xs
xsm
sm
md
lg

ทางออก-ทางรอด...ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน
ด้วยเหตุเพราะใครต่อใคร...ไม่ว่าในบ้านเรา หรือระดับโลก ออกจะห่วงๆ วิตกกังวล เรื่องความเป็นไปทางเศรษฐกิจในช่วงปีหน้าฟ้าใหม่ ระดับถึงกับพูดๆ กันติดปากทำนองว่า “ปีนี้เผาหลอก-ปีหน้าเผาจริง” อะไรประมาณนั้น ปิดฉากสัปดาห์นี้...เลยคงต้องขออนุญาตไปลองหยิบเอาแง่มุมบางอย่าง บางประการ ที่ฟังแล้ว...อาจพอช่วยให้เกิดความสบายอก สบายใจ ขึ้นมามั่ง แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี...

ซึ่งคงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง “สงครามการค้า” ระหว่างคุณพ่ออเมริกากับคุณพี่จีนสักเท่าไหร่นัก...ที่แม้พอหาข้อยุติ พอตกลงกันได้ในระดับ “เฟสแรก” และพอช่วยให้เกิด “สัญญาณในแง่บวก” อยู่พอประมาณ แต่โดยเนื้อหา รายละเอียด ของข้อตกลงดังกล่าว ก็ดูจะออกไปทาง “เปลือกๆ” หรือเป็นแค่ “น้ำจิ้ม” เท่านั้นเอง ขณะที่โดยส่วนลึก หรือโดยยุทธศาสตร์ชาติของทั้งคู่ ยังหนักไปทาง “แทบอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้” เช่นเดิม ดังนั้น...ทั้งสองฝ่ายคงต้องต่อสู้ โรมรันพันตูกันไปอีกตราบนานเท่านาน ไม่ว่าจะในทางการเมือง การค้า การทหาร ชนิดอาจถือเป็น “สงครามเย็นยุคใหม่” ไปแล้วก็ว่าได้...

เพียงแต่ในสงครามที่ว่า...อาจพอสรุปได้ว่า สำหรับคุณพี่จีนแล้ว ออกจะหนักไปทาง “สู้เพื่ออนาคต” หรือเน้นหนักไปในแนวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยี ประเภท “AI” “5G” “6G” ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ อันถือเป็น “พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ในอนาคตของจีน ตามแนวทาง “Made in China 2025” นั่นแล ขณะที่คุณพ่ออเมริกันนั้น หนักไปทาง “สู้เพื่อปกป้องอดีต” ความพยายามกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งของอเมริกา หรือ “America Great Again” เลยหนักไปทางประเภท ฟื้นอุตสาหกรรมถ่านหิน ขุดหาแก๊ส หาน้ำมันจากชั้นหินดินดาน ฯลฯ ไปพร้อมๆ กับการหาทาง “เตะตัดขา” คุณพี่จีน ไม่ให้เหิรฟ้า คว้าดาว ให้จงได้...

และระหว่างหันหน้ากันคนละทาง สร้างดาวกันคนละดวง ช่วงชิงไปสู่สวรรค์ ใครชนะ-ใครแพ้ ใครเป็นคนหลงทาง คงต้องไปติดตามกันเอาเอง แต่ที่น่าตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ก็คือว่า แม้จะถูก “เตะตัดขา” กันขนาดไหนก็ตาม จากข่าวคราวล่าสุดที่บริษัทเทคโนโลยีสื่อสารของจีน อย่างบริษัท “หัวเว่ย” ยังสามารถผงาดขึ้นเป็นบริษัทมือถือ (สมาร์ทโฟน) อันดับ 2 ของโลก จากยอดขายปี ค.ศ. 2018 อยู่ที่ 14.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่มาปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 17.7 เปอร์เซ็นต์ ห่างจากบริษัทสมาร์ทโฟนอันดับ 1 อย่าง “ซัมซุง” แห่งเกาหลีใต้ ที่มียอดขายอยู่ที่ 21.3 เปอร์เซ็นต์ เพียงแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ แถมยังแซงหน้าบริษัท “แอปเปิล” ของอเมริกาที่ร่วงไปอยู่อันดับ 3 มียอดขายอยู่แค่ 13.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง อันนี้...ก็อาจบ่งบอกอะไรบางอย่างได้อยู่พอสมควร...

