เฟซบุ๊ก “อนาคตใหม่”โพสต์ 9 ข้อควรรู้ ก่อนศาล รธน.ตัดสิน“ธนาธร”พ้นสภาพ ส.ส.หรือไม่ อ้างคดี “ดอน”ใช้เวลา 417 วันแต่คดีนี้แค่ 53 วัน แถม “ธนาธร”เป็นคนเดียวที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ขณะ กกต.สอบปากคำไม่ครบ โวไร้หลักฐานหักล้างโอนหุ้นตั้งแต่ 8 ม.ค.62 ตั้งคำถามเอาผิดธนาธรตรงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ เหน็บ มี.ส.บางคนไม่ถูกร้องศาลทั้งที่คนในประเทศรู้ว่าเกี่ยวข้องกับสื่อ
วันนี้(20 พ.ค.) ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดสถานภาพความเป็น ส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีการถือครองหุ้นธุรกิจสื่อสารมวลชน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในเวลาประมาณ 14.00 น.
เฟซบุ๊กแฟนเพจ พรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ ข้อความ 9 ข้อควรรู้ ก่อนฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีวีลัคของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ดังนี้
1. หากนับระยะเวลาตั้งแต่ขั้นตอนรับเรื่องร้องเรียนของ กกต. ไปจนถึงวันที่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการทั้งหมดของดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ใช้เวลา 417 วัน ส่วนของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ใช้เวลา 53 วัน
2. ในบรรดา ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดที่ถูกร้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาธร ส.ส. ทั้งฝั่งรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือรัฐมนตรีรวมแล้วอีกหลายสิบคน มีเพียงธนาธรคนเดียวเท่านั้นที่ถูกสั่งห้ามไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
3. กกต.ยังไม่ได้สอบปากคำพยานที่ลงลายมือชื่อในตราสารโอนหุ้นสักปาก ขณะที่ ปพพ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) กำหนดบทสันนิษฐานให้ข้อความในตราสารและสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นถือว่าถูกต้องเป็นจริง แต่ กกต.ไม่ได้แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อหักล้างบทสันนิษฐานทางกฎหมายดังกล่าว การสอบสวนไต่สวนในชั้น กกต.ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ กกต.กลับเร่งยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
4. ธนาธรได้โอนหุ้นเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ก่อนการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ และจวบจนบัดนี้ ยังไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาหักล้างบทสันนิษฐานความถูกต้องแท้จริงแห่งการโอนหุ้นดังกล่าวได้เลย
5. ในคดีนายดอน ได้มีการส่งหลักฐานบางชิ้นหลังการสืบพยานในศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญเรียกสอบพยานของดอนเพียง 3 ปาก และศาลเชื่อว่ามีการโอนหุ้นจริง ส่วนธนาธรโดนเรียกไต่สวนทั้งหมด 10 ปาก
6. บริษัท วีลัค มิได้ประกอบกิจการเป็น “สื่อมวลชน” หากแต่วีลัคเป็นกิจการรับจ้างตีพิมพ์เท่านั้น อาทิ รับจ้างตีพิมพ์นิตยสารที่แจกบนเครื่องบิน และวีลัคยังไม่มีอำนาจควบคุมเนื้อหาหรือแม้แต่ตีพิมพ์นิตยสารโดยพลการด้วย เพราะเป็นอำนาจของผู้ว่าจ้าง
7. บริษัท วีลัค ได้แจ้งหยุดกิจการต่อสำนักงานประกันสังคมแล้วตั้งแต่มกราคม 2562 บริษัทไม่มีผลิตภัณฑ์ สินค้า และพนักงาน ตั้งแต่ก่อนธนาธรสมัคร ส.ส. ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562
8. เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือต้องการไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอิทธิพลอำนาจหรือควบคุมสื่อมวลชนเพื่อนำไปเป็นคุณต่อตนเองและเป็นโทษต่อคู่แข่งทางการเมือง คำถามที่น่าสนใจคือ กระบวนการทั้งหมดที่พยายามเอาผิดกับธนาธรนั้นตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วหรือไม่?
9. ในขณะที่ธนาธรและ ส.ส. อีกหลายสิบคนกำลังร้อนๆ หนาวๆ ว่าบริษัทของตนเองที่แม้ไม่ได้ทำสื่อจริง แต่มีเขียนระบุไว้ในบริคณห์สนธิว่าประกอบกิจการสื่อด้วยนั้นจะมีความผิดหรือไม่ แต่ยังมี ส.ส. คนหนึ่งที่นั่งสบายใจในสภาเพราะไม่ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทุกคนในประเทศก็รู้ดีว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้สื่อมวลชนเครือหนึ่งเพื่อเป็นคุณแก่พรรคพวกตนเองและเป็นโทษต่อคู่แข่งทางการเมืองอย่างประจักษ์ชัด