หลังจากที่การประชุมสภาฯ ล่มถึง 2 ครั้งติดต่อกัน เนื่องจากมีผู้มาประชุมไม่ครบองค์ประชุม โดยมีสาเหตุมาจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเดินออกที่ประชุม (Walk Out) และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลส่วนหนึ่งไม่มาประชุม
ต่อมาฝ่ายรัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เชิญพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อประสานความสามัคคีและกำหนดท่าทีทางการเมืองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้การประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในทางการเมืองระดับหนึ่ง
แต่ผลของการประชุมดังกล่าว ขัดต่อความรู้สึกและสร้างความคับแค้นใจให้แก่แกนนำพรรคการเมืองที่ ส.ส.ของพรรคออกเสียงสวนทางกับมติพรรคในญัตติที่ขอตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 ซึ่ง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอ และ ส.ส.จากฝ่ายค้านส่วนใหญ่เห็นด้วย
แต่ผลจากการโหวตลงคะแนนปรากฏว่ามี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจำนวน 10 คนจาก 3 พรรคการเมืองคือ พรรคเพื่อไทย 4 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน และพรรคอนาคตใหม่ 2 คนออกเสียงไปในทางเดียวกับรัฐบาลคือไม่เห็นด้วย และในขณะเดียวกันมี ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาลคือจากพรรคประชาธิปัตย์ 4 คนออกเสียงสวนทางกับทางฝ่ายรัฐบาลคือเห็นด้วย
จากปรากฏการณ์ทางการเมืองเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าภายในพรรคการเมือง ทั้งในฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่มีเอกภาพในทางการเมือง และความไม่มีเอกภาพที่ว่านี้น่าจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ทางการเมืองในทำนองนี้ขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยทางการเมืองดังต่อไปนี้
1. รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเสียงเกินครึ่งเพียง 2 เสียงคือ 252 เสียงจาก 500 เสียง
ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติสำคัญซึ่งรัฐบาลเป็นผู้เสนอเช่น พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นต้น หรือญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งฝ่ายค้านเสนอ มีการสุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลจะแพ้โหวต และส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกหรือไม่ก็ยุบสภา จึงจำต้องมีการควบคุมเสียงฝ่ายรัฐบาลอย่างเข้มงวด และในขณะเดียวกัน จะต้องแสวงหาแนวร่วมจาก ส.ส.ฝ่ายค้านเพื่อเป็นกำลังสำรองในกรณี ส.ส.จากพรรครัฐบาลบางส่วนงดออกเสียงหรือโหวตสวนมติพรรค
แต่การดำเนินกิจกรรมในทำนองนี้ ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในทางการเมืองที่สามารถเอาชนะฝ่ายค้านได้ แต่ในทางสังคมรัฐบาลจะถูกมองในแง่ลบในกรณีที่มี ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านมาโหวตให้รัฐบาล เพราะคงไม่มีใครเชื่อว่ามาด้วยความสมัครใจ โดยปราศจากการได้รับผลตอบแทนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้งเป็นการให้ในปัจจุบันและสัญญาว่าจะให้ในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ อนาคตทางการเมืองของผู้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในทำนองนี้ คงจะก้าวไปได้ไม่ราบรื่นแน่นอน
2. จากพฤติกรรมทางการเมืองของ ส.ส.ที่ออกเสียงสวนมติพรรค จะส่งผลให้พรรคต้นสังกัดจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาที่ค้างคาใจด้วยการสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และถ้าพบว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยอมรับได้ในระบอบประชาธิปไตย ก็คงหนีไม่พ้นมีมติพรรคขับออกจากพรรค ถ้า ส.ส.ที่ถูกขับออกจากฝ่ายค้าน ก็จะทำให้พรรครัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคพลังประชารัฐได้ประโยชน์ทางการเมือง โดยการอ้าแขนรับ ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรคเข้าพรรคทำให้ทางฝ่ายรัฐบาลได้เสียงเพิ่มขึ้น
แต่ที่น่าจะเป็นปัญหาแบบกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ก็คือพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส.ออกเสียงสวนทางกับฝ่ายรัฐบาล เพราะถ้าขับออกก็จะทำให้เสี่ยงทางฝ่ายรัฐบาลลดลง และถ้าไม่ดำเนินการใดๆ ก็จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐกดดันโดยทำให้เกิดข้อกังขาว่า มีใครในพรรครู้เห็นเป็นใจกับ ส.ส.ที่ว่านี้ด้วยหรือไม่
แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐกดดันพรรคประชาธิปัตย์มากเกินไป ก็อาจกลายเป็นปมขัดแย้งเกิดขึ้น และบานปลายถึงขั้นทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวออกจากรัฐบาลได้
ด้วยเหตุนี้ ในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ ทางพรรคร่วมรัฐบาลคงจะต้องปล่อยไป โดยการอ้างเหตุผลที่เข้าใจง่ายและยอมรับได้อย่างที่คุณเทพไท เสนพงศ์ อ้างคือ ญัตตินี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอ และญัตติที่ว่านี้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรคที่ต่อต้าน ดังนั้น การออกเสียงเห็นด้วยจึงเกิดการสนองอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งอยู่เหนือมติพรรค
จากเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น การออกเสียงสวนมติพรรค โดยเฉพาะในซีกของฝ่ายค้านคงเกิดขึ้นอีกแน่นอน ถ้าไม่มีการปรับ ครม.ดึงเอาฝ่ายค้านเข้ามาร่วมเพื่อให้มีเสียงพ้นน้ำพอที่จะให้รัฐบาลของลุงตู่ แล่นฝ่าคลื่นไปได้