xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.นัดไต่สวน30ต.ค….คำร้องค้านแบน3สารพิษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360- ศาลปกครองกลางรับคำร้อง เกษตรกร 6 จังหวัด ฟ้องให้คุ้มครองชั่วคราวระงับมติแบน 3 สารเคมีเกษตร พร้อมขอให้เพิกถอน ชี้ใช้ดุลยพินิจไม่ชอบ นัดไต่สวน 30 ต.ค.นี้ รมว.เกษตรฯ "เฉลิมชัย" เซ็นตั้งคณะทำงานช่วยเหลือเกษตรกร ได้รับผลกระทบยกเลิกใช้ 3 สารพิษ ด้านนักวิชาการยันยังไม่มีสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร

วานนี้ ( 28 ต.ค.) น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสารักแม่กลอง เป็นตัวแทนกลุ่มเกษตรกรที่ประกอบอาชีพปลูกผลไม้ และพืชไร่ ใน 6 จังหวัด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ระยอง สุพรรณบุรี และ นครราชสีมา จำนวน 1,091 คน เดินทางมายื่นฟ้อง คณะกรรมการวัตถุอันตราย คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ต่อศาลปกครองกลาง กรณียกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส โดยจะให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค.62 และไม่มีแผนรองรับผลกระทบทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบต่อต้นทุน และประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช เป็นการละเมิดสิทธิเกษตรกรทั่วประเทศ

โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษา ให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และ มติของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่ระงับการผลิต จำหน่าย นำเข้า และครอบครอง หรือสารเคมีเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ให้กลับไปเป็น วัตถุอันตรายประเภทที่ 3 รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้รมว.เกษตรฯ สั่งให้กรมวิชาการเกษตร หน่วยงานในสังกัด กำหนดแผน หรือมาตรการรองรับแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบจากมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว และให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และรมว.เกษตรฯ กำหนดการบริหารจัดการสารเคมี 3 ชนิด เพื่อไม่ก่อผลกระทบต่อเกษตรกรผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม หรือตามที่ศาลเห็นสมควร อีกทั้งให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดที่จะให้มีผลในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

น.ส.อัญชุลี กล่าวว่า การที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีดังกล่าว โดยให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค.62 นั้น เป็นการลงมติโดยไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการตกค้างของสารเคมี 3 ชนิด ในสินค้าเกษตรมาแสดงชัดเจน และเป็นการใช้อำนาจโดยไม่มีมาตรการออกรองรับ หรือแก้ปัญหาให้เกษตรกรไม่ให้ได้รับผลกระทบ สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ วันนี้ จึงต้องมาความเป็นธรรมขอให้ศาลฯ พิจารณาเพื่อมีคำสั่งระงับมติยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิดดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ทั้งนี้พวกตนได้นำเอกสารงานวิจัยผลกระทบการใช้สารเคมีเกษตร 3 สาร ผลการตรวจการตกค้างของสารเคมีเกษตรในผัก ผลไม้ ที่ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการชุดต่างๆ ส่งให้ศาลพิจารณาด้วย และหลังจากนี้จะทำหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมติการยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด และขอให้มีการทบทวนมติดังกล่าว

รายงานจากกลุ่มเครือข่ายฯ แจ้งเพิ่มเติมว่า ศาลปกครองได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ ส.26/2562 พร้อมกับรับคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไว้ด้วย โดยศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ในวันพุธที่ 30 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

ตั้งคณะทำงานเยียวยาปมเลิกใช้สารพิษ

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ออกคำสั่งกระทรวงเกษตรฯ เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติประกาศวัตถุอันตรายทางการเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยกระทรวงเกษตรฯ เร่งขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานคณะทำงาน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน ประกอบด้วยอธิบดีกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 17 คน

โดยคณะทำงานจะมีอำนาจหน้าที่ศึกษา รวบรวมข้อมูล นวัตกรรม เครื่องจักรกล เทคโนโลยีทางการเกษตร และสารเคมีทดแทน และกำหนดแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด กำหนดแนวทาง วิธีการสื่อสารตามแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรต่างๆที่กำหนดเพื่อสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป กำกับดูแล และติดตามผลการปฏิบัติงานตามแนวทางและมาตรการที่กำหนด รายงานผลการดำเนินการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมเชิญหน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอแนะ รวมทั้งจัดส่งเอกสาร และข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่คณะทำงานเห็นสมควร

นักวิชาการยันยังไม่มีสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช

นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "Chanya Maneechote" เมื่อ 27 ต.ค. 2562 ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากกรมวิชาการเกษตร จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อผู้ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณบนโลกออนไลน์ ดังนี้

"ระวังโดนหลอกอย่าหลงเชื่อโฆษณาชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่มีข่าวจะแบนพาราควอตและไกลโฟเซต มี fbโฆษณาขายชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช แบบเผาไหม้ แบบดูดซีม บางรายโชว์ใข้ปากอมพ่นหญ้าตาย คนไม่ตายปลอดภัย สารวัตรเกษตรตามไปเก็บตย.มาตรวจ เจอทั้งพาราควอต ทั้งไกลโฟเซต พอรู้ว่าถูกจับได้ก็ปิดfbหนีกันเป็นแถว ตอนนี้ยังไม่มีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ได้ทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรเลย เพราะยังไม่ผ่านการทดสอบทั้งประสิทธิภาพ และความปลอดภัย"

"จุลินทรีย์ หมายถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส และไส้เดือนฝอย แต่ไม่ใช่จุลินทรีย์ทุกชนิดจะปลอดภัยกับคน อาจจะกำจัดวัชพืชได้แต่สร้างสารพิษ (toxins) ทำให้คนเป็นมะเร็ง หรือ ภูมิแพ้ หรือ ระคายเคืองตา ผิวหนัง เช่นเดียวกับสารเคมี เชื้อราหลายชนิด ในสกุล (genus) เช่น Aspergillus flavus สร้างสารอัลฟาทอกซิน ที่พบในพืชหลายชนิด ถั่วลิสง ข้าวโพด พริก กระเทียม เห็ดหอมแห้ง กินเข้าไปมะเร็งถามหาแน่ๆ หรือเชื้อราสกุล Myrothecium บางชนิด มีรายงานว่าสร้างสารก่อมะเร็งในคน EPA ของอเมริกา เลยไม่ให้ขึ้นทะเบียนใช้เป็นชีวภัณฑ์ บางตัวเป็นสาเหตุโรคพืชได้อีกด้วย"

"นี่คือสาเหตุว่าทำไมชีวภัณฑ์ ต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 2 (วอ. 2) ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2551 ที่พูดๆกันว่ามีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชเยอะแยะ แต่ยังไม่มีใครกล้ามายื่นขึ้นทะเบียนเลย เพราะกลัวไม่ผ่านทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัย เลยแอบขายกันไปตามสื่อออนไลน์ ระบบขายตรงถึงหน้าบ้าน"


กำลังโหลดความคิดเห็น