เท่าที่ฟังๆ จากข่าวคราวต่างประเทศช่วงหลังๆ นี้...อย่างน้อยก็มีอยู่ 2 รัฐบาล คือรัฐบาลอินเดีย และอิหร่าน ที่พยายามรับมือกับการ “จุดไฟในนาคร” หรือการลุกฮือขึ้นประท้วง การก่อความวุ่นวายของผู้คนภายในประเทศ ด้วยกรรมวิธีการ “ปิดอินเทอร์เน็ต” เป็นเบื้องแรก ส่วนจะได้ผลหรือไม่ อย่างไร??? คงต้องคอยติดตามกันต่อ ในฐานะถือเป็นบทเรียน บทศึกษาที่น่าสนใจเอามากๆ โดยเฉพาะในสภาวะที่ “โลกแห่งความเป็นจริง” ที่มันชักเป็นอะไรที่ทับซ้อนกับ “โลกเสมือนจริง” หรือ “โลกอินเทอร์เน็ต” ชนิดแทบเป็นเนื้อเดียวกันเข้าไปทุกที...
เพราะถ้าว่ากันตามผลสำรวจวิจัยของบริษัท “We are Social” ประเทศอังกฤษ และองค์กร “Hootsuite” เมื่อช่วงปีที่แล้วนี่เอง ขณะที่จำนวนชาวโลกผู้ซึ่งอาศัยอยู่ใน “โลกแห่งความเป็นจริง” มีจำนวนประมาณ 7,952 ล้านคน ผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ใน “โลกเสมือนจริง” หรือต้องอาศัยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันและกันนั้น ปาเข้าไปเกือบๆ จะค่อนโลก หรือประมาณ 4,021 ล้านคนเป็นอย่างน้อย และที่ต้องใช้ชีวิตในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นประจำ หรือเป็นกิจวัตร ก็ปาเข้าไปถึง 3,196 ล้านคน โดยถ้านับรวมไปถึงบรรดาผู้ที่อาศัย “มือถือ” เป็นอุปกรณ์ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จำนวนมือถือเท่าที่ถูกใช้ๆ กันอยู่ในโลกทุกวันนี้ ก็มีไม่ต่ำไปกว่า 5,135 ล้านเครื่อง...
ด้วยเหตุนี้...การที่อะไรต่อมิอะไรใน “โลกเสมือนจริง” มันจะสอดแทรก ซึมซ่าน เข้ามาใน “โลกแห่งความจริง” จึงกลายเป็นสิ่งซึ่งมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยถ้าหากไม่สามารถควบคุมความเป็นไปใน “โลกเสมือนจริง” ให้มันนิ่งๆ หรือให้มันจริงๆ เข้าไว้ โอกาสที่จะส่งผลให้ “โลกแห่งความจริง” ต้องสับสนวุ่นวาย ต้องระส่ำระสาย หรือต้องเกิดรายการ “จุดไฟในนาคร” ให้ลุกพึ่บพั่บขึ้นมา ย่อมเป็นไปไม่ได้ไม่ยากส์ส์ส์ ดังนั้น...โดยแนวโน้ม มันจึงเป็นไปอย่างที่องค์กร “Freedom House” ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบเสรีภาพทางประชาธิปไตยและการแสดงความคิดเห็นของผู้คน เขาได้ออกมาโวยวายเอาไว้ตั้งแต่เมื่อช่วง 2 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2017) นั่นแหละว่ารัฐบาลในประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่จะหันมาลดทอน จำกัดเสรีภาพของผู้คนในโลก ด้วยการหาทางควบคุม ตรวจสอบระบบการติดต่อสื่อสาร และการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต ชนิดเข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ...
และถึงแม้องค์กร “Freedom House” ที่ว่านี้...จะเคยจัดอันดับให้ “ประเทศจีน” ถือเป็น “ผู้ที่บิดเบือนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตที่แย่ที่สุดในโลก” แต่สำหรับประเทศที่ไม่ถึงกับ “กินเส้น” กับจีนมากมายสักเท่าไหร่นัก แถมหลังๆ ยังพยายามเอียงไปหาคุณพ่ออเมริกาอยู่พอสมควร อย่าง “ประเทศเวียดนาม” เพื่อนใกล้เรือนเคียงของเรานี่เอง กลับเริ่มถูกนักวิเคราะห์ วิจารณ์ ที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเสรีภาพ การแสดงความคิด ความเห็นของผู้คน อย่าง “Justin Sherman” แห่ง “Duke University’s School of Law” ตั้งข้อสังเกตไว้ในข้อเขียน บทความ เรื่อง “Vietnam’s Internet Control : Following in China’s Footsteps?” เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ “The Diplomat” เมื่อวัน-สองวันมานี้ ประมาณว่า...เวียดนามกำลังคิดเดินตามรอยเท้าของจีน หรือไม่ อย่างไร? ด้วยเหตุเพราะ “กฎหมายอินเทอร์เน็ต” ของเวียดนาม ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2020 ที่จะถึงนี้ ออกจะหนักหน่วงรุนแรง ไม่น้อยไปกว่าคุณพี่จีนแต่อย่างใด...
