xs
xsm
sm
md
lg

‘ไม่ประหารก็ตายด้วยมลภาวะพิษ’

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


หมอกควันปกคลุมทั่วนิวเดลี
นักโทษในคดีข่มขืนแล้วโยนเหยื่อทิ้งจากรถประจำทางในอินเดีย ในปี 2012 เป็นข่าวฉาวโฉ่ทั่วโลก อยู่ในระหว่างรอการประหารชีวิต ยังมีอารมณ์ตลกร้ายเมื่อรอวันตาย

ให้ทนายความยื่นคำขอต่อคณะพิจารณาคดีของกระบวนการยุติธรรม

“ไม่จำเป็นต้องประหารชีวิตข้าพเจ้า เพราะอากาศเต็มไปด้วยมลภาวะเป็นพิษกำลังจะฆ่าข้าอยู่แล้ว” นั่นคือคำอ้างของนายอัคเชย์ ธากูร์ ซึ่งเป็น 1 ในนักข่มขืนนักศึกษาสาวบนรถประจำทางในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย

เป็นเรื่องที่สังคมอินเดียเดือดเป็นฟืนเป็นไฟ ชายทั้ง 6 คนผลัดกันหมุนเวียนข่มขืนเหยื่อสาวบนรถประจำทางซึ่งวิ่งตระเวนไปรอบเมือง ไม่ใส่ใจต่อเสียงเรียกร้องอ้อนวอนให้หยุดการกระทำอันโหดร้าย เมื่อหนำใจแล้วก็จับเหยื่อโยนจากรถเมล์

เหยื่อถูกเปิดเผยชื่อว่า “นีรภยา” อายุเพียง 23 ปี เสียชีวิต 2 สัปดาห์หลังจากถูกรุมข่มขืน เพราะทนอาการบาดเจ็บสาหัสไม่ไหว นอกจากถูกกระทำชำเราแล้วยังบาดเจ็บเพราะถูกโยนจากรถเมล์ด้วย ผู้กระทำความผิดทั้ง 6 ถูกจับกุมตัวได้

ศาลตัดสินให้ประหารชีวิตจำเลย 4 ราย อีก 1 รายยังเป็นเยาวชนขณะกระทำความผิด อีก 1 รายฆ่าตัวตายในขณะที่ถูกจองจำ ธากูร์เป็น 1 รายที่รอการประหาร

ตำรวจเปิดเผยว่าช่วงที่ 6 ชายประกอบอาชญากรรมโหดเหี้ยมนั้น รถเมล์วิ่งไปรอบเมืองนานเกือบ 1 ชั่วโมง เมื่อหนำใจก็โยน “นีรภยา” และเพื่อนสาวลงจากรถ

ทนายความของธากูร์ยื่นคำร้องต่อศาลสูงอินเดียวันจันทร์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่วันก่อนครบรอบ 7 ปีของการข่มขืนซึ่งเกิดขึ้นวันที่ 16 สื่ออินเดียคาดการณ์ว่าทั้ง 4 รายอาจโดนแขวนคอในวันครบรอบนั้น ให้เป็นนัยสำคัญสำหรับคดีร้ายแรง

อินเดียมีปัญหาการข่มขืนแล้วฆ่า แต่ละเหตุมีความเหี้ยมโหด เช่น ฆ่ารัดคอ เผาทั้งเป็น เกิดขึ้นบ่อยครั้งในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นข่าวดังทั่วโลก ทำให้มีการรณรงค์ต่อต้านการกระทำรุนแรงต่อสตรี ซึ่งถูกกดขี่อย่างมากในสังคมอินเดีย

แม้แต่พยานในคดีข่มขืนซึ่งกำลังจะเดินทางไปให้การก็ถูกจับเผาข้างถนน

คำร้องของธากูร์ให้งดประหารชีวิตไม่น่าจะเป็นผล ดูเหมือนจะเป็นตลกร้าย แม้ในความเป็นจริงสภาวะอากาศเสียเป็นพิษต่อร่างกายในกรุงนิวเดลีถือว่าติดอันดับ 1 ของโลก ช่วงต้นปี 7 เมืองในอินเดียอยู่ในกลุ่ม 10 เมืองอากาศพิษทั่วโลก

นายสาทิศ มาเนสชินเด ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบอกว่าคำร้องของธากูร์ ไม่น่าจะได้รับการพิจารณา “ข้ออ้างนี้จะใช้เลี่ยงการประหารชีวิตไม่ได้”

