xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการสกัดค่าบาทแข็ง เปิดประตูให้เงินไหลออก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท รวมทั้งจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พ.ย. 2562 ดังนี้

1.อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อใบขน สามารถฝากเงินรายได้จากการส่งออกไว้ในต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา และหากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่าวงเงินข้างต้นยังสามารถนำไปหักกลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ

พร้อมกันนั้น ธปท. ได้หารือเบื้องต้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าจะขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อใบขน ภายในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะครอบคลุมประมาณ 80 % ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด

2.เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ หรือต้องมีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด และเพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

3.เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นเพียงไม่กี่รายการ (negative list) อาทิ การชำระธุรกรรมซื้อขาย FX/THB กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ยังต้องขออนุญาตจาก ธปท. รวมถึงอนุญาตให้สามารถโอนเงินให้ตนเองหรือญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศได้เสรี และสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ สามารถโอนได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้งไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐาน

4.อนุญาตให้ลูกค้าคนไทยการซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ และลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป และพร้อมที่จะอนุญาตการซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไปด้วย

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธปท. กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งมาแล้วครั้งหนึ่ง เป็นมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ได้แก่

1.การปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident : NR) ทั้ง Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) และบัญชี Non-resident Baht Account (NRBA) ให้เข้มขึ้น โดยบัญชี NRBS คือบัญชีเงินบาทของ Non-resident (NR) ที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน และบัญชี NRBA คือบัญชีที่เปิดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั่วไป เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ

อย่างไรก็ดี บัญชีเงินบาทข้างต้นในบางครั้งถูกใช้เป็นช่องทางพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อลดช่องทางดังกล่าว ธปท. จึงปรับเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชี NRBS และ NRBA ให้ลดลง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย NR ต่อประเภทบัญชี โดยกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป กรณีบัญชีที่มียอดคงค้างเกินกว่า 200 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินดำเนินการให้ NR เจ้าของบัญชีปรับลดยอดคงค้างภายในกำหนดเวลาดังกล่าว

2. การยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners) เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นที่พักเงินระยะสั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แนวโน้มและกำหนดนโยบายหรือมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะต่อไป ทั้งนี้ กำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่งวดการรายงานข้อมูลเดือน ก.ค. 2562 เป็นต้นไป

ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา มีหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงในตลาดเงินตลาดทุนโลกตามสภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมืองโลก โดยเฉพาะปัจจัยในต่างประเทศทั้งการกีดกันทางการค้า, ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงกรณีของ Brexit ซึ่งมีผลต่อค่าเงินในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน

ปัจจัยที่สอง มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว 25,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะเกินดุลฯ ถึง 34,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 6.3% ต่อจีดีพี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกรณีที่เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก จึงทำให้เกิดการลงทุนในทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ทองคำในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นมาก จึงเกิดการส่งออกทองคำและมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามา ซึ่งในช่วงที่มีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก จึงมักจะเห็นการไหลเข้า-ออกของทองคำเข้ามากดดันอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

ปัจจัยที่สาม มาจากการลงทุน แยกเป็น 1.การลงทุนในตราสาร ทั้งในพันธบัตร และตลาดหุ้น และ 2.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 พบว่ามีการเข้ามาลงทุนในกลุ่มแรกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากความชัดเจนทางการเมือง และความเข้มแข็งของเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น