คือพร้อมที่จะให้อำนาจรัฐบาลเข้าไปควบคุมตรวจสอบ บล็อกข้อมูล ลบข้อมูล ฯลฯ บรรดาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหลาย ไม่ว่าโดยเปิดเผย หรือไม่เปิดเผย ได้ด้วยกันทั้งสิ้น แถมยังเพิ่มแรงกดดันให้กับบรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ หรืออะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ก” นั้นเคยถูกรัฐบาลเวียดนามกล่าวหาว่ากำลังละเมิดกฎหมายไซเบอร์ของเวียดนาม ด้วยการเปิดพื้นที่ให้กับ “การใส่ร้ายป้ายสี” ผู้อื่น โดยเฉพาะรัฐบาล และควรต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลเวียดนามเข้าไปควบคุมตรวจสอบอย่างเป็นระบบและเป็นกิจการ ไม่งั้น...อาจต้องถูกถีบจากการให้บริการในเวียดนามแบบเดียวกับจีน เอาเลยก็ไม่แน่!!!
และอันที่จริงแล้ว...ก็คงไม่ใช่แต่เฉพาะเวียดนาม ซึ่งถือเป็น “คอมมิวนิสต์” แบบเดียวกับจีนเท่านั้น กระทั่งประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย (แม้จะมี “ลักษณะเฉพาะ” ก็ตาม) อย่าง “สิงคโปร์” เป็นต้น ก็ดูจะไม่สบายกาย สบายใจสักเท่าไหร่ ที่เสรีภาพทางประชาธิปไตยในโลกเสมือนจริง มันชักล้นทะลักเข้าในโลกแห่งความเป็นจริง อย่างชนิดควบคุมแทบไม่ได้ ไม่เพียงแต่การออกกฎหมายควบคุมอินเทอร์เน็ต ที่ก่อให้เกิดการประท้วงของพวก “Free My Internet” ในสิงคโปร์ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 โน่นเลยช่วงล่าสุด...เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง รัฐบาลสิงคโปร์ถึงกับต้องงัดเอากฎหมายที่เรียกชื่อไว้ว่า “Protection from Online Falsehoods and Manipulation Act” หรือเรียกกันสั้นๆง่ายๆ ว่า “Fake News Law” หรือกฎหมายเพื่อต่อต้าน “ข่าวปลอม” กันโดยเฉพาะ ออกมาบังคับใช้กันอย่างเป็นเรื่อง เป็นราว ให้อำนาจรัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ตัดสิน วินิจฉัย ว่าอะไรคือ “ข่าวจริง-ข่าวปลอม” กันแน่ แถมให้อำนาจลงโทษผู้ที่เผยแพร่ข่าวปลอมในโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยการสั่งปรับเป็นเงินได้ถึง 1 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ (72,108 ดอลลาร์สหรัฐ) ไม่ก็สั่งให้จำคุกได้ยาวถึง 10 ปี หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ส่วนบรรดาผู้ให้บริการหรือผู้เปิดพื้นที่ให้กับผู้คนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประเภทกูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ ถ้าไม่คิดทำตามคำสั่งของรัฐบาลสิงคโปร์ ไม่ยอมให้ควบคุมตรวจสอบ หรือสั่งระงับ ก็มีสิทธิ์ถูกปรับเป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 20,000 ดอลลาร์ เอาเลยถึงขั้นนั้น...
เหตุที่บรรดาประเทศต่างๆ...ต้องงัดเอากฎหมายทำนองนี้ ออกมาบังคับควบคุม ตรวจสอบกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่า การตระหนักถึง “ข้อเท็จจริง” ที่ว่า ความเป็นไปใน “โลกเสมือนจริง” ทุกวันนี้ มันชักมีบทบาท อิทธิพล เหนือกว่า “โลกแห่งความเป็นจริง” ยิ่งเข้าไปทุกที และด้วยเหตุที่โลกชนิดนี้...มันไม่มีขอบเขต พรมแดน แถมมีขีดความสามารถในการลอดรัฐ ข้ามรัฐ หรือกระทั่ง “แทรกแซง” รัฐแต่ละรัฐได้ไม่ยาก “ความมั่นคงของรัฐ” ใดๆ ก็แล้วแต่ ไม่ว่าทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จึงต่างตกอยู่ใน “ความเสี่ยง” ไปด้วยกันทั้งสิ้น แม้โลกชนิดนี้จะก่อให้เกิด “ประโยชน์” ได้อย่างมากมายมหาศาลเพียงใดก็ตาม แต่ย่อมสามารถนำมาซึ่ง “โทษ” ระดับอภิมหันต์ได้เสมอๆ...
ส่วนประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาทั้งหลาย...ที่มีจำนวนประชากรประมาณ 69 ล้านคน และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่น้อยไปกว่า 57 ล้านคน (ตามสถิติปี ค.ศ.2018) มีมือถือไม่น้อยกว่า 93.61 ล้านหมายเลข มีจำนวนผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก และแถมเป็นผู้ใช้เวลาในแต่ละวันกับโลกเสมือนจริงสูงที่สุดในโลก คือประมาณ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน แนวโน้มในการควบคุม และตรวจสอบความเป็นไปในโลกชนิดนี้ มันจะหนักหน่วงรุนแรง เข้มข้น หรือไม่ อย่างไร? คงต้องไปใคร่ครวญพิจารณากันเอาเอง แต่เอาเป็นว่า...เมื่อไหร่ที่ความสับสนวุ่นวายในโลกเสมือนจริง มันเกิดไหลทะลักเข้ามาสู่โลกแห่งความจริงแบบชนิดพลั่กๆๆ ก็ขออธิษฐาน สวดมนต์ ภาวนา ให้สามารถ “ปิดอินเทอร์เน็ต” ได้ทันท่วงที ทันเวลา ก็แล้วกัน...