xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พาวาร์ปไป “ออสเตรีย” ส่องรถไฟฟ้าสีน้ำเงินใหม่ รับเปิดหวูด “เตาปูน-ท่าพระ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 3-8 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” มีโอกาสร่วมคณะของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า ในการคณะผู้สื่อข่าวเดินทางเยี่ยมชมโรงงานผลิตขบวนรถไฟฟ้าของบริษัท Siemens ที่กรุงเวียนนา และเมืองกราซ ประเทศออสเตรีย

โดยได้รับเกียรติจาก นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการระบบราง BEM ร่วมด้วย MR.TOMASZ MAZUR ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท Siemens Mobility Thailand พร้อมด้วยทีมงาน เป็นหัวหน้าคณะ และให้ข้อมูลความคืบหน้าการผลิตและการประกอบรถไฟฟ้าขบวนใหม่ที่ทาง BEM เตรียมนำมาให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) เส้นทางหัวลำโพง-หลักสอง ที่ให้บริการแล้ว รวมทั้งส่วนต่อขยายเส้นทางเตาปูน-ท่าพระ ที่อยู่ระหว่างเตรียมการเดินรถในเร็วๆนี้

การเยี่ยมชมแบ่งเป็น 2 หลักๆ เริ่มที่การเดินทางไปเยี่ยมชม บริษัท Siemens Mobility Austria GmbH ที่ตั้งอยู่ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย อันเป็นโรงงานประกอบรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งทางผู้บริหาร Siemens ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ก่อนบรรยายสรุปภาพรวมของโรงงาน ที่มีการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีการจำลองรถไฟเสมือนจริงอันทันสมัย ที่ทำให้เห็นความละเอียดซับซ้อนของชิ้นส่วนประกอบต่างๆ รวมไปถึงความสำคัญในแต่ละกลไกของรถไฟฟ้า ก่อนนำคณะไปดูการกระบวนการประกอบขบวนรถไฟฟ้าจริงภายในโรงงาน 


จากนั้นได้นำคณะไปเยี่ยมชมโรงงานอีกแห่งซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองกราซ ที่เป็นโรงงานผลิตโบกี้ (แคร่ล้อ) โดยเฉพาะ ซึ่งแค่ล้อนั้นถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดหรือหัวใจของตัวรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้า เพราะมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนขบวนรถ และรองรับน้ำหนักตู้โดยสาร

โดยขั้นตอนการผลิตรถไฟฟ้าของบริษัท Siemens แต่ละขบวนนั้น จะเริ่มจากการทำตู้โดยสาร ซึ่งผลิตที่โรงงาน Siemens ประเทศตุรกี ส่วนโบกี้และระบบปฏิบัติการจะผลิตโรงงาน Siemens เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย ก่อนที่จะนำ 2 ส่วนเข้ามาประกอบที่โรงงาน Siemens กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะส่งไปขึ้นเรือขนส่งที่ประเทศเยอรมัน เพื่อส่งไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ประเทศออสเตรียไม่มีส่วนที่ติดกับทะเล

สำหรับ BEM กับ Siemens ถือเป็นคู่สัญญาที่มีความผูกพันกันมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) เดิมเส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อ ที่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค.2547 ที่นอกจากการผลิตขบวนรถไฟฟ้าให้แล้ว ทาง Siemens ยังได้เข้ามาฝึกอบรมวางรากฐานการบริการ ระบบอาณัติสัญญาณ และการซ่อมบำรุงต่างๆให้กับ BEM (เดิม บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL) ด้วย

ล่าสุด BEM ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถไฟฟ้าจาก Siemens เพิ่มอีก 35 ขบวน (ขบวนละ 3 ตู้) โดยได้เริ่มส่งมอบขบวนแรกตั้งแต่เดือน เม.ย. 2562 ถึงปัจจุบันส่งมอบไปแล้วรวม 18 ขบวน เข้าทดสอบระบบแล้ว 16 ขบวน และจะทยอยส่งมอบจนครบ 35 ขบวนภายในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อรองรับการให้บริหารส่วนต่อขยายเส้นทางเตาปูน-ท่าพระ ที่จะเริ่มทดสอบการเดินรถในช่วงปลายปีนี้ ก่อนเดินรถให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค.63 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก




เมื่อรวมกับขบวนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิมที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้ 19 ขบวน จะทำให้รถไฟฟ้าให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งหมด 54 ขบวนด้วยกัน

นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการระบบราง BEM ให้ข้อมูลว่า ขบวนรถใหม่ทั้งหมด 35 ขบวน รูปลักษณ์ต่างๆยังคล้ายของเดิม แต่ได้มีการเพิ่มเติมเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ความปลอดภัย และความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของระบบปฏิบัติการ ระบบวงจรปิดภายในขบวนรถไฟฟ้า และการติดตั้งจอระบุพิกัดว่า ตอนนี้อยู่สถานีอะไร สถานีหน้าคืออะไร เป็นต้น

“การนำคณะสื่อมวลชนมาเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยระดับโลกของบริษัท Siemens ในสถานที่จริงครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสากลของรถไฟฟ้าที่ BEM เลือกใช้ และแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ท่าพระ ในเดือน มี.ค.2563 ที่จะถึงนี้” นายวิทูรย์ ระบุ

ผู้บริหาร BEM บอกด้วยว่า จำนวนรถไฟฟ้าทั้งหมด 54 ขบวน จะรองรับอัตราการเติบโตของผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี โดยก่อนหน้านี้ทั้งระบบมีผู้โดยสารเฉลี่ย 3.5 แสนคนต่อวัน แต่หลังจากเปิดส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ส่งผลให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 4.2-4.3 แสนคนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20% คาดว่าเมื่อเปิดส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน - ท่าพระ ต้นปีหน้า ก็จะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอีกครั้ง BEM จึงได้เตรียมความพร้อมในส่วนของขบวนรถไฟฟ้าในครั้งนี้ อีกทั้งเพื่อรองรับความถี่ในการเดินรถที่ปัจจุบันอยู่ที่ 3.25 นาที/ขบวน หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก BEM สามารถปรับอัตราความถี่สูงสุดได้ถึง 2 นาที/ขบวนด้วย

ฟังแบบนี้แล้วก็มั่นใจได้เลยว่า หลัง BEM เปิดให้บริการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน “เตาปูน-ท่าพระ” ที่จะเปิดหวูดอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค.2563 นี้ แม้เพื่อนร่วมทางจะมากขึ้น แต่สะดวกสบายกว่าเดิมแน่นอน.


กำลังโหลดความคิดเห็น