นนักกฎหมาย ซึ่งมีความรู้ ความเข้าใจ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย จึงมีความโดดเด่นในด้านการพูด แต่ขาดความกล้าในการตัดสินใจในเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อความผิดด้านกฎหมาย จึงทำให้ไม่สามารถคิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นหัวใจของการทำสิ่งใหม่ๆ และเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศ และก็เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์พูดมากกว่าทำ
แต่วันนี้ และเวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ประกาศชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้จะทำมากกว่าพูด นั่นก็หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมองค์กรทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์จากที่เคยโดดเด่นในด้านการพูด มาเป็นองค์กรที่โดดเด่นในด้านการกระทำแทน
ส่วนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำได้อย่างที่พูดหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหนนั้น คงจะต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ คำพูดนี้สักระยะหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่ถึงปีพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ทำงานลุล่วงไปแล้วบางเรื่องเช่น การประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ตามที่หาเสียงไว้
ถึงกระนั้นก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทำให้มากกว่าพูด โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ 2 เรื่องคือ
1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา
2. การปราบปรามการทุจริตให้เป็นรูปธรรม และมีความเสมอภาค ทั้งในส่วนของผู้กระทำผิดซึ่งมีสถานภาพทางสังคมเหนือคนธรรมดาทั่วไป เช่น นักการเมือง และข้าราชการ รวมไปถึงผู้ที่มีฐานะร่ำรวย เป็นต้น และในส่วนของผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสในการต่อสู้คดี
ในสองประการนี้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ผู้เขียนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะได้รับการยอมรับจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และบุคคลทั่วไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ถ้าทำไม่ได้ก็คงหนีไม่พ้นคำว่าดีแต่พูดเหมือนเดิม