xs
xsm
sm
md
lg

“The New Normal South”

เผยแพร่:   โดย: ปณิธาน วัฒนายากร



สื่อทั้งในและต่างประเทศต่างก็รายงานว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคของความรุนแรงครั้งใหม่

เพราะตั้งแต่ต้นปี มีสัญญาณบอกเหตุที่ไม่ดีหลายประการ เช่น ขีดความสามารถของกลุ่มต่อต้านรัฐที่เพิ่มขึ้น แกนนำรุ่นใหม่ของกลุ่มก่อความไม่สงบ เข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่ามากขึ้น และ เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในพื้นที่

แม้ว่าตัวเลขสถิติทางการยังคงชี้ให้เห็นว่า ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินในจชต.ลดลงมากถึง 3-5 เท่า เทียบจากช่วงปีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงๆ และปัจจุบัน การทำงานของหน่วยงานของภาครัฐและภาคประชาสังคมในพื้นที่ ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น

แต่ปัจจัยใหม่ๆที่เกิดขึ้นข้างต้น ทำให้ไฟที่กำลังจะมอดไปนั้น เกิดปะทุขึ้นมาอีก เพราะมีความรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีเป้าหมายพลเรือนที่อ่อนแอกว่า (softer targets) เช่น จุดตรวจของอาสาสมัคร หรือการโจมตีเป้าหมายความมั่นคงที่มีจุดอ่อน เช่น โรงพัก หรือที่ตั้งของกองกำลังฝ่ายรัฐ รวมทั้งการออกปฏิบัติการนอกพื้นที่ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เพิ่มขึ้น

ทั้งหมดนี้ นักวิเคราะห์อาจจะเรียกว่าเป็น ความไม่ปกติที่เป็นปกติ (New Normal) ซึ่งทางภาครัฐได้มีการสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่แก้ไขและปรับเปลี่ยนแผนการรักษาความปลอดภัยในระยะเฉพาะหน้าให้ดีขึ้นแล้ว

หลายคน โดยเฉพาะครอบครัวผู้ที่สูญเสียหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ อาจจะผิดหวังหรือท้อแท้ต่อสภาพการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอีกหลายคนก็คงจะคิดว่า ปัญหาในจชต.นั้น แก้ไม่ได้แล้ว หรือยิ่งแก้ยิ่งแย่ลง

แต่ Jonathan Powell อดีตหัวหน้าคณะเจรจาปัญหาความขัดแย้งไอร์แลนด์เหนือของอังกฤษ ซึ่งประสบความสําเร็จในการเจรจายุติความขัดแย้งที่ยาวนานกว่า 30 ปี ผู้คนเสียชีวิตไปกว่า 3,500 คน และได้เล่าประสบการณ์ของเขาในการหยุดยั้งการสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในหนังสือชื่อ Talking to Terrorists: How to End Armed Conflicts ตลอดจนได้เดินทางไปช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการแบ่งแยกดินแดนที่รุนแรงในประเทศต่างๆทั่วโลกนั้น เขาคิดต่างจากคนไทยหลายๆคนในเรื่องการแก้ปัญหาจชต.

ในช่วงรัฐบาลที่แล้ว คุณ Jonathan ได้เดินทางไปในจชต.หลายครั้ง และได้กลับขึ้นมาสรุปให้ฟังว่า ในกรณีของจชต.นั้น ยังมีความหวังที่จะยุติปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงอยู่ และไทยก็ได้แก้ปัญหาหลายประการไปในทิศทางที่ถูกต้อง เขาบอกอย่างมั่นใจว่าเขาได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว ถ้าเทียบกับหลายปีก่อนหน้านี้ เพียงแต่ว่า ต่อไปนี้ ไทยจะต้องมีแผนการแก้ปัญหาที่ดีขึ้นและรอบด้านมากขึ้นเท่านั้น

แผนที่ว่านั้น ในปัจจุบันนี้มีแล้วและก็คือ “แผนตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นแผนงานเร่งด่วนในระยะ 5 ปีแรกของการบังคับใช้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ซึ่งก็เป็น 1 ใน 6 กรอบการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆของยุทธศาสตร์ชาติ ระหว่างปี 2561-2580

“แผนตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ดังกล่าว เป็นแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในด้านสำคัญๆของกว่าเจ็ดพันตำบลเป้าหมายทั่วประเทศ รวมทั้งในจชต.ด้วย โดยมีตัวชี้วัดและห้วงเวลาปฎิบัติที่ชัดเจน และที่สำคัญคือมีความผูกพันทางกฏหมายกับทุกหน่วยงาน โดยบังคับให้มีการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันและไม่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการบริหารจัดการของภาครัฐของไทยอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง

ซึ่งการนำยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้มาใช้ ก็คล้ายคลึงกับหลายประเทศที่ได้ประสบความสำเร็จในการนำยุทธศาสตร์ชาติมาใช้การพัฒนาประเทศก่อนหน้านี้ เช่น อังกฤษ หรือมาเลเซีย

สำหรับจชต. แผนตำบลในยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวจะผูกมัดหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงานและกว่า 20 กระทรวงที่มีโครงการต่างๆในพื้นที่ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิผลจริงจังและวัดได้ด้วยตัวชี้วัดที่เป็นสากล ซึ่งหากไม่สำเร็จ ก็อาจจะมีการยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อให้มีการถอดถอนผู้ที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาในอนาคตได้

การที่ภาคประชาชน จะได้นำแผนพัฒนาต่างๆในยุทธศาสตร์ชาติไปเป็นแนวทางผลักดันให้สถานการณ์ในจชต.ดีขึ้นนั้น จะเป็นแสงสว่างที่แท้จริงในอุโมงค์ ซึ่งจะนำพาทุกคนให้ออกจากอุโมงค์ไปสู่โลกภายนอก

เพราะในที่สุดแล้ว คนในพื้นที่จะรู้ดีว่าอะไรเหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเอง และเมื่อมีเครื่องมือใหม่ คือยุทธศาสตร์ชาติที่สามารถใช้กำหนดวิถีการพัฒนาของท้องถิ่นได้แล้ว การแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะเข้าสู่ยุคใหม่ (The New Normal South) ที่สงบสุขและปกติอย่างแท้จริง

Facebook: Panitan Wattanayagorn


กำลังโหลดความคิดเห็น