อย่างไรก็ตาม...สิ่งที่น่าสนใจสำหรับความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกช่วงหลังๆ นี้ ก็คือการที่บรรดา “ผู้บริโภค” นับวันได้กลายมาเป็นตัวกำหนดความเป็นไปทางเศรษฐกิจ มากกว่ายุคเดิมๆ ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และอย่างเห็นได้โดยชัดเจน อย่างเช่น การขึ้น-การลงของ “ราคาน้ำมัน” ที่ทุกวันนี้...มันชักไม่ได้ขึ้นอยู่กับบรรดาประเทศ “ผู้ผลิต” ไม่ว่าอเมริกา โอเปก หรือรัสเซีย ฯลฯ แต่เพียงล้วนๆ เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย ว่าจะเป็นไปในรูปไหน???

ดังเช่นที่บทรายงานของสำนักข่าว “RT” เรื่อง “China & India will be the two countries dictating oil price in 2020” ได้นำเสนอไว้เมื่อช่วงวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยนำเอาความเห็นของนักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสด้านสินค้าการเกษตรและพลังงานแห่งสำนักข่าวรอยเตอร์ ชื่อว่า “นายJohn Kemp” มาอ้างอิงไว้พอให้เห็นภาพ ว่าด้วยปริมาณความต้องการ (Demand) น้ำมันของจีนที่โตกันชนิดปีละ 5.5 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย หรือวันละ 13.5 ล้านบาร์เรลเป็นอย่างน้อย และอินเดียที่โตกันปีละ 5.1 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย หรือ 5.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะผู้ที่เคยบริโภคเคยซดน้ำมันสูงสุดในโลกอย่างสหรัฐฯ นั้น แม้ยังซดหนักเป็นปกติ แต่โดยปริมาณความต้องที่เพิ่มขึ้นเพียงปีละ 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต่ำกว่าจีน-อินเดียไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า ด้วยเหตุนี้...ปริมาณความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้นๆ ของจีนและอินเดียนั่นเอง คือสิ่งที่ช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมัน ไม่ให้ต้องร่วงลงไปกว่านี้!!!

ชนิดแม้ว่าปริมาณการผลิต (Supply) น้ำมันในช่วงหลังๆ มันออกจะท่วมตลาด ล้นตลาด โดยเฉพาะน้ำมันที่ผลิตจากชั้นหินดินดานหรือน้ำมัน “Shale Oil” ของอเมริกาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่กระนั้นระดับราคาน้ำมันก็ยังไม่ถึงกับ “ตกจากหอคอย่น” เหมือนอย่างบางช่วง บางระยะ สิ่งที่เรียกว่า “อุปสงค์” หรือ “ความต้องการในการบริโภค” หรือ “Demand” ก็แล้วแต่ มันจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ไม่เพียงแต่เป็นตัวกำหนดระดับความเป็นไปของราคา แต่ยังรวมถึงความเป็นไปทางเศรษฐกิจในระดับโลกมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆและอย่างเห็นได้โดยชัดเจน...

และสิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า...ไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่อง “น้ำมัน” เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการบริโภคด้านอื่นๆ ที่เป็นอะไรซึ่งมาแรงแซงโค้งไม่น้อยไปกว่ากัน ใครที่เคยอ่านข้อเขียน บทความของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ผู้มีนามว่า “นายMatthias Lomas” แห่งบริษัทที่ปรึกษาและสถาบันวิจัยตลาดโลกอย่าง “Euromonitor” เรื่อง “Chinese Consumer will Change the Global Economy” ที่เขียนเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 โน่นเลย ก็น่าจะพอนึกภาพได้บ้างว่า “พลังการบริโภค” ของบรรดากุมารจีนทั้งหลายนั้น สามารถชี้เป็น-ชี้ตายความเป็นไปของเศรษฐกิจในอนาคต ได้มาก-น้อยเพียงใด...

คือโดยสรุปคร่าวๆ...นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสรายนี้ พยายามชี้ให้เห็นว่า แม้ตัวเลข “GDP” ของจีนช่วงหลังๆ จะไม่ได้ออกอาการมหัศจอรอหันการันยอเหมือนยุคอดีต จากที่เคยโตระดับตัวเลข 2 หลัก ลดลงเหลือแค่ 6-7 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจ 5 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ในปีหน้า (2020) แต่การที่คนจีนกว่า 400 ล้านคน ถูกทำให้หายจน หรือถูกยกระดับขึ้นเป็น “ชนชั้นกลางรุ่นใหม่” ประเภท “คนป่ามีปืน” ทั้งหลาย ที่มีรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยประมาณ 16,000-34,000 ดอลลาร์ สิ่งเหล่านี้มันมีความสำคัญซะยิ่งกว่าการโต-ไม่โตของตัวเลข “GDP” ประเทศจีนเป็นไหนๆ ดังที่ “Sarah Boumphery” หนึ่งในนักวิจัยของ “Euromonitor” อธิบายไว้ว่า “ด้วยเหตุเพราะตลาดจีนเป็นตลาดที่ยังไม่ได้โตเต็มที่ ดังนั้น...แม้ว่า GDP ของจีนจะลดลง แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคในจีน ยังคงคึกคัก แข็งแรง อยู่เช่นเดิม และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ล้ำหน้าไปกว่าการมองแต่เฉพาะตัวเลข GDP ในจีนเท่านั้น”...

การที่จีนได้กลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของประเทศผู้ส่งออกถึง 43 ประเทศในโลกนี้ ขณะที่ผู้ซึ่งเคยบริโภคสูงสุดในโลกอย่างสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่สุดของประเทศผู้ส่งออกเพียงแค่ 32 ประเทศเท่านั้น ความต้องการของบรรดา “คนป่ามีปืน” ทั้งหลาย จึงเป็นอะไรที่สามารถเปลี่ยนโลก หรือกำหนดชะตากรรมความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกอย่างมิอาจปฏิเสธ จากความต้องการสินค้าระดับพื้นฐาน กลายมาเป็นสินค้าคุณภาพ สินค้าแบรนด์เนม สินค้าเพื่อรสนิยม เพื่อสุขภาพ ฯลฯ ได้ทำให้ “ตลาดจีน” กลายเป็น “คำตอบ” สำหรับการดิ้นรนของแต่ละประเทศ ในภาวะที่ทุกสิ่งทุกอย่างกำลัง “ถดถอย” ยิ่งเข้าไปทุกที ไม่ว่าตลาดสำหรับสินค้าอุปโภค-บริโภค ตลาดท่องเที่ยว การศึกษา และสุขภาพ ฯลฯ ฯลฯ ดังนั้น...แม้ว่า “เจ๊กแดง” นั้น อาจดูน่าเกลียด น่ากลัว สำหรับใครต่อใครอยู่บ้าง แต่ถ้าหากมองถึง “ความอยู่รอด” ใน “โลกแห่งความเป็นจริง” แล้ว ก็อย่าถึงกับต้องไปขนลุก ขนพอง ขนคอตั้งจนเกินเหตุ คิดซะว่า “เล้ง...อยู่สะพานขาวแค่นี้เอง!!!” ก็อาจพอช่วยเยียวยาอะไรต่อมิอะไรได้มั่ง...


กำลังโหลดความคิดเห็น