ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อย่างที่ทราบกันแล้วว่า ปัญหาการจราจรติดขัดเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเกิดมลพิษทางอากาศ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเกิดจากการที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะรถเก่าที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูง เรียกว่ายิ่งรถติดยิ่งปล่อยควันพิษพวยพุ่งในอากาศ
เพราะฉะนั้น ในเวลานี้รัฐบาลจึงมีนโยบางเร่งด่วนในการ “คุมเข้มรถยนต์เก่า” ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศเรื่อง “กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562” มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา
อธิบายง่ายๆ ก็คือ ประกาศกระทรวงฯ กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้ว “รถก่า- มือสอง” เป็นสินค้าต้องห้าม “ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย” โดยนัยลดปัญหามลพิษจากรถเก่า และหากพบฝ่าฝืนให้ทำลายทิ้งได้ทันที
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามฯ ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วหลายชนิด ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้นำเข้ารถเก่ามาใช้ในประเทศ เนื่องจากส่งผลกระทบก่อให้เกิดมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อมสูง หากพบผู้ฝ่าฝืนรถจะถูกยึดและทำลายทันที โดยจะไม่มีการนำไปประมูลเหมือนเดิม และมีโทษปรับ 5 เท่าของมูลค่าที่นำเข้า
โดยยกเว้นการนำเข้ารถยนต์ลักษณะพิเศษใช้แล้ว เช่น รถหัวลาก รถเครนและปั่นจั่น และการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วที่ได้รับบริจาคของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การสาธารณกุศล เช่น รถพยาบาลและรถดับเพลิง เหล่านี้สามารถนำเข้าได้ซึ่งต้องขออนุญาตเป็นกรณี ขณะที่การนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วประเภทอื่นๆ เช่น การนำเข้ารถยนต์ที่มีเอกสิทธิ์ทางการทูต รถยนต์ชั่วคราว รถยนต์ต้นแบบเพื่อวิจัยและทดสอบ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ปัจจัยเกิดขึ้นปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อันดับ 1 มาจากปัญหาการจราจรติดขัด เมื่อรถวิ่งช้าลงหรือจอดนิ่ง การที่รถใช้ความเร็วรอบต่ำมากๆ เป็นช่วงที่เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพในการเผาไหม้ต่ำลงไปด้วย เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์เก่าอายุเกินสิบปี ทำให้อัตราการปล่อยมลพิษสูงมาก
นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวภาคเอกชน “กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์” เตรียมเข้าหารือกรมสรรพสามิต เพื่อเสนอแนวคิด “กองทุนเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดรถยนต์เก่า 10 ปี” เพื่อลดมลพิษจากรถเก่า และกระตุ้นยอดขายรถใหม่ป้ายแดง
แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ต.ค. 2562) การขายเติบโตแบบถดถอยเพียง 0.6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เป็นผลพวงจากสงครามการค้าที่มีผลทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว นำสู่การเสนอมาตรการกระตุ้นการซื้อรถยนต์คันใหม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
โดยช่วงกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้เข้าหารือกับกรมสรรพสามิต 2 เรื่อง คือ 1. กองทุนเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดรถยนต์เก่า 10 ปี และการกำจัดซากรถ 2. กองทุนบริหารจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับกองทุนเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดรถยนต์เก่า ต่อยอดมาจากแนวคิดเพิ่ม แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ด้วย โดยทางกรมสรรพสามิต เห็นว่าหากดำเนินการกับแบตเตอรี่แล้วก็น่าจะรวมซากรถยนต์เข้าไปด้วย
อ้างอิงข้อมูลกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 30 พ.ย. 2562 ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีตัวเลขรถที่จดทะเบียนสะสมมากกว่า 40 ล้านคัน โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (รย.1 - รย.2) จำนวนกว่า 10 ล้านคัน รถบรรทุกส่วนบุคคล (รย. 3) จำนวนกว่า 6.7 ล้านคัน
