xs
xsm
sm
md
lg

จับตาชงยุบอนค.ปมเงินกู้ กกต.สงสัยนิติกรรมอำพราง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-กกต. ถกปกเงินกู้อนาคตใหม่ 11 ธ.ค.นี้ ตั้งธงพิจารณา 2 ประเด็น เผยมีข้อสงสัยนิติกรรมอำพราง เหตุมีพิรุธจ่ายคืนเป็นเงินสด 5 งวด 26.8 ล้าน ห่างกันงวดละ 10 วัน เอาเงินจากไหนมาใช้หนี้ ชี้ตามกฎหมาย ปิดช่องกู้เงิน เพราะไม่อยากให้คนเดียวครอบงำพรรค ซ้ำไม่เปิดช่องให้นำรายได้พรรคไปใช้หนี้เงินกู้ จับตาฟันผิด 3 แนวทาง ชงยุบพรรค ให้นายทะเบียนเสนอความเห็น และแจ้งข้อกล่าวหา "ธนาธร-พรรคอนาคตใหม่" ด้าน "ช่อ" ปูดมีเอกสารหลุด ยันมีธงชัดเจนตัดสิทธิการเมืองแกนนำพรรค 5ปี และถึงขั้นยุบพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของสำนักงาน กกต. กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 191 ล้านบาท ในวันที่ 11 ธ.ค.2562 โดยมีรายงานว่า กกต. ได้ตั้งประเด็นพิจารณาเรื่องนี้ 2 ประเด็น คือ 1.การกู้เงินดังกล่าวถือเป็นการบริจาคของบุคคลเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปีตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และ 2.การกู้เงินดังกล่าวถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ โดยเห็นว่าเมื่อพิจารณาข้อกฎหมาย มาตรา 62 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน มาดำเนินกิจการพรรคการเมืองได้ เช่นเดียวกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2550 ที่จะกำหนดให้พรรคสามารถมีรายได้อื่น และพรรคการเมืองในขณะนั้น ก็มีการกู้เงิน และนำมาลงบัญชีในหมวดรายได้อื่น

ขณะที่ในส่วนข้อเท็จจริง หากบอกว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินบริจาค ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บริจาคได้เพียง 10 ล้านบาท หากจะบอกว่าที่เหลือเป็นการบริจาคเกิน ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ และจากเอกสารหลักฐานที่พรรคอนาคตใหม่ส่งมาส่วนหนึ่ง ระบุว่า สัญญาเงินกู้ฉบับแรก เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2562 ที่พรรคอนาคตใหม่ ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร จำนวน 161,200,000 บาท และตามสัญญาระบุว่า พรรคจะมีการชำระเงินคืนภายใน 3 ปี โดยในปีแรก 80 ล้านบาท ปีที่สอง 40 ล้าน และปีที่สาม 41 ล้านบาทนั้น พรรคได้รายงานว่าปัจจุบันเงินกู้ดังกล่าว ได้มีการชำระแล้ว 26.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 งวด ห่างกันครั้งละ 10 วัน และชำระเป็นเงินสดทั้งหมด ซึ่งก็ยังมีข้อน่าสงสัยว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินของใคร เบิกถอนมาจากไหน และเอาเข้าบัญชีใคร หรือถ้านำเงินที่เป็นรายได้ของพรรค ตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 62 มาชำระ ก็จะถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายมาตราดังกล่าว กำหนดเรื่องที่มารายได้ของพรรคไว้ 7 ประการ และไม่ให้นำรายได้เหล่านี้ไปใช้เพื่อการอื่น นอกจากการดำเนินกิจการของพรรค หากมีการนำรายได้ของพรรคไปจ่ายหนี้เงินกู้ ก็จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา กรรมการบริหารพรรค มีสิทธิติดคุก

นอกจากนี้ จะต้องมีการพิจารณาถึงรายรับรายจ่ายของพรรคว่ามีการลงบัญชีเงินจำนวนนี้ไว้ในหมวดใด การรับบริจาคที่หากนำเงินบริจาคไปชำระคืน กระทบต่อยอดเงินบริจาคหรือไม่ และความสามารถของพรรคในการชำระหนี้ เพราะจากรายงานงบการเงินของพรรคอนาคตใหม่ในรอบปี 2561 ที่มีการรายงานต่อ กกต. เมื่อเดือนเม.ย.2562 ก็ยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ ดังนั้น การให้พรรคกู้เงินจึงอาจจะเข้าข่ายของการเป็นนิติกรรมอำพราง เป็นการได้เงินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก็จะเข้าข่ายตาม มาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีความผิดตาม มาตรา 92 (3) เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคได้

"เรื่องการกู้ยืมเงิน เป็นกฎหมายเอกชน ยืมเงินมาต้องใช้ แต่คุณจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ในเมื่อกฎหมายห้ามไม่ให้เอาเงินรายได้ของพรรคไปใช้อย่างอื่น นอกเหนือจากเพื่อการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรค ซึ่งเงินกู้ ไม่ถือเป็นกิจการทางการเมืองของพรรค เราจึงสงสัยว่าจะเป็นนิติกรรมอำพราง กฎหมายตอนปี 2550 เปิดช่องให้พรรคมีรายได้อื่นๆ พรรคจึงมีการกู้เงินจากคนที่เป็นนายทุน บุคคลนอกพรรค แล้วก็เกิดปัญหาการครอบงำโดยบุคคลคนเดียว กฎหมายปี 2560 จึงมีการแก้ไข ตัดไม่ให้มีเรื่องของรายได้อื่นๆ ออก ให้พรรคไม่ใช้เงินเกินตัว โดยกำหนดไว้ว่าให้ใช้เงินจากทุนระเดิม ค่าสมาชิกพรรค เพื่อไม่ต้องการให้เกิดการครอบงำจากบุคคลคนเดียว แล้วทำให้การเมืองผิดเพี้ยน เราก็อุตสาห์ตัดระบบนี้ แต่เขาก็ยังมาทำแบบนี้อีก"แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ หากในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว กกต.เห็นว่าเข้าข่ายมีความผิด ตามกฎหมายมีช่องทางที่ กกต. ดำเนินการได้ 3 ช่องทาง คือ 1.กรณีเป็นความปรากฏต่อ กกต. ซึ่งหาก กกต.เห็นว่าเป็นความผิดยุบพรรค ก็สามารถเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เลย 2.ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็น แล้วเสนอต่อ กกต. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง และ 3.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ เพื่อให้มาชี้แจงข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับที่ กกต. เคยทำในกรณี มีมติให้นายธนาธร มาชี้แจงกรณีการถูกร้องเรื่องถือครองหุ้นสื่อ เพื่อดำเนินคดีอาญาตาม มาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกกต. ว่าจะดำเนินการช่องทางใด

ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีมีเอกสารต้องสงสัยว่าอาจจะหลุดออกมาจาก กกต. ระบุความเห็นของบุคคลระดับสูงใน กกต. ในลักษณะที่มีการระบุให้ดำเนินคดีอาญาแก่นายธนาธร และกรรมการบริหารพรรคในคดีเงินกู้ ว่า มีความน่าสงสัยการดำเนินการของ กกต. เป็นไปโดยมีธงทางการเมือง และใบสั่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะได้มีการชี้นำว่าจะให้นายธนาธร และกรรมการบริหารพรรค มีความผิดในคดีอาญา ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี พร้อมนำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยุบพรรคให้ได้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น