xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายดำดิ่ง แบงก์ชาติอัดยาแรงลดดอกเบี้ย แก้ “บาทแข็ง” กระตุ้นลงทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แนวโน้มเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายยังดำดิ่งเกินคาดหมาย จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเสียงข้างมากลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มายืนอยู่ที่ 1.25% จาก 1.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการกดดอกเบี้ยนโยบายให้กลับมาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2009

มติ กนง.เสียงส่วนใหญ่ 5 ต่อ 2 เสียง ที่ออกมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนั้น นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. แถลงว่า คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยเกื้อหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ถ้อยแถลงของ กนง.ยังชี้ให้เห็นว่า 4 เสาหลักที่ค้ำจุนเศรษฐกิจล้วนแต่เผชิญแรงกดดันรอบด้าน โดย เสาที่หนึ่ง ภาคการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า และภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง

เสาที่สอง ด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็วโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

เสาที่สาม การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป ส่วน เสาที่สี่ การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

อนาคตที่ต้องเผชิญหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศ

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของการค้าออนไลน์ การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ส่วนภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง แต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น

ถึงแม้ กนง.จะเห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบาง โดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ด้อยลง และยังต้องติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี การขยายการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ การก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน(microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential)ร่วมกันอย่างเหมาะสม

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ ยังห่วงกังวลด้วยว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

ในวันเดียวกันนั้น แบงก์ชาติ ยังงัด 4 มาตรการเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าบาท เพื่อให้การทำธุรกรรมต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น เกื้อหนุนให้การส่งออกโงหัวขึ้น โดยมาตรการที่ออกมามีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 นั้น ประกอบด้วย

1.การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ โดยอนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ สรอ. ต่อใบขน สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา

2.การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางหรือมีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด 3.เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นเพียงไม่กี่รายการ เช่น การชำระธุรกรรมซื้อขาย FX/THB กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ยังต้องขออนุญาตจาก ธปท.

และ 4. การอนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ โดยลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ธปท. ยังพร้อมที่จะอนุญาตการซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไปด้วย

การลดดอกเบี้ยนโยบายลงและการออก 4 มาตรการข้างต้นของแบงก์ชาติข้างต้น นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ แต่กว่านโยบายการเงินจะส่งผ่านไปถึงระบบเศรษฐกิจได้อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-9 เดือน ซึ่งต้องเสริมด้วยนโยบายการคลัง ถึงจะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ของปี 2563 ขณะที่ประเมินว่าทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในกรอบร้อยละ 3.0-3.5

ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกพิเศษหัวข้อ “Thailand 2020” ปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 2.3 แต่เชื่อว่าไตรมาส 3 และ 4 จะปรับตัวทิศทางดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีหน้า 2563 นอกจากภาคท่องเที่ยวแล้ว ภาคการลงทุนจะมีส่วนสำคัญโดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีโครงการระบบคมนาคมที่เป็นโครงการขนาดใหญ่รอการลงทุนมากมาย ทั้งการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนามาบตาพุด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

"ต้องผลักผลักดันเมกะโปรเจกต์เหล่านี้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ โดยรัฐบาลจะเร่งออกผังเมืองอีอีซี ทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นเป็นระบบและมีการจัดการที่ดี" รองนายกฯ สมคิด เชื่อมั่นเช่นนั้น และปีหน้า ยังจะเป็นปีสำคัญในการพัฒนาระบบการสื่อสาร 5G เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย

ถึงปีนี้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจจะพลาดเป้า แต่ปีหน้าตั้งหลักเอาใหม่ เป็นฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง


กำลังโหลดความคิดเห็น