วันที่ 30 มีนาคม 2563 ซึ่งนับจากนี้อีกไม่กี่เดือน รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT) หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ อีก 8 สถานี ซึ่งหมายความว่า รถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงินจะเปิดให้บริการครบวงกลม ตั้งแต่หัวลำโพง-บางซื่อ-ท่าพระ-บางแค (หลักสอง) ระยะทางรวมทั้งสิ้น 34 สถานี มีเส้นทางเป็นวงแหวนครอบคลุมพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทั้งระบบใต้ดินและยกระดับ
โดยใช้เวลาถึง 20 ปี หากนับตั้งแต่รถไฟฟ้า MRT เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2542 จากหัวลำโพง-บางซื่อ ขณะที่...ในแผนแม่บทฯ ยังเหลือส่วนต่อขยายอีก 4 สถานี จากหลักสอง-พุทธมณฑล สาย 2 ที่ยังไม่มีการก่อสร้างใดๆ
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT โดยได้รับสัมปทานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีหน้าที่ลงทุนติดตั้งระบบ จัดหาขบวนรถ และบริหารการเดินรถ
ระบบรถไฟฟ้า MRT นั้นกำหนดสเปกตัวรถที่มีขนาดใหญ่ มีอัตราความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ในการเดินรถจะใช้อัตราความเร็วเฉลี่ย 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในช่วงเริ่มต้น มีรถทั้งหมด 19 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ โดยรถไฟฟ้า 1 ขบวน (3 ตู้) บรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 886 คน หากอัดแน่นๆ จะได้ถึง 1,000 คน
สภาพการจราจรของ กทม.และปริมณฑลทำให้รถไฟฟ้าได้รับความนิยมจากประชาชนในเวลาอันรวดเร็ว ขบวนรถที่มี 19 ขบวนจึงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน เช้าและเย็น ผู้โดยสารต่อคิวยาวเหยียด หลุดจากชั้นขายตั๋วลงไปถึงพื้นถนนด้านล่างของสถานีในบางวัน
“ยิ่งวันไหนเกิดภาวะฝนตก... น้ำท่วม รถติดหนึบ รถไฟฟ้าเท่านั้นคือทางออก”
BEM ได้สั่งซื้อขบวนรถเพิ่มอีก 35 ขบวน หรือ 105 ตู้ ตั้งแต่ปี 2560 จาก บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ซึ่งเป็นรถยี่ห้อเดิม โดยจะนำมาให้บริการใน MRT ส่วนแรก และส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค ซึ่งเมื่อรวมกับรถเดิมที่มี 19 ขบวน จะทำให้มีขบวนรถถึง 54 ขบวน หรือ 162 ตู้
“วิทูรย์ หทัยรัตนา” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานปฏิบัติการระบบราง BEM เป็นหัวหน้าทีม พาผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึงโรงงานผลิตรถไฟฟ้าของบริษัท Siemens ที่กรุงเวียนนา (Vienna) และเมืองกราซ (Graz) ประเทศออสเตรีย เพื่อให้เห็นแทบจะทุกขั้นตอนของการผลิต การประกอบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT
ซึ่งตัวรถ ซีเมนส์ทำการผลิตที่ตุรกี ส่วนโบกี้ผลิตที่โรงงานของซีเมนส์ ที่ตั้งอยู่ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย และนำมาประกอบขั้นสุดท้ายที่โรงงานหลักที่เวียนนา จากการสอบถาม กระบวนการผลิต 1 ขบวนใช้เวลาราว 4 เดือน
ซึ่งวันที่คณะผู้สื่อข่าวไปถึง มีรถ 1 ขบวน (3 ตู้) ที่ผลิตเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนตรวจเช็กขั้นสุดท้าย ก่อนจะขนส่งโดยรถไฟจากเวียนนาไปยังท่าเรือ ประเทศเยอรมนี ลงเรืออีกประมาณ 6-8 สัปดาห์ ถึงจะเทียบท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย
ณ เดือน ต.ค. 2562 ซีเมนส์ส่งรถมาถึงประเทศไทยแล้ว 18 ขบวน โดยนำไปทดสอบระบบเรียบร้อยแล้ว 16 ขบวน และสามารถนำไปวิ่งให้บริการแล้วอีก 2 ขบวน อยู่ในขั้นตอนทดสอบระบบ
“จากที่เห็นกระบวนการผลิต ทำให้มั่นใจว่ารถไฟฟ้า 35 ขบวนจะสามารถส่งมอบได้ตามแผนแน่นอน โดยส่วนที่เหลืออีก 17 ขบวนจะทยอยส่งมอบจนครบในเดือน มี.ค. 2563”
@ลุ้นเปิดให้บริการส่วนต่อขยายช่วงสุดท้ายเร็วกว่าแผน
สำหรับความพร้อมในการเปิดให้บริการ MRT สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ท่าพระนั้น “วิทูรย์ หทัยรัตนา” ระบุว่า ในส่วนของการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบ power supply ระบบสื่อสาร ประตูกั้นชานชาลา ระบบเก็บเงิน เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างทดสอบ
และเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2562 ที่ผ่านมาได้มีการนำขบวนรถเปล่าขึ้นไปวิ่งทดสอบบนรางแล้วด้วย ตามแผนจะเริ่มการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Running) โดยมีพนักงานสถานี พนักงานที่เกี่ยวข้อง ประจำพื้นที่ทุกจุดในวันที่ 15 พ.ย. 2562 โดยจะทดสอบจนมั่นใจ และได้รับใบรับรองตัวระบบอาณัติสัญญาณจากซีเมนส์ และใบรับรองเริ่มให้บริการจากวิศวกรอิสระ หรือ Independent Certification Engineer : ICE ก่อนจึงจะให้ผู้โดยสารร่วมทดสอบได้
