xs
xsm
sm
md
lg

ขีดเส้น2เดือน คลอดเกณฑ์ซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 400เมกฯเริ่มปี65

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สนธิรัตน์” มอบนโยบาย “สนพ.- พพ.” หวังขับเคลื่อนนโยบาย Energy for All ดัน ศก.ฐานราก ขีดเส้น 2 เดือนสรุปเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ป้อนไฟปี 2565 ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนคลอดเกณฑ์ พ.ย.นี้ เร่งโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ฯเสร็จไม่เกินปี 2569 ด้าน “สุริยะ” อวดผลงาน “99 วัน อุตสาหกรรมทำแล้ว” ชูเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนจากสงครามการค้า-ลดขั้นตอน SMEs เข้าถึงสินเชื่อ-ปฏิรูปสู่ Smart Government-พัฒนาอุตฯพื้นที่รับ EEC

วานนี้ (31 ต.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและมอบนโยบายให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ว่า ได้เร่งรัดให้ พพ.ปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2561-80 (AEDP2018) โดยมุ่งเน้นตอบโจทย์นโยบายพลังงานเพื่อทุกคนหรือ Energy for All เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชุมชน พร้อมเร่งรัดให้กำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมและรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน เพื่อการบริหารจัดการขยะ 400 เมกะวัตต์ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน

"โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จะดำเนินงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเบื้องต้นได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักบ้างแล้วที่จะคงสัดส่วน 400 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2018) และคาดว่า จะสามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้ในปี 65 ซึ่งอีก 2 เดือน จะออกหลักเกณฑ์ได้" นายสนธิรัตน์ กล่าว

ดันโรงไฟฟ้าชุมชนภายใน พ.ย.นี้

นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า จากนี้ไป พพ.จะต้องเน้นการหมุนเวียนเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกองทุนหมู่บ้านและชุมชน เป็นต้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก พร้อมร่วมเร่งสรุปวางเกณฑ์ขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนภายใน พ.ย.นี้ เพื่อประกาศเชิญชวนการลงทุนต่อไป ส่วนการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันที่มอบหมายให้ สนพ.ไปพิจาณานั้น มีเป้าหมายหลักไม่ได้หวังลดราคาน้ำมันของประเทศ แต่ให้ดูถึงการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ให้ต้นทุนเหมาะสมแข่งขันได้ ซึ่ง สนพ.เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก รับผิดชอบในการปรับปรุงแผน PDP2018 ดูแลกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กองทุนอนุรักษ์ฯ) เป็นต้น โดยจะต้องจัดทำแผนขับเคลื่อนงานในอนาคตให้ชัดเจน เพื่อเตรียมพร้อมต่อการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ต่อไป

สำหรับกรณีการเร่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีให้เสร็จเร็วขึ้น 2-3 ปีนั้น นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาว่า สามารถเร่งได้หรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประกอบด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของโครงการที่ รมว.พลังงานเร่งรัด ได้แก่ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 โรง รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ สร้างให้เร็วขึ้น 2-3 ปี จากเดิมสร้างเสร็จปี 70 และ 71 ก็ให้ปรับให้สร้างเสร็จปี 68 และ 69 คาดเงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท, โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 500-1,000 เมกะวัตต์ ที่กำหนดให้มีการประกาศแผนชัดเจนในเดือน พ.ย.นี้ เงินลงทุนราว 2-2.5 แสนล้านบาท , โครงการรับซื้อโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ให้เข้าระบบภายในปี 65 ในขณะที่ พพ.ศึกษาเพิ่มสัดส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ 500 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล รวม 118 เมกะวัตต์ โดยจะมีการประกันการรับซื้อไฟฟ้าจากเกษรตรกรที่ปลูกพืชพลังงานอย่างชัดเจน เช่น หญ้าเนเปียร์ และไผ่โตเร็ว เป็นต้น

“สุริยะ” อวดผลงาน 3 เดือน ก.อุตฯ

อีกด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม แถลงผลการดำเนินงานในหัวข้อ “99 วัน อุตสาหกรรมทำได้” โดยกล่าวว่า การทำงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีความพอใจกับผลการทำงาน ที่ได้ดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนโดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เช่น การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) และการส่งเสริม Made in Thailand โดยบูรณาการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เป็นต้น และตอบโจทย์ของประชาชนในพื้นที่ เช่น การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงฯสามารถจัดกลุ่มผลงานออกมาเป็น 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรม ใน 2 ประเด็นหลัก คือการเชิญชวนและดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดทำกรอบและแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการลงทุน เพื่อชักจูงและรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติที่ประสบปัญหาสงครามการค้า, 2.การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ โดยดำเนินการพัฒนานิคมในพื้นที่ EEC ในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรม และมาบตาพุดระยะที่ 3, 3. การปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government โดยการนำระบบ i-Industry มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่, 4.ลดขั้นตอนผู้ประกอบการ SMEs และ Start up เข้าถึงสินเชื่อภายใต้โครงการ “สินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน” โดยกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ วงเงิน 3 พันล้านบาท และ 5.การดูแลประชาชนและผู้ประกอบการ กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 244 เรื่อง เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 495 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 รวมทั้งการออกมาตรการเร่งด่วน 7 มาตรการ ช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการกิจการโรงงาน SMEs หรือวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุลด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น