ถ้าย้อนไปในอดีต การต้มตุ๋นโดยการให้ผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในการลงทุนสูงกว่าที่ธุรกิจปกติทั่วไป เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร และการลงทุนประกอบธุรกิจผลิตหรือขายสินค้า เป็นต้น จะถึงให้ได้ มิใช่ของใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ในความเป็นจริงได้เกิดขึ้นในสังคมไทยหลายครั้ง และมีหลายรูปแบบ แต่ที่กลายเป็นข่าวโด่งดังเป็นที่จดจำของผู้คน เห็นจะไม่มีใครเกินแชร์ลูกโซ่ของแม่ชม้อย ซึ่งชักชวนให้มีการลงทุนในการทำธุรกิจซื้อขายน้ำมัน
ในครั้งนั้น ได้มีผู้มาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก และในบรรดาผู้ที่มาร่วมลงทุนมีทั้งข้าราชการ และบุคคลทั่วไป
แต่ในที่สุด ธุรกิจแชร์ของแม่ชม้อยก็จบลง เมื่อผู้ร่วมลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ได้ตกลงไว้ และไปแจ้งความดำเนินคดี ศาลได้ตัดสินจำคุก และผู้ร่วมลงทุนก็เสียเงินที่ลงทุนไปถึงแม้จะได้คืนบ้างก็ไม่ครบตามที่ลงทุนไป
ต่อจากแม่ชะม้อยก็ได้เกิดการต้มตุ๋นในทำนองเดียวกันนี้อีกหลายราย และทุกรายก็จบลงด้วยการถูกผู้ร่วมลงทุนแจ้งความดำเนินคดีเมื่อไม่ได้รับผลตอบแทน และเจ้ามือแชร์ก็ติดคุกหรือไม่ก็หลบหนี ส่วนผู้ร่วมลงทุนก็สูญเสียเงินที่ลงไป
แต่ถึงกระนั้น ผู้คนในสังคมไทยก็ไม่เข็ดหลาบ และที่เป็นเช่นนี้น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ผู้ที่ถูกหลอกให้มาร่วมลงทุน ส่วนใหญ่หรือพูดได้ว่าทุกคนถูกครอบงำด้วยความโลภ และความหลง จึงตกเป็นเหยื่อของการต้มตุ๋น เนื่องจากอยากได้ผลตอบแทนมากจากการลงทุนน้อย และด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนกับการลงมือทำธุรกิจเอง ซึ่งมีทั้งเหน็ดเหนื่อย และเสี่ยงต่อการขาดทุน
2. ผู้ที่คิดจะต้มตุ๋น ก็เข้าใจอุปนิสัยของคนโลภจึงหลอกล่อ โดยการอ่อยเหยื่อจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลตามที่ตกลงทุนตรงตามกำหนดเวลาในระยะแรกๆ อาจเป็น 1-3 เดือนแรกด้วยการนำเงินของผู้มาลงทุนจ่ายคืนผู้ลงทุนเอง และระหว่างนี้ก็หาผู้ลงทุนรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าบังเอิญโชคดีมีรายใหม่เพิ่มขึ้น ก็จะดำเนินต่อไปได้ เมื่อใดที่หาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ไม่ได้หรือได้แต่น้อยกว่ารายเก่าที่มีอยู่ การจ่ายเงินคืนก็จะค่อยๆ มีอุปสรรคจ่ายไม่ตรงเวลา และในที่สุดก็ไม่จ่าย ต่อมาก็ติดต่อไม่ได้ และแล้วก็จบลงด้วยการที่ผู้ร่วมลงทุนแจ้งความดำเนินคดี ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตหลายราย และกำลังเกิดขึ้นกับรายของแม่มณี ซึ่งมีผู้ร่วมลงทุนนับพันรายได้เข้าแจ้งความ และทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมแม่มณีได้แล้วพร้อมกับสามี
ส่วนว่าผลของการดำเนินคดีเป็นอย่างไร และผู้ร่วมลงทุนจะได้เงินคืนทั้งหมดหรือไม่นั้น ถ้าอนุมานโดยอาศัยบทเรียนในอดีต และการคาดการณ์โดยอาศัยตรรกศาสตร์คงจะคาดการณ์ได้ดังนี้
1. ในส่วนของผู้ต้องหา คือ แม่มณีคงหนีไม่พ้นการจำคุกในข้อหาฉ้อโกง และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จทางคอมพิวเตอร์
2. ในส่วนของผู้ร่วมลงทุนคงจะได้เงินบางส่วนจากการเฉลี่ยคืนทรัพย์สินที่ยึดมาได้ แต่คงไม่มากเพราะเงินส่วนหนึ่งได้จ่ายคืนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผล รวมไปถึงการนำเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัว จึงเชื่อได้ว่าเหลือเงินสดและทรัพย์สินอยู่ไม่มากพอที่จ่ายคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ครบถ้วนตามที่ลงทุนไปแน่นอน
จากการเกิดขึ้นของกระบวนการหลอกลวง โดยอาศัยความโลภ และความหลงงมงายของคนดังกล่าวแล้วข้างต้น ผู้เขียนคิดว่าคงจะทำให้ผู้ที่ต้องการลงทุนในลักษณะเงินต่อเงิน คงจะได้บทเรียนและถามตนเองทุกครั้งที่มีผู้มาชักชวนให้ร่วมลงทุน ด้วยคำถามง่ายๆ เพียง 2 ข้อดังต่อไปนี้
1. ถ้าผู้ประกอบการธุรกิจสามารถทำกำไรจนถึงตัดให้แก่ผู้มาร่วมลงทุนได้สูงถึง 93% ทำไมจึงไม่หาแหล่งทุนในระบบซึ่งดอกเบี้ยถูก และสามารถกู้ได้มากพอที่จะดำเนินธุรกิจได้ และถ้าไม่ต้องการจะกู้เงินในระบบ ทำไมไม่ตั้งในรูปบริษัทและชักชวนคนใกล้ชิดเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ครั้นธุรกิจเติบโตสามารถทำกำไรได้ติดต่อกัน 3 ปี ก็สามารถนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และระดมทุนได้
2. ก่อนการจะร่วมลงทุน ทำไมจึงไม่สอบถามไปยังวงการธุรกิจประเภทเดียวกันว่าสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบการอ้างถึงในการชักชวนนั้น สามารถทำกำไรถึงขั้นแบ่งปันผลหรือจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ได้เท่ากับที่เขาเสนอท่านหรือไม่
เพียงคำถาม 2 ข้อนี้ ก็ทำให้ท่านได้คิดและหาเหตุผลในการที่จะลงทุนหรือไม่ลงทุนได้แน่นอน และรับรองได้ทุกท่านที่ถามตนเองด้วยคำถาม 2 ข้อนี้ จะต้องปฏิเสธการลงทุนในทำนองนี้