xs
xsm
sm
md
lg

วชิรญาณ-จุฬาลงกรณ์-วชิราวุธ-วชิราลงกรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ตามพระราชกฤษฎีกาเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธี บรมราชาภิเษก ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ได้ถวายพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีรูปตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 10 เป็นรูปวชิราวุธ (วชิระ+อาวุธ) ซึ่งหมายถึง อาวุธของพระอินทร์ อันเป็นเทพศาสตราสายฟ้าฟาด ตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านบนมี พระเกี้ยว ตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนคำว่า “อลงกรณ์” เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย “มหาวชิราลงกรณ” เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมด้วยฉัตรบริวาร

เมื่อพิจารณาทั้งพระปรมาภิไธยและพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังแสดงในรูปด้านล่างนี้ จะพบว่า พระราชลัญจกรมีความละม้ายคล้ายคลึงกับพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือเจ้าฟ้ามงกุฎ ที่ฝรั่งเรียกว่า King Mongkut ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักวิชาการที่ทรงเชี่ยวชาญทั้งทางโลกและทางธรรม ด้วยเหตุที่พระนามก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติคือเจ้าฟ้ามงกุฎทรงใช้พระราชลัญจกรเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎอันเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นพระมหากษัตริย์ ประดับด้านซ้ายขวาด้วยฉัตรบริวารสององค์และมี พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรนี้มาจากฉายาเมื่อผนวชว่า "วชิรญาณภิกขุ" มาจากคำว่าวชิระ+ญาณ (ญาณอันเข้มแข็งสะอาดดั่งเพชร)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ (จุล+อลงกรณ์) คำว่าอลงกรณ์ หมายถึงเครื่องประดับศรีษะขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าพระเกี้ยว เป็นการขนานพระนามว่าหมายถึง "พระจอมเกล้าน้อย" หรือพระจุลจอมเกล้า อันแสดงการสืบสายแห่งราชสันตติวงศ์จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 4 ตราพระเกี้ยวหรืออลงกรณ์นี้ประดับทั้งสองข้างด้วยฉัตรบริวารดังเช่นพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 4 ทั้งยังมีพระแว่นสุริยกานต์และสมุดตำราอย่างละข้างแทบจะจำลองพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาทุกประการ

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามเดิมเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ทรงมีพระราชลัญจกรเป็นเทพศาสตรามหาวชิราวุธของพระอินทร์ มีสายฟ้าฟาดประทับเป็นรัศมี มีฉัตรบริวารสองข้างเช่นเดียวกัน อันเป็นการจำลองพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเช่นกัน

สำหรับพระราชลัญจกรประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความคล้ายคลึงและจำลองมาจากพระราชลัญจกรประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้แต่พระปรมาภิไธยก็คล้ายคลึงกับล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 มากเหลือเกิน คือ รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ กับ รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ คำว่าวชิราลงกรณ์ นั้นมาจาก วชิระ+อลงกรณ์ และตราพระเกี้ยว อันเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 5 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ตรามหาวชิราวุธอันเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 6 ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มาผนวกกันเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 10 จึงเป็นตรามหาวชิราวุธ เทพศาสตราของพระอินทร์ มีพระเกี้ยว อันเป็นเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 5 ประดิษฐานเหนือตรามหาวชิราวุธ ประดับสองข้างด้วยฉัตรบริวารและมีรัศมีเป็นสายฟ้าโดยรอบตรามหาวชิราวุธและตราพระเกี้ยว

เมื่อเห็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จึงเห็นได้ชัดว่าน่าจะทรงเลือกพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 4-5-6 มาผูกลายพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ความในพระราชหฤทัยนั้นจะเป็นประการใดมิอาจจะทราบได้ แต่เป็นการสืบสายแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์อย่างแน่นแฟ้นยาวนาน

ทำให้นึกได้ว่าเคยได้อ่านหนังสือ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร" กรมศิลปากรจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ที่บ้านตั้งแต่เล็กๆ และต้องไปค้นหนังสือเล่มนั้นมาอีกครั้งทำให้ทราบว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ ได้เป็นผู้ผูกดวงพระชะตาและถวายพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ภายหลังพระประสูติกาล ไว้ดังนี้

“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ์ เทเวศธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

