ผู้จัดการรายวัน360- "สนธิรัตน์"จัดใหญ่ควักเงินกองทุนน้ำมัน 1,383 ล้านบาท กดราคาน้ำมันลง 1 บาท/ลิตรทุกชนิด มีผลวันนี้ (26 ธ.ค.) หวังยาวถึง 10 ม.ค.63 หากตลาดโลกไม่เปลี่ยนแปลง มอบของขวัญ ตรึงแอลพีจี 363 บาท/ถัง ตรึงค่าเอฟที ม.ค.-เม.ย. 63 ลดค่าครองชีพ พร้อมกางแผนงานปี 2563 กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทั้งราคาปาล์มจากนโยบายบี 10 แจ้งเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน ดึงกองทุนอนุรักษ์ฯรับมือภัยแล้ง ฯลฯ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) วานนี้( 25 ธ.ค.) ได้เห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุน/ ชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันทุกชนิดลดลง 1 บาทต่อลิตรมีผลตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม2562-10 มกราคม 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชนซึ่งเป็นช่วงเดินทางเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่กับประชาชน
ซึ่งแนวทางดังกล่าวทำให้สภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 86.47 ล้านบาทต่อวัน(จาก 8.01 ล้านบาทต่อวันเป็น 94.48 ล้านบาทต่อวัน)หรือจ่ายเพิ่มชึ้นในช่วงบรรเผลกระทบค่าครองชีพ 1,383.52 ล้านบาทในช่วง 26 ธ.ค62.-10 ม.ค.63 โดย ณ วันที่ 24 ธ.ค. ฐานะกองทนน้ำมันฯสุทธิอยู่ที่ 38,409 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันฯ 43,407 ล้านบาท บัญชีแอลพีจี ติดลบ 4,998 ล้านบาท
"มาตรการนี้เป็นเพียงระยะสั้นที่เราได้ดำเนินการเพื่อลดค่าครองชีพประชาชนตามที่ประกาศไว้แต่ได้เพิ่มเติมเป็นการลดราคาน้ำมันทุกชนิดลง อย่างไรก็ตามผูค้าน้ำมันนำโดยบมจ.ปตท.-บมจ.บางจากได้ประกาศตรึงราคาน้ำมันจนถึงวันที่ 2 ม.ค.2563 ดังนั้นหากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้นก็อาจจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ค้าที่จะเปลี่ยนแปลงแต่คาดว่าระดับราคาน้ำมันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก นอกจากนี้ยังมีนโยบายตรึงราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนที่ระดับ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมไม่มีกำหนดและตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) เดือนมกราคม 2563- เม.ย.2563 "นายสนธิรัตน์กล่าว
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2563 ยังคงสานต่อนโยบายที่จะส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและชุมชนซึ่งวางกรอบแนวทางไว้ 6 เรื่องหลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้ดำเนินการเรื่องนี้ซึ่งจะเร่งให้เกิดขึ้นภายใน 6 เดือนแรกของปี 63 โดยเฉพาะควิกวินโดยจะเน้นเอาชุมชนและพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน และใช้วัสดุทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงเป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาให้ร่วมกับเอกชน และยืนยันจะดำเนินการอย่างโปร่งใส ซึ่งจะเบื้องต้นกำหนดไว้ 4 โมเดลจำนวน 700 เมกะวัตต์คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุน 7 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ยังจะเดินหน้านโยบายส่งเสริมดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานมีผล 1 ม.ค. 63 และปั๊มน้ำมันทุกแห่งจะจำหน่ายบี 10 ทดแทนบี 7 ครบภายใน 1 มี.ค. 63 ซึ่งจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)ยกระดับราคาปาล์มให้เกษตรกรซึ่งผลจากนโยบายนี้ทำให้ราคาปาล์มได้ปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากนั้นมองไปยังการส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 เป็นน้ำมันพิ้นฐานต่อไปในปี 63 ที่จะยกระดับราคาน้ำมันสำปะหลังและอ้อย
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมีนโยบายที่จะบริหารเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปีงบ 2563 วงเงิน 10,000 ล้านบาทที่จะส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์สูบน้ำบาดาลเพื่อรองรับปัญหาภัยแล้งในปีหน้า อย่างไรก็ตามเพื่อความยั่งยืนยังจะส่งเสริมให้เกิดธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อแก้ไขการขาดน้ำระยะยาว เป็นต้น นอกจากนี้จะเร่งการวางแผนพลังงาน 5 แผนเพื่อให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2563
นอกจากนี้ ยังจะเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนปิโตรเลียมไทย-กัมพูชาเพื่อเสริมความมั่นคงพลังงานของไทยในระยะยาวควบคู่ไปกับการเปิดประมูลปิโตรเลียมเพื่อให้สิทธิ์เอกชนสำรวจและผลิตรอบใหม่ในประเทศในปี 2563 และแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่จะต้องทำเป็นแพคเกจที่มองทั้งรถ ค่าไฟฟ้า รองรับ จะสรุปแผนดำเนินงานทั้งภาพรวมในอีก 2 เดือนหน้า เป็นต้น
"ปี 63 นั้นมอบให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งสรุปการเจรจากับเชฟรอน กรณีค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณที่ก่อนหน้าได้ระงับการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการออกไปก่อนแล้ว และวางบทบาทให้ไทยเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าและ LNG ซึ่งคาดว่าจะสามารถเกิดการซื้อขายได้จริงภายในไตรมาสที่ 3"นายสนธิรัตน์กล่าว