นางอาษา เทวี มารดาของเหยื่อบอกสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่าตัวนางเบื่อหน่ายกับการรอคอยการแขวนคอผู้สังหารลูกสาวเธอเต็มทนแล้ว “ไม่อยากจะบอกว่า 7 ปีของการรอคอยมันเป็นความเจ็บปวดรวดร้าวใจเพียงใด มันทรมานจิตใจฉันมาก”

นางกำลังรอผลของความยุติธรรมสำหรับชีวิตของลูกสาว “เราเฝ้ารอวันแล้ววันเล่า อยากจะเห็นการแขวนคอ แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังไม่มีการลงโทษสำหรับอาชญากรรมที่พวกนั้นกระทำขึ้นกับลูกสาวของฉัน”

เธอบอกว่าความร้าวรานใจจะจบลงเมื่อนักข่มขืนตายตกไปตามกันเท่านั้น!

รูปแบบของการทารุณกรรมเหยื่อถูกข่มขืนครั้งนั้นเป็นการท้าทายกฎหมายอย่างแรง ทำให้ประชาคมโลกให้ความสนใจต่อสภาพของการกดขี่ชีวิตของหญิงอินเดียซึ่งอยู่ในกลุ่มด้อยสิทธิ และเฝ้ามองว่าคดีเช่นนั้นจะถูกปฏิบัติอย่างไร

ผลของคดีโหดนั้นทำให้อินเดียออกกฎหมายใหม่เพิ่มโทษคดีข่มขืนแล้วฆ่า นางเทวีเล่าทั้งน้ำตาว่าเธอยังจำได้ถึงสภาพทุกข์ทรมานของลูกสาวซึ่งอยู่ในอาการบาดเจ็บ ดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดจากอาการรุนแรง สุดท้ายก็ไปไม่รอด

“สำหรับชีวิตของฉัน ฉันไม่รู้สึกว่ามีพระเจ้าอีกต่อไปแล้ว ไม่มีใครจะให้พลังสำหรับฉันเพื่ออยู่ต่อสู้กับชีวิต แต่แล้วความเจ็บปวดนั่นแหละได้กลายเป็นพลัง” เธอบอก แต่ก็ยังต้องรอความยุติธรรมแท้จริง คือการจบชีวิตของนักโทษทั้ง 4 ราย

คำร้องของธากูร์ ยังบรรยายอีกว่าอากาศในคุกและนอกคุกของนิวเดลีเหมือนห้องรมแก๊สพิษ และน้ำในเมืองหลวงเต็มไปด้วยพิษเช่นกัน “เมื่อชีวิตอยู่ต่อไปก็สั้นอยู่แล้วด้วยสภาพอากาศเป็นพิษ แล้วจะประหารชีวิตไปทำไม” ทนายอ้าง

อากาศนิวเดลีเลวร้ายสุดๆ ในเดือนที่ผ่านมา คุกที่ขังธากูร์อยู่ในย่านมายาปูริม ซึ่งเป็นพื้นที่มีมลภาวะพิษเข้มข้น อยู่ในเขตด้านตะวันตกของเมืองหลวง แวดล้อมด้วยโรงงานสารพัด ซึ่งมีแต่พ่นควันและฝุ่นพิษกลบบริเวณใกล้เคียง

ในเดือนพฤศจิกายน ภาวะเป็นพิษของอากาศนิวเดลีสูงกว่าความร้ายแรงปกติถึง 3 เท่าตัวของภาวะอันตราย สูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 20 เท่า คำอ้างว่าอากาศเป็นพิษ ไม่ต้องประหารชีวิตก็ได้ ถือว่าผิดแผกจากรายอื่นๆ

แม้จะเป็นรายแรก ไม่มีโอกาสได้รับการพิจารณา แต่ทนายของธากูร์ก็ยังยื่นให้ศาลสูงพิจารณา และอาจเป็นตัวเร่งให้ประหารชีวิตนักโทษเร็วกว่าเดิมก็ได้เพื่อไม่ต้องให้ทรมานกับสภาพอากาศเป็นพิษในคุก

ก่อนหน้านี้คุกอินเดีย “ติหาร์” ถือว่าเป็นคุกสภาพโหดที่สุดสำหรับนักโทษ จนเกิดการปฏิรูป ปรับปรุงสภาพให้ดีขึ้นสำหรับผู้ถูกจองจำระยะยาว แต่ก็ยังเป็นคุก

แม้สภาพคุกจะเลวร้าย โทษประหารชีวิต คดีข่มขืนยังมากถึง 32,000 ในปี 2017 และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น