ทั้งนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงอธิบายที่มาแห่งพระนาม "วชิราลงกรณ" ว่า

"...อนึ่ง พระนามตามที่ปรากฏดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ถวายโดยมีหลักว่า ... ถ้าถือในทางโหราศาสตร์ เพื่อได้สอดคล้องกับพระชาตา อีกทางหนึ่ง ยึดหลักในพระราชตระกูลเป็นเกณฑ์ โดยอัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระไปยิกาธิราชซึ่งปรากฏในขณะทรงผนวชว่า วชิรญาณะ ถือว่า เป็นพระมงคลนามดังจะเห็นได้ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายทั้ง ๒ พระองค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งพระสยามมกุฎราชกุมารว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ล้วนแล้วแต่มีพระนามนำด้วย "วชิระ" ทั้งนั้น และพระนามตอนท้ายว่า "อลงกรณ์" ก็เป็นพระนาม ของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ คือ จุฬาลงกรณ์ นำมาต่อกันเข้าเพื่อให้มีพระนามทั้ง ๒ พระองค์ รวมอยู่ในพระนามนี้ ฉะนั้น เพื่อเป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล จึงได้ถวายพระนามดังกล่าวแล้วข้างต้น..."

จึงเป็นที่ชัดแจ้งว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงถวายพระนามและผูกพระชะตาให้สอดคล้องกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ที่ 5 และ ที่ 6

สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า แม้พระชาติกำเนิดจะทรงเป็นหม่อมราชวงศ์ก็ตาม (ตามราชประเพณี พระองค์เจ้าตั้งจะทรงตั้งจากเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า)

ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงเคารพศรัทธาสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ยิ่งในฐานะพระราชอุปัธยาจารย์เมื่อคราวทรงพระผนวช ในฉายา ภูมิพลโลภิกขุ และยังทรงสืบสายพระโลหิตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงเป็นพระโอรสในหม่อมเจ้าถนอม นพวงศ์ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเมื่อคราวทรงผนวช มีฉายาว่า วชิรญาณภิกขุ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) ยังทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงเป็นพระอภิบาลเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงผนวช และทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร) เมื่อคราวทรงผนวช ด้วย

สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) ทรงมีพระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) มีวชิรญาณภิกขุ หรือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ดังนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์จึงทรงสืบสายจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งในทางโลกและในทางธรรม

เมื่อสืบค้นต่อไปทำให้ทราบว่าวชิรญาณภิกขุ หรือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีสมเด็จพระอริยวงษญาณสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์

สมเด็จพระอริยวงษญาณสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (ที่นักสะสมพระเครื่องนิยมพระกริ่งปวเรศกันเป็นอย่างมาก)

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ในจุฬาลังกรโณภิกขุ หรือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวทรงผนวช ทั้งยังทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ในสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ในพระเจ้าแผ่นดินไทยถึงสองพระองค์คือวชิราวุโธภิกขุ (พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และปชาธิโปภิกขุ (พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) และสามเณรมหิตลาตุโล (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก)

สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงเป็นพระกรรมวาจารย์ในปชาธิโปภิกขุ (พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) เมื่อคราวทรงผนวช นอกจากนี้ยังทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร) เมื่อคราวทรงผนวช ด้วย

ความสัมพันธ์ในทางโลกและในทางธรรมและที่มาแห่งการสืบสายราชสันตติวงศ์และความละม้ายคล้ายคลึงของพระปรมาภิไธย/ฉายา วชิรญาณ-จุฬาลงกรณ์-วชิราวุธ-วชิราลงกรณ์ แสดงดังแผนภาพด้านล่างนี้

ในวาระมิ่งมหามงคลแห่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 4-5-6 พฤษภาคม ศกนี้ ขอจงทรงพระเจริญ เป็นมิ่งขวัญแห่งพสกนิกรชาวไทย สืบสายราชสันตติวงศ์แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นเอกองค์อัครศาสนูปถัมภก แห่งประเทศชาติ ราชอาณาจักร และศาสนจักรสืบต่อไปตราบกัลปาวสานด้วยเทอญ ขอคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลตลอดจนดวงพระวิญญาณแห่งสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงอวยพร ปกป้อง คุ้มครองรักษาพระเจ้าแผ่นดินและแผ่นดินไทยไปตราบนานเท่านาน