xs
xsm
sm
md
lg

แด่ อาจารย์วรชาติ มีชูบท หอสมุดวชิราวุธานุสรณ์เคลื่อนที่ผู้จากลา

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

หนังสือเกี่ยวกับล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่ อาจารย์วรชาติ มีชูบท เขียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


อาจารย์วรชาติ มีชูบท หรือ V_ Mee (วีหมี) อันเป็นนามปากกาในเว็บไซต์ Pantip และเรือนไทย เป็นอาจารย์ นักเขียน และทนายความ ผู้มีความรู้ประวัติศาสตร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างยอดเยี่ยมและลึกซึ้งมากที่สุด ต้องเรียกว่าอาจารย์วรชาติเป็นเอตทัคคะด้านวชิราวุธศึกษา (King Vajiravudh’s studies) อย่างยิ่งยวด ความรู้ด้านประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของอาจารย์ยังรวมไปถึงรัชกาลอื่นๆ การได้สนทนากับอาจารย์จึงไม่ต่างกับการสนทนากับ Encyclopedia หรือ Almanac เคลื่อนที่ได้ ผมทราบว่าอาจารย์ชำนาญประวัติศาสตร์นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงมาทีเดียว

อาจารย์วรชาติเป็น OV หรือ Old Vajiravudh หรือเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย รุ่นไหนผมไม่ทราบ แต่สิ่งที่ผมทราบแน่แก่ใจคือ อาจารย์วรชาติ เป็นผู้มีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหาจักรีบรมราชวงศ์เป็นที่สุด ผมเห็นอาจารย์เข้าไปตอบกระทู้หรือตอบคอมเมนต์ผู้ที่ใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงถูกใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จอยู่เนืองๆ จากเกรียนคีย์บอร์ด และลิเบอร่านล้มเจ้า สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ก็คืออาจารย์วรชาติเป็นคนใจเย็น ใช้เหตุใช้ผล โต้ตอบด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันหนักแน่น และหักล้างการโจมตีด้วยท่าทีที่อดทน แม้อีกฝั่งจะหยาบคายก้าวร้าวเพียงใดก็ตาม อาจารย์จะพยายามอธิบาย และสอนให้ความรู้ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู และความจงรักภักดียิ่ง

ผมเห็นได้ชัดเจนว่าอาจารย์มีความกตัญญูกตเวทิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือต่อมาวชิราวุธวิทยาลัยที่อาจารย์เป็นศิษย์เก่า ผมทราบมาว่าอาจารย์นั้นเดิมเป็นทนายความ ต่อมาได้มาเป็นอาจารย์สอนที่วชิราวุธวิทยาลัยด้วย และมาทำงานช่วย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสนใน ติดท่าวาสุกรี

ผมได้พบอาจารย์วรชาติ มีชูบทเป็นครั้งแรกที่หอวชิราวุธานุสรณ์และได้ความรู้จากอาจารย์วรชาติ เมื่อผมเป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมไปทำหนังสือที่แผนกสาราณียกร องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่ตึกจุลจักรพงษ์ และเพราะอาจารย์สวัสดิ์ จงกล ผู้เชี่ยวชาญเอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำให้ผมไปรู้จักอาจารย์วรชาติ เพื่อไปขอความรู้ ผมเองไปถึงหอสมุดวชิราวุธานุสรณ์ยังตื่นเต้นที่ได้เห็น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นั่งทำงานในห้องอีกฝั่ง ในฐานะนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย่อมต้องตื่นเต้นที่ได้พบผู้ก่อตั้ง/ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคนแรก ตอนนั้นจำได้ว่าอาจารย์วรชาติเล่าประวัติศาสตร์ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ได้ราวกับสายน้ำไหล ด้วยความแม่นยำในเนื้อหาและการอ้างอิง ผมยังคิดในใจว่า ถ้า ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อใด ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ในรัชกาลที่ 6 ย่อมมีผู้สืบทอดแล้ว
อาจารย์วรชาติ มีชูบท เมื่อเป็นนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
อาจารย์วรชาติ เป็นคนขยันเขียนหนังสือมาก ขยันค้นคว้า และขยันเขียนมาก และเขียนเล่าเรื่องได้สนุก อ่านแล้วสนุก ใช้ภาษาไทยง่ายๆ กระชับ แต่ใช้ราชาศัพท์แม่นยำถูกต้อง โดยเฉพาะเบื้องหลัง เบื้องลึก ในพระราชบันทึกเรื่อง ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 นั้น ต้องไปอ่าน ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ก่อน แม้จะมีการละคำพูดหรือชื่อบุคคลหรือพระนามเจ้านายออกไปบ้าง แต่ก็อ่านแล้วเข้าใจการเมืองการปกครองไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ได้เป็นอย่างดี ยิ่งมาอ่านหนังสือที่อาจารย์วรชาติแต่งยิ่งทำให้อ่านพระราชนิพนธ์ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ได้อย่างเข้าในถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ แรงจูงใจ และความจำเป็น ในเวลานั้นได้อย่างดียิ่ง

