"สนพ." เปิดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด (Smart Grid) เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ เตรียมทบทวนแผนระยะกลางสู่แผนปฏิบัติการใหม่ หลังพบเทคโนโลยีสมาร์ทกริดมาเร็วกว่าที่คาดไว้
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังเปิดงานสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับทราบถึงทิศทางเทคโนโลยีระบบส่งอัจฉริยะภายใต้แผนแม่บทพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดระยะสั้น (พ.ศ. 2560-2564) ระยะกลาง (พ.ศ. 2565-2574) และระยะยาว (พ.ศ. 2575-2579) เพื่อเป็นกลไกสำคัญต่อความมั่นคงพลังงานไทย และเป็นส่วนสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) โดยระยะกลางนั้น สนพ.เตรียมที่จะทบทวนเนื่องจากเทคโนโลยีสมาร์ทกริดมาค่อนข้างเร็วทำให้แผนเดิมบางเทคโนโลยีค่อนข้างช้าไป ทั้งนี้เพื่อรองรับระบบไฟฟ้าของประเทศให้ทันสมัยโดยเฉพาะการรองรับพลังงานทดแทน
"สนพ.จะดูในเรื่องนโยบายที่ให้ไป แต่การดำเนินงานจะเป็น 3 การไฟฟ้าเป็นหลัก ช่วงแรกๆ นี้จะเป็นเทคโนโลยีนำร่อง เช่น Energy management System ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) การพยากรณ์ ฯลฯ ก็จะทดลองใช้หลังปี 2564 ก็จะทบทวนแผนระยะกลางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการใช้จริงที่จะนำไปสู่ระดับนโยบายด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เนื่องจากการดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้วเทคโนโลยีสมาร์ทกริดมาค่อนข้างเร็วทำให้ต้องมาดูว่าเทคโนโลยีไหนจะต้องมาเร็วขึ้นเพื่อรับมือกับพลังงานทดแทนที่มาเร็วและโรงไฟฟ้าขนาดเล็กๆ รวมถึงแบตเตอรี่ที่จะเข้ามาเสริม" นายวัฒนพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้แผนแม่บทสมาร์ทกริดมีเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ 1. Smart System ด้วยการมุ่งยกระดับความสามารถการบริหารจัดการไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้าที่ลดความต้องการไฟฟ้าสำรอง การเกิดไฟฟ้าดับ ฯลฯ 2. Smart Life คือการยกระดับคุณภาพบริการด้านไฟฟ้าให้ประเทศ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนที่ทันสมัย เช่น สมาร์ทมิเตอร์ ฯลฯ 3. Green Society มุ่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้ามากกว่า 15% และมีการพัฒนาระบบ Micro Grid เพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สนพ. กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างความเข้าใจแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ดกริดที่ได้ถูกบรรจุเข้าไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018) โดย สนพ.จะจัดสัมมนาให้ความรู้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบนโยบาย แผนงาน และทิศทางการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
น.ส.ฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม ฝ่ายแผนการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า ภายใต้แผนพีดีพีใหม่ กฟผ.ได้รับมอบหมายให้พัฒนาโรงไฟฟ้าหลัก 6,150 เมกะวัตต์ พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน 2,725 เมกะวัตต์ พร้อมกันนี้ยังต้องดูแลความมั่นคงไฟฟ้าเพื่อรองรับพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น จึงมีแผนที่จะปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบส่งให้มีความยืดหยุ่น หรือ Grid Modernization และรองรับการส่งไฟฟ้าเชื่อมภูมิภาค หรือ Grid Connectivity
นายนพดล ประเสริฐกาญจนา ผู้ตรวจการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กฟน.มีผู้ใช้ไฟประมาณ 4 ล้านราย แต่ลูกค้ามีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งแนวโน้มการใช้ไฟจะเพิ่มขึ้นทั้งรถไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะมามากขึ้น ขณะเดียวกัน พลังงานทดแทนก็จะมีมากขึ้นจึงต้องเร่งปรับปรุงระบบเพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้ ซึ่ง กฟน.มีแผนงานต่างๆ รองรับไว้แล้ว
นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า แนวโน้มในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงการนำพลังงานรูปแบบอื่นมาใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และระบบไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โดย PEA ได้มีโครงการต่างๆ ที่จะลงทุนเพื่อพัฒนาระบบที่จะตอบโจทย์สมาร์ทกริด เช่น การติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ในพื้นที่เมืองพัทยา เป็นต้น