ส่วนรถยนต์เก่าอายุเกิน 10 ปี ที่จดทะเบียนก่อนปี 2552 ปัจจุบันมีประมาณ 26 ล้านคัน
ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ประเทศไทยมีโครงสร้างราคารถยนต์ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้บริโภคใช้รถยาวนาน แม้จะมีสภาพทรุดโทรม ดังนั้นจึงเห็นว่าควรจะมีมาตรการจูงใจในการเปลี่ยนรถ ในรูปแบบการลดภาระค่าใช้จ่าย
“ผู้ประกอบการที่เป็นค่ายรถยนต์กำลังคุยกันอยู่กับกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอมาตรการที่เป็นรายละเอียด อย่างไรก็ตามแนวคิดที่เราจะนำเสนอนี้ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน เพราะภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นทำอย่างไรจะกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถใหม่ ไม่เพียงเท่านั้นมาตรการนี้ยังจะช่วยลด PM 2.5 ที่ออกมาจากรถเก่า” นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานฯ กล่าว
สำหรับแนวคิดการจัดตั้งกองทุนเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดรถยนต์เก่า 10 ปี เนื่องจากปัจจุบันรถเก่าอายุรถยิ่งมากยิ่งเสียภาษีถูก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มองว่าควรมีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย พ.ร.บ. ขนส่ง และ พ.ร.บ. รถยนต์ เกี่ยวกับควบคุมการใช้รถเก่าที่ไม่มีการบำรุงรักษา เช่น เก็บค่าธรรมเนียมรถเก่าอายุเกินกว่า 10 ปี หรือมีมาตรการสนับสนุนให้ซื้อรถใหม่ โดยผู้ใช้รถยนต์สามารถนำซากรถเก่ามาแยกชิ้นส่วนหรือรีไซเคิล เพื่อนำไปเป็นส่วนลดในการซื้อรถใหม่ เป็นต้น
"ยังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอกรมสรรพสามิตในการจัดการรถเก่าที่ไม่มีการบำรุงรักษา เป็นรถเก่าที่ไม่ใช่รถสะสม ซึ่งหากเป็นไปได้ก็จะช่วยลดมลพิษบนท้องถนน และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น" นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานฯ กล่าว
อีกทั้ง ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการจัดการเกี่ยวกับรถเก่าและซากรถ ในประเด็นดังกล่าว นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว สนับสนุนแนวคิดการจัดการรถเก่าของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสมาคมฯ เคยนำเสนอแนวคิดในการออกกฎควบคุมและบริหารจัดการรถเก่า โดยเสนอให้มีโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ เช่นเดียวกับในประเทศจีนหรือประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ เมืองไทยมีรถเก่าหรือรถที่เราเรียกว่าสุสานรถอยู่เป็นจำนวนมาก ควรมีระบบการจัดการที่ดี
สำหรับแนวคิดดังกล่าว เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือมาตรการ “แคช ฟอร์ คลังเกอร์ส” (Cash for Clunkers) ของรัฐบาล บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ช่วงปี 2552 ซึ่งสหรัฐฯ เผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อุตสาหกรรมรถยนต์เข้าสู่ภาวะวิกฤต รัฐบาลจึงเกิดโครงการช่วยจ่ายสำหรับผู้ที่นำรถเก่าไปแลกซื้อรถใหม่ โดยกระแสตอบรับดีและกระตุ้นตลาดได้อย่างน่าพอใจ
ในส่วนรายละเอียดต่างๆ ยังคงต้องรอความชัดเจนต่อไป ทว่า หากรัฐบาลไทยรับลูกแนวคิดการจัดตั้ง “กองทุนเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดรถยนต์เก่า 10 ปี” จะส่งผลกระทบทันที กับรถยนต์เก่าอายุเกิน 10 ปี ที่จดทะเบียนก่อนปี 2552 ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 26 ล้านคัน
การส่งเสริมให้ใช้รถใหม่แทนรถเก่าลดมลพิษทางอากาศ แนวคิดดีแต่ในทางปฏิบัติคงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้มีแรงจูงใจสิทธิพิเศษต่างๆ ก็ตาม ที่แน่ๆ ผู้ใช้รถคงต้องตั้งรับการปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีใหม่ ซึ่งในปัจจุบันรถเก่าจะเสียภาษีถูกกว่ารถใหม่ เรียกว่า ยิ่งนานปีภาษียิ่งลดลง ย้อนแย้งกับนโยบายที่รัฐต้องการสนับสนุนรถยนต์ที่ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ต่ำ และต้องไม่ลืมว่ารถเก่าปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูงปรี๊ด เท่ากับว่า ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 จะพุ่งสูงตามไปด้วย