หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังมีคดีของ ส.ส.และ ส.ว.อีกเกือบหนึ่งร้อยคน ที่รอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีเดียวกัน
แบ่งเป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 32 คน พรรคฝ่ายค้าน 32 คน และ ส.ว. 21 คน
ส.ส./ส.ว.เหล่านี้มีชื่อถือหุ้นในกิจการที่ระบุวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชน แต่ได้มีการทำหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนอื่นใดจริงหรือไม่ แต่ละคนต้องนำพยานหลักฐานพิสูจน์ให้ศาลรัฐธรรมนูญเชื่อ
สมมติว่า มี ส.ส.โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กิจการที่ถือหุ้นอยู่ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ แน่นอนว่า วาทกรรมยุติธรรมสองมาตรฐานจะถูกพรรคอนาคตใหม่งัดขึ้นมาโจมตีศาลรัฐธรรมนูญทันที โดยไม่สนใจว่า เหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลในแต่ละกรณีแตกต่างจากคดีของธนาธรอย่างใด
โอกาสที่ ส.ส./ส.ว.จำนวนมากจะรอดพ้นจากการถูกเพิกถอนสมาชิกภาพมีอยู่สูงมาก หากพิจารณาคำพิพากษาในคดีของธนาธร
ในคำพิพากษานี้ การพิจารณาว่ากิจการใดๆ เป็นการทำหนังสือพิมพ์หรือ สื่อมวลชนใดๆ ศาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับบริคณห์สนธิของบริษัท วี-ลัค มีเดีย เลย แต่ดูว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ ซึ่งครอบคลุมถึงการทำนิตยสารด้วย จากรายได้ในงบการเงินของบริษัท วี-ลัค มีเดียที่ระบุว่า มีรายได้จากการขายโฆษณา
แม้ว่า ธนาธรจะยืนยันว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย ไม่ได้ผลิตนิตยสาร และเลิกจ้างพนักงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 อีกทั้งยังแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมว่า หยุดกิจการชั่วคราวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 แต่ศาลเห็นว่า บริษัท วี-ลัค มีเดียยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท และแจ้งยกเลิกการเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือเจ้าของกิจการตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 จึงสามารถกลับมาทำนิตยสารอีกเมื่อไรก็ได้ จึงถือว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย ยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แก่ กกต.โดยธนาธรอยู่ในรายชื่อลำดับที่ 1
หากยึดถือคำพิพากษาคดีธนาธรเป็นบรรทัดฐาน การจดแจ้งและเลิกจดแจ้งความเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือเจ้าของกิจการ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ ส.ส./ส.ว. 85 คนนี้รอดหรือไม่รอด
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จากการผลักดันของบุคคลในวงการหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น เพื่อใช้แทน พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ที่ออกในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อกำราบปราบปรามหนังสือพิมพ์ที่วิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการมีบทลงโทษที่รุนแรง โดยถือว่าบรรณาธิการเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยโดยอัตโนมัติ แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้กระทำหรือมีส่วนร่วมในการกระทำ
ในคดีธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญขอให้สำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นนายทะเบียน ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ตรวจสอบการจดแจ้งของบริษัท โซลิด มีเดีย (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นชื่อเดิมก่อนจะเปลี่ยนเป็น บริษัท วีลัค-มีเดีย พบว่า มีการจดแจ้งการพิมพ์เลขทะเบียนที่ สสช.3/2551 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และเลขทะเบียนที่ สสช.228/2553 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553
แสดงว่า มีการจดแจ้งว่า จะทำหนังสือพิมพ์แต่ไม่ได้แจ้งยกเลิก แม้จะเลิกพิมพ์แล้ว
หากบริษัทที่ ส.ส/ส.ว.รายใดในบรรดา 85 คนนี้ถือหุ้นเป็นเจ้าของอยู่ ไม่เคยไปจดแจ้งออกหนังสือพิมพ์กับสำนักหอสมุดแห่งชาติ หรือเคยแต่ไปจดแจ้งยกเลิกก่อนวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันรับสมัคร ส.ส.โอกาสที่จะได้ไปต่อมีอยู่สูงยิ่ง
แต่ใครที่มีการจดแจ้ง และไม่ได้ยกเลิก แม้ว่าจะเลิกออกหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารแล้ว หรือไม่เคยออกเลยไปจดหัวไว้เฉยๆ ก็น่าจะไม่รอดเช่นเดียวกับธนาธร