ท่าทางชักจะ “โกบิ๊ก” ไปกันใหญ่เข้าไปทุกที...สำหรับการประท้วง การจุดไฟในนาครขึ้นมาในประเทศอินตะระเดีย ด้วยเหตุอันเนื่องมาจากกฎหมายสัญชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยการให้สถานะพลเมืองต่อบรรดาผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ที่เรียกสั้นๆ ย่อๆ ว่า “CAB” (Citizenship Amendment Bill) คือจากที่เคยลุกฮือกันในรัฐแถบๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างรัฐอัสสัม และตรีปุระ มาถึงทุกวันนี้...ลามเข้าไปถึงแถวๆ เบงกอลตะวันตก ไม่ว่ารัฐอุตตรประเทศ พิหาร ไปจนรัฐเกรละ แถบอินเดียภาคใต้โน่นเลย ฯลฯ เกิดรายการลงถนน แฟลชม็อบ สกายวอล์คกันไปเป็นแถบๆ...
ส่วนเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลีนั้น...ก็ออกจะดุเดือดเลือดพล่านมิใช่น้อย โดยเฉพาะในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอิสลาม อย่าง “Jamia Millia Islamia University” ชนิดต้องงัดแก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระสุนจริง ยิงเข้าใส่บรรดาผู้ประท้วงที่น่าจะเป็นนักศึกษาซะเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ตัวเลขการเจ็บ การตาย เริ่มน่าขนลุก ขนพอง ขึ้นมามั่งแล้ว คือตายไปแล้ว 6 บาดเจ็บร่วม 100 สำหรับชาวบ้าน ชาวช่อง ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้รักษาความสงบเรียบร้อย ต้องหามไปหยอดน้ำเกลือ น้ำข้าวต้ม ไม่น้อยกว่า 35 ราย ขณะที่รายการ “เผามันเลยครับพี่น้อง...ผมรับผิดชอบเอง” เริ่มปรากฏให้เห็นในแต่ละแถบ แต่ละพื้นที่ ทั้งรถโดยสาร รถส่วนบุคคล ไปจนตึกราม อาคาร สถานีรถไฟ ฯลฯ โชติช่วงชัชวาลย์ไปด้วยเปลวเพลิง อย่างน่าตกตะลึงพรึงเพริดเป็นอย่างยิ่ง...
สำหรับการงัดเอาวิธีการ มาตรการ “ปิดอินเทอร์เน็ต” ไปพร้อมๆ การ “ประกาศเคอร์ฟิว” ในแต่ละเมือง แต่ละรัฐ...จะพอช่วยทุเลาเบาบางอะไรต่อมิอะไรลงไปได้มั่งหรือไม่ อย่างไร??? อันนี้...ก็อาจพูดลำบาก เพราะระหว่างนายกฯ อินเดีย “นายนเรทรา โมดี” ท่านพยายามหาทางผ่อนคลาย ความโกรธกริ้วฉิวฉุนของบรรดาผู้ประท้วง ด้วยการออกมา “ทวีต” ข้อความไว้ซะชนิดหยดย้อยพยายามเอาน้ำเย็นเข้าลูบแบบสุดๆ โดยระบุไว้ว่า “ข้าพเจ้า...อยากจะให้ความมั่นใจต่อพี่ชายและน้องสาวทั้งหลายในรัฐอัสสัม (ที่ผู้คน 1 ใน 3 เป็นชาวมุสลิมจากจำนวนประชากร 32 ล้านคนและเป็นจุดเริ่มต้นการประท้วง) ว่าอย่าได้วิตกกังวลไปเลย หลังจากกฎหมาย CAB ได้ผ่านการอนุมัติไปแล้ว เพราะข้าพเจ้ากล้ารับประกันว่า จะไม่มีใครที่ถูกลิดรอนสิทธิ คุณลักษณะพิเศษโดยเฉพาะ รวมทั้งวัฒนธรรมอันสวยสดงดงามไปจากท่านทั้งหลายได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่าง...ยังคงรุ่งโรจน์และพร้อมที่จะเติบโตต่อไปได้เสมอๆ” แต่อย่างที่บรรดาพวกฝ่ายค้าน อย่างพรรคคองเกรส ได้ออกมา “ทวีต” ตอบโต้ข้อความดังกล่าวแบบชนิดฉับพลัน-ทันทีนั่นแหละ ประมาณว่า “ท่านนายกฯ เอ๋ย...ท่านลืมไปแล้วหรือว่า บรรดาพี่ชายและน้องสาวในรัฐอัสสัมทั้งหลาย คงไม่ได้มีโอกาสที่จะรับรู้ถึงการให้หลักประกันใดๆ ของท่านได้เลย ด้วยเหตุเพราะท่านได้สั่ง...ปิดอินเทอร์เน็ต...ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้น” นี่...มันก็เลยออกไปทาง “ได้อย่าง-เสียอย่าง” อยู่พอสมควรเหมือนกัน...