“การทดลองเดินรถส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ เชื่อว่าจะมีความรวดเร็ว เพราะเราได้ผ่านการทดสอบและเปิดเดินรถช่วงหัวลำโพง-ท่าพระมาแล้ว รูปแบบจะเหมือนกัน ปัญหาหลายอย่างเจอมาก่อนแล้ว”
สำหรับการให้ประชาชนร่วมทดสอบจะมีรูปแบบเหมือนกับการเปิดส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ที่มี 11 สถานี จึงแบ่งการเปิดออกเป็น 3 ช่วง แต่เนื่องจากช่วงเตาปูน-ท่าพระมีจำนวนสถานีน้อยกว่า เพียง 8 สถานี ดังนั้นจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ส่วนจะถึงสถานีไหน และเปิดในเวลาใดบ้างจะกำหนดอย่างเป็นทางการต่อไป
เป็นการทดลองเดินรถที่มีผู้โดยสาร ทุกอย่างเหมือนจริง แต่ยังไม่เก็บค่าโดยสาร เรียกว่า Demo Run โดยผู้โดยสารจะต้องรับเหรียญสำหรับเดินทางเข้าใช้ระบบ โดยค่าโดยสารจะขึ้นเท่ากับ 0 บาท
ส่วนการเปิดบริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมีการเก็บค่าโดยสารคือวันที่ 30 มี.ค. 2563 ตามสัญญา
@เทียบสเปก รถเก่า&รถใหม่
“วิทูรย์ หทัยรัตนา” อธิบายว่า คุณสมบัติและสเปกรถโดยทั่วไป ดีไซน์คล้ายกับรถ 19 ขบวนเดิม ทำให้ผู้โดยสารอาจจะไม่ค่อยรู้สึกหรือสังเกตกันเท่าไรถึงความแตกต่าง จะมีที่รู้สึกมากที่สุดคือ เรื่องไฟ LED ที่ให้ความสว่างมากกว่าเดิม โดยรวมเป็นการเพิ่มเติมในเรื่องความทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น จอดิจิทัลบอกตำแหน่งสถานี จากเดิมที่เป็นป้ายและมีเสียงประกาศบอกสถานี ซึ่งยังมีข้อเสียที่ผู้โดยสารอาจจะไม่ได้ฟัง และผู้พิการทางหูจะไม่ทราบ เพิ่มราวจับให้สะดวก เป็น 2 แถว และที่สำคัญ มีกล้อง CCTV ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจในเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร
โดยเมื่อรถเก่าและใหม่รวมกันครบ 54 ขบวน คาดว่าจะรองรับผู้โดยสารไปได้อีกประมาณ 10 ปี บนพื้นฐานอัตราการเติบโตของผู้โดยสารเฉลี่ย 4% ต่อปี ซึ่งหลังจากเปิดส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-หลังสอง ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 4.2-4.3 แสนคนต่อวัน ขณะที่ช่วงก่อนหน้าที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 3.5 แสนคนต่อวัน หรือเติบโตประมาณ 20%
ขณะที่ปี 2563 คาดว่าผู้โดยสารจะเติบโตก้าวกระโดด เมื่อมีการเปิดเดินรถส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ
ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT มีความถี่ในการเดินรถ ในช่วงเวลาเร่งด่วน เช้า, เย็นที่ 3.25 นาที/ขบวน การมีขบวนรถเพิ่มมากขึ้นจะทำให้สามารถปรับเพิ่มความถี่ได้ โดยระบบอาณัติสัญญาณได้ออกแบบความถี่ได้สูงสุดที่ 2 นาที/ขบวน ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น แต่หากเดินรถเต็มความจุที่ 2 นาที/ขบวนแล้ว คงต้องพิจารณาในการสั่งซื้อรถเพิ่มต่อไป โดยความยาวของชานชาลาสถานีสามารถรองรับได้ถึงจำนวน 6 ตู้ต่อขบวน
อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อรถจากซีเมนส์มีการรับประกัน (Defects Liability) หลังรับมอบเป็นเวลา 2 ปี ส่วนการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้านั้น BEM ได้ทำสัญญาจ้างซีเมนส์เป็นเวลา 10 ปี
วิทูรย์ หทัยรัตนา กล่าวว่า เมื่อรับมอบรถใหม่ครบ 35 ขบวน ทาง BEM มีแผนในการปรับปรุง หรือ Renovate รถเก่า 19 ขบวน โดยจะทยอยนำรถเก่า 19 ขบวนเข้าเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มราวจับ จอดิจิทัล กล้อง CCTV ในลักษณะเดียวกับรถใหม่ 35 ขบวน โดยจะทยอยนำรถปรับปรุงทีละ 1 ขบวน ใช้เวลาขบวนละ 1 เดือน ซึ่งจำนวนรถมีมากพอที่จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นจะไม่กระทบต่อการให้บริการแน่นอน
รถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนแห่งความหวังของคนเมือง ตอบโจทย์ช่วยแก้ปัญหาจราจรแออัด และรถไฟฟ้ายังเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของเมืองและเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม จะเห็นได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คอนโดฯ แหล่งธุรกิจ ศูนย์การค้า ผุดเป็นดอกเห็ดตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า
ตัวแปรสำคัญเห็นจะอยู่ที่อัตราค่าโดยสารที่อาจจะสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของคนไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องหาแนวทางต่อไป
ส่วนเอกชนผู้รับสัมปทานมีบทบาทหน้าที่ในการให้บริการ “ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัย สูงสุด”