อาจารย์วรชาตินอกจากเขียนหนังสือเกี่ยวกับล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เท่าที่ผมเคยอ่านและค้นคว้ามาหกเล่ม (และคงมีมากกว่านั้นอีกที่ผมไม่ทราบ) แล้วยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติวชิราวุธวิทยาลัยที่อาจารย์เป็นนักเรียนเก่า และเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนา เชียงใหม่ และเจ้านายฝ่ายเหนือได้ชวนอ่าน และอ่านแล้วสนุกเป็นอย่างยิ่ง
หนังสือเกี่ยวกับวชิราวุธวิทยาลัยที่ อ. วรชาติ มีชูบท เขียน
หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนา เชียงใหม่ และเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่ อ. วรชาติ เขียน
ส่วนตัวผมเมื่อได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่อาจารย์วรชาติกรุณาถ่ายทอดสอนให้ ก็อยากจะเขียนบ้างเท่าที่ความรู้ตัวเองพอจะมี เมื่อพยายามเขียน ก็ได้อาจารย์วรชาติ คอยแนะนำ ค้นคว้าหาเอกสาร และส่งเอกสารต่างๆ มาให้อ่าน แม้ผมจะถามมากมายแค่ไหน ก็ใจเย็น อธิบาย หาหลักฐานและเอกสารมาให้อ่าน อย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย และที่สำคัญสอนให้ผมรู้ว่าเรื่องใดควรเขียน เรื่องใดไม่ควรเขียน แค่ไหนเป็นการสมควรหรือไม่เป็นการสมควร อาจารย์สอนผมอย่างผู้ใหญ่เมตตาเด็ก และเป็นผู้ที่เข้าใจราชสวัสดิ์ 10 อย่างถ่องแท้ (หากสนใจเชิญอ่าน >> วงศ์เทวัญในอิเหนาและราชสวัสดิ์ในขุนช้างขุนแผน)

อาจารย์วรชาติ อ่านบทความ วิจารณ์ แนะนำ และช่วยแก้ไขบทความที่ผมเขียนสามบทความ บทความแรกคือ วชิรญาณ-จุฬาลงกรณ์-วชิราวุธ-วชิราลงกรณ์ เป็นบทความที่อธิบายความสัมพันธ์ทางโลกและทางธรรมของพระเจ้าแผ่นดินนับแต่รัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 10

บทความที่สอง ผมมีข้อสังเกตว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความละม้ายคล้ายคลึงกันหลายประการ ในบทความชื่อ รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ-รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

และบทความที่สาม ผมเขียนบทความเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระอาจารย์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าสองพระองค์ ซึ่งเป็นการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า จากสามัญชนสองพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในบทความชื่อ ชินวราลงกรณ วชิรญาณสังวร วชิราลงกรโณ

อาจารย์วรชาติ แม้จะช่วยอ่าน ช่วยแก้ไข ให้คำแนะนำ แต่กลับไม่ต้องการมีชื่อ ในบทความ เป็นผู้ให้อย่างแท้จริง และไม่ต้องการสิ่งใดๆ เลย นับว่าเป็นการให้กำลังใจกับผู้น้อยที่เริ่มสนใจประวัติศาสตร์และเริ่มเขียนอย่างผมมาก

วันนี้ผมอ่าน Facebook ของ หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน และได้ทราบข่าวร้ายว่า หอสมุดวชิราวุธานุสรณ์เคลื่อนที่ คือ อาจารย์วรชาติ มีชูบท ได้จากไกลไปเสียแล้วด้วยความตกใจและเสียใจ

ผมจึงเขียนบทความนี้เพื่อกราบลาอาจารย์วรชาติ มีชูบท ด้วยบทความที่อาจารย์ช่วยผมให้เขียนได้สามบทความข้างต้น ด้วยความอาลัยว่าจะหาผู้ที่จงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์และทุ่มเทค้นคว้าอย่างไม่ย่อท้อและมีคุณสมบัติของครูและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เช่นนี้ได้ยากยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น