แต่เอาเป็นว่า...ไม่ว่าเหตุการณ์ประท้วงในอินตะระเดีย จะลุกลามบานปลาย หรือจะทุเลาเบาบางลงไปหรือไม่ อย่างไร ในอีกไม่นานนับจากนี้ สิ่งที่สามารถหยิบเอามาเป็นอุทาหรณ์สอนใจไว้เป็นเบื้องแรก ก็น่าจะได้แก่ “ความประมาท” หรือความมั่นอก มั่นใจ ต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองจนเกินไป ของพรรครัฐบาล อย่างพรรค “ภารติยะ ชนตะ” หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “BJP” นั่นเอง อาจด้วยเหตุเพราะการเลือกตั้งเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยอาศัยความเป็น “ชาตินิยมฮินดู” ตลอดไปจนความรุ่งเรือง เติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้สามารถกวาดเก้าอี้ในสภาฯ มาได้ถึงเกือบ 300 เก้าอี้ จากจำนวน 542 เก้าอี้ ทิ้งขาดพรรคการเมืองคู่แข่ง อย่าง “พรรคคองเกรส” ที่เหลือที่นั่งอยู่แค่ 49 เก้าอี้ ชนิดเรียกว่า “พ้นน้ำ” ระดับแห้งลงไปถึงตาตุ่มโน่นเลย การแสดงออกถึงความเป็นชาตินิยมฮินดู มันเลยเป็นไปแบบสุดฤทธิ์ สุดหลอด หรือแสดงให้เห็นจากกฎหมาย “CAB” ที่ว่า...
ทั้งๆ ที่เรื่อง “ศาสนา” ตลอดไปจนเรื่อง “ชนกลุ่มน้อย” ในประเทศอินตะระเดียนั้น...ต้องถือเป็นเรื่องอ่อนไหว สุดแสนจะเซนซิทีฟเอามากๆ มาโดยตลอด ที่ต้อง “แยกประเทศ” ออกเป็นอินเดีย เป็นปากีสถาน แม้เคยร่วมต่อสู้เพื่อเอกราชกับอังกฤษมาด้วยกันตั้งแต่ต้น ก็ด้วยเหตุเพราะความเป็นมุสลิม เป็นฮินดูนั่นเอง ถึงจะขนถ่ายผู้คน อพยพข้ามแดนกันเป็นล้านๆ ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1947 หรือหลังอังกฤษถอนตัวออกไป ใครที่เป็นฮินดูก็อพยพจากฝั่งปากีสถานมาอยู่อินเดีย ใครที่เป็นมุสลิมก็ขนข้าวขนของจากฝั่งอินเดียไปอยู่ในปากีสถาน ในบังกลาเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดลบล้างรากเหง้าของปัญหา รวมทั้งสิ่งที่ยังถูกทิ้งค้างให้เป็นปัญหาอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ ไม่ว่าในฝั่งอินเดีย ฝั่งปากีสถาน หรือแม้แต่พื้นที่ระหว่างกลางอย่าง “แคชเมียร์” เป็นต้น...
