xs
xsm
sm
md
lg

โลกคิดบัญชีมนุษย์เร็วเกินคาด

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์



ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้รับรู้ถึงวิกฤตด้านความแปรปรวนของสภาวะอากาศเป็นอย่างมากในปี 2019 มีความหลากหลายเช่นหมอกควันพิษปกคลุมเมืองใหญ่ต่างๆ ผู้คนเสียชีวิตจากปัญหาอุทกภัย แผ่นดินถล่ม พายุไซโคลนและไฟป่า ภาวะภัยแล้งยืดเยื้อ

นอกจากนั้นยังมีคลื่นความร้อนอันตรายจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ส่งผลให้เมืองขนาดใหญ่เล็กหลายแห่งเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ ชุมชนต้องอยู่ในความลำบาก

นี่ไม่ใช่ปัญหาความผิดปกติของสภาวะอากาศ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความรุนแรงเหตุอากาศแปรปรวนในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก เช่นหายนะจากภัยธรรมชาติต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รุนแรงเกินกว่าที่เคยเกิดและคาดไว้

นี่เป็นส่วนหนึ่งของรายงานด้านสภาวะอากาศแปรปรวนรวบรวมโดยองค์กรเอสแคป สะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบของภาวะอากาศเช่นนี้ จะเป็นสิ่งที่คนในภูมิภาคต้องเผชิญ

ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เฮเลน เรแกน รายงานว่าที่ผ่านมาได้มีเสียงเรียกร้องในการประชุมสุดยอดด้านภาวะโลกร้อน อากาศแปรปรวนหลายครั้ง พร้อมกับคำมั่นว่าจะพยายามจัดการปัญหานี้ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายจนเกินแก้ไข

ปัญหาภาวะอากาศแปรปรวน โลกร้อนในมุมมองของคนในประเทศที่พัฒนาแล้วบ่งชี้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องมีแผนจัดการอย่างเร็วและต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริง วิกฤตเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีผลกระทบต่อประชาชนทุกระดับ

กลุ่มประเทศที่เผชิญภาวะอากาศวิกฤตได้เรียกร้องให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังมากกว่าเป็นเรื่องที่ถกกันในวงการวิชาการ นักศึกษาได้เดินขบวนเรียกร้องในเมืองเชนไน ในเดือนพฤศจิกายน 2019 เพราะเอเชียเป็นภูมิภาคที่สุ่มเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติมากที่สุด

ยังมีปัญหาการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศเอเชีย และการพัฒนาเมืองส่วนใหญ่ก้าวไปเร็วกว่าการทำแผนสร้างเครือข่ายระบบสาธารณูปโภค มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การโยกย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่เมืองใหญ่เพื่อหางานทำ

สภาวะเช่นนั้นทำให้เกิดปัญหาในระบบต่างๆ เช่นการจัดหาน้ำ อาหารให้เพียงพอ เมืองขนาดใหญ่ เช่น มุมไบ เซี่ยงไฮ้ กรุงเทพฯ โฮจิมินห์ และจาการ์ตา ซึ่งเมืองพื้นที่ต่ำใกล้ชายฝั่งมหาสมุทร ทำให้เสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและภาวะอากาศแปรปรวนรุนแรง

ในอีกหลายทศวรรษจากนี้ไป จะมีเมืองขนาดใหญ่ชายฝั่งทวีปขยายตัวอย่างรวดเร็ว และการเคลื่อนย้ายของประชาชนจากชนบทสู่สังคมเมือง ขณะที่จำนวนประชากรของโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการก่อเกิดสังคมเมืองอย่างรวดเร็ว

ประเทศในเอเชียที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว และพึ่งพาถ่านหินเป็นพลังงาน ส่งผลให้ระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นสูง เป็นปัญหาภาวะโลกร้อนแม้ประเทศขนาดใหญ่ เช่น อินเดีย และจีนได้หันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