โดยที่บรรดาปัญหาเหล่านี้...มันคงไม่อาจแก้ไข เยียวยา ด้วยความมั่งคั่ง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงล้วนๆ เพราะออกจะเป็นสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจ จิตวิญญาณ อันไม่อาจอาศัย “ความเจริญเติบโตทางวัตถุ” มาปิดบัง กลบเกลื่อน ให้ทุเลาเบาบางลงไปได้เลย ตรงกันข้าม...ความมั่งคั่ง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจกลับเป็นตัว “สร้างปัญหา” ให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไปอีกก็ไม่แน่!!! ไม่งั้น...นักต่อสู้เพื่อเอกราชผู้ปลดปล่อยอินเดียออกจากอังกฤษ อย่างท่าน “มหาตมะ คานธี” ท่านคงไม่คิดจะกล่าวเตือนบรรดาผู้นำ ผู้มีอำนาจในอินเดีย เอาไว้ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ อย่างน่าคิด น่าสะกิดใจเอามากๆ ดังข้อความอันปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ที่ระบุไว้ดังนี้...
“ข้าพเจ้าได้ยินคนในประเทศเราหลายคน...กล่าวว่า เราอยากมั่งคั่งเช่นเดียวกับอเมริกา โดยเราไม่ต้องนำวิธีของเขามาใช้ แต่ข้าพเจ้ากล้าเสี่ยงที่จะแนะนำว่า ความพยายามเหล่านี้ ถ้าคิดลงมือกระทำแล้ว...ก็จะล้มเหลว เพราะเราไม่สามารถที่จะเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา ผู้ที่มีความพอดี และผู้ที่ใช้ความรุนแรงไปพร้อมๆ กัน เป็นไปไม่ได้เลยที่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่ชาวอินเดียยึดมั่นศรัทธามาโดยตลอด จะยังสิงสถิตอยู่ในแผ่นดินอันเต็มไปด้วยหมอกควัน เสียงเครื่องจักรจากโรงงาน หรือแผ่นดินอันเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่รีบเร่ง ท่ามกลางยวดยานที่แออัดไปด้วยผู้คน โดยที่เขาเหล่านั้นต่างไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่ เป็นผู้ขาดสติ ใจลอย ไม่เติบโตทางอารมณ์ มีชีวิตอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า ที่ต่างฝ่ายต่างพร้อมที่จะขับไล่ไสส่งซึ่งกันและกัน เหตุที่ข้าพเจ้ายกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เรามักคิดไปว่า...เป็นเครื่องหมายแสดงความเจริญเติบโตทางวัตถุนั้น มันแทบไม่ได้ช่วยเพิ่มความสุขให้เราได้เลยแม้แต่น้อย บัณฑิตเนห์รู (ผู้นำอินเดียคนต่อมา) ต้องการอุตสาหกรรม เพราะท่านคิดว่าถ้าหากโอนเป็นของรัฐแล้ว มันจะรอดพ้นความชั่วของระบบทุนนิยม แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว...บรรดาความชั่วร้ายเหล่านี้ ไม่ได้อยู่แต่ในระบบใด ระบบหนึ่ง แต่มันฝังรากอยู่ในสันดานของลัทธิอุตสาหกรรม โดยไม่ว่าเราจะอยู่ในระบบไหนๆ ก็ไม่อาจขจัดความชั่วร้ายเหล่านั้นลงไปได้หมด...”
อันนี้...ก็อาจถือเป็นอุทาหรณ์สอนใจข้อต่อไป เพราะนอกจากความปั่นป่วนวุ่นวาย เท่าที่ปรากฏให้เห็นจากการประท้วงซึ่งกำลังแผ่ลุกลามไปแทบทั่วประเทศ อันเนื่องมาจากความเป็น “ชาตินิยมฮินดู” ของพรรคภารติยะ ชนตะ แต่กระทั่งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจภายใต้การนำของพรรครัฐบาลพรรคนี้ ยังอาจส่งผลให้ “พระผู้เป็นเจ้า” คงไม่คิดสิงสถิตอยู่ในแผ่นดินอันเต็มไปด้วยหมอกควัน และการข่มขืน อย่างอินตะระเดียทุกวันนี้ ดังที่ท่าน “มหาตมะ คานธี” ท่านว่าเอาไว้จริงๆ นั่นแล...