ความมั่งคั่งขยายตัวพร้อมกับระบบตลาดผู้บริโภค นำไปสู่ความต้องการสินค้าที่จำเป็นต้องใช้การระบายความร้อน เช่น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ สินค้าใช้สิ้นเปลือง

ขณะที่เมืองใหญ่ที่มั่งคั่งเช่นฮ่องกงสามารถจัดการให้มีระบบป้องกันความเสี่ยงภัยได้ระดับหนึ่ง ประเทศที่มีประชาชนยากจนต้องอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงจากสภาวะแวดล้อมเกิดภัยพิบัติมากที่สุดในโลก เมื่อเกิดภาวะอากาศแปรปรวนสร้างความเสียหาย

เหตุจากภัยธรรมชาติต่างๆ ทำให้ก่อเกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ผลกระทบต่อการผลิตอาหาร แหล่งน้ำต่างๆ สภาพเศรษฐกิจ และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน

“ถ้าไม่มีมาตรการจัดการป้องกันเกี่ยวกับวิกฤตสภาวะอากาศ เราจะต้องเผชิญกับอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างน้อย 3 องศาภายในสิ้นศตวรรษนี้ และจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์” เลขาธิการองค์การอุตุนิยมโลก นายเพตเตริ ตาลาส กล่าว

“เรายังห่างไกลจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ในที่ประชุมว่าด้วยภาวะโลกร้อนที่ปารีส” นายตาลาส บอก เหตุที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงอันตราย

องค์การยูเอ็นดีพีได้เตือนว่าประเทศซึ่งมีพื้นที่ต่ำในหมู่เกาะแปซิฟิก เช่น ทูวาลู ถูกมองว่าเป็นกลุ่มอยู่ในความเสี่ยงสูงต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และประชาชนในหมู่เกาะซามัว ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ ก็เริ่มรับรู้ถึงภัยจากภาวะโลกร้อน

ที่เห็นได้ชัดคือระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านี้คาดกันว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในเวลา 20 ปี แต่ปรากฏว่าคนที่พื้นที่ต่ำได้เห็นแล้วว่ามันเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด และหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ที่ว่าด้วยภาวะโลกร้อนมีรายงานแล้วเช่นกัน

การศึกษาในเดือนพฤษภาคมปี 2019 ระบุว่าภาวะก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิที่สูงขึ้น การละลายของธารน้ำแข็ง และแผ่นน้ำแข็งสามารถทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากกว่า 2 เมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้ ถ้าระบบระบายความร้อนยังเป็นไปอย่างที่เป็นอยู่

ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 2 เมตร ประชาชนมากกว่า 187 ล้านคนต้องอพยพไปอยู่ที่สูง ส่วนใหญ่ในเอเชีย รวมทั้งเซี่ยงไฮ้ รายงานการศึกษายังเตือนว่าเมืองชายฝั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ส่วนหนึ่งของเวียดนามและกรุงเทพฯ อาจจมอยู่ใต้น้ำในปี 2050

การปรับตัวเพื่อรับสภาพกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มาตรการต่างๆ เช่นการป้องกันชายฝั่งทะเล และโครงสร้างพื้นฐาน การปลูกป่าชายเลน และกำหนดบริเวณที่จะต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม

หลายประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกต้องเร่งปรับตัว มีการติดตั้งสถานีพร้อมระบบเตือนภัย การวัดระดับน้ำทะเล การปลูกพืชซึ่งรับสภาพการรุกคืบของน้ำทะเล นอกจากนั้นยังมีปัญหาด้านความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลลดลงรวดเร็วด้วย

ความขาดแคลนของอาหารจะนำไปสู่การบริโภคอาหารผ่านกระบวนการแปรสภาพ หลายประเทศต้องนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร ต้องปรับตัวและอาหารซึ่งสามารถส่งผลต่อสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงจากการที่เคยบริโภคอาหารสด มาเป็นอาหารกระป๋อง

พายุรุนแรงและภัยพิบัติ จึงเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์และธรรมชาติเอาคืน
กำลังโหลดความคิดเห็น