xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประสบการณ์ตรง จากห้องชี้ใต้ถุนศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมไปศาลในฐานะจำเลยที่2ที่ ไก่อู พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในฐานะที่ผมเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ในข้อหาหมิ่นประมาท เพราะมีคอลัมน์หนึ่งไปเขียนวิจารณ์การทำงานของไก่อู ผมอ่านข้อเขียนนั้นแล้วไม่หนักใจที่ถูกฟ้องเลย

หลังอัยการส่งฟ้องผมถูกนำไปห้องชี้ใต้ถุนศาล ใครไม่เคยไปจะอธิบายให้ฟัง ห้องชี้ก็เหมือนบัลลังก์พิจารณาคดีปกติที่เป็นบัลลังก์ศาล แล้วมีที่นั่งผู้ต้องหา ต่างกันตรงระหว่างบัลลังก์กับที่นั่งผู้ต้องหามีกรงเหล็กกั้นอยู่ พูดง่ายๆ ว่าในส่วนผู้ต้องหานั้นเป็นห้องขังที่มีกรงเหล็กล้อมทุกด้าน นั่งปนกันระหว่างผู้ต้องหาหลายคดี บางคนอยู่ในชุดนักโทษถูกตีตรวน การเข้าไปห้องชี้เพื่อยืนยันตัวว่าท่านเป็นผู้ต้องหาที่ถูกส่งฟ้องในคดีตามข้อหานี้ใช่ไหม จะปฏิเสธหรือรับสภาพแค่นั้นเอง ผมจึงยังไม่มีความผิดอะไร แต่ถูกส่งเข้าห้องขังแล้ว

ผมเข้าไปตอน11โมงท่านก็เรียกคดีอื่นไปยังไม่ถึงผม แต่พอเที่ยงตรงเป๊ะท่านลงจากบัลลังก์ทันที ผมก็เลยต้องรออยู่ในนั้น ก็คิดว่า รอสักชั่วโมงเดี๋ยวบ่ายโมงท่านก็ขึ้นมา ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่มาถามว่าใครจะสั่งข้าวสั่งน้ำก็ฝากซื้อได้ ผมไม่อยากกินข้าวในห้องขังก็เลยฝากซื้อน้ำไป แต่ปรากฎว่าบ่ายโมงท่านยังไม่ขึ้นนั่งบัลลังก์ ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าตกลงท่านจะขึ้นมากี่โมง เจ้าหน้าที่ตอบว่าบ่ายสองหรือบ่ายสามไม่แน่นอน

แต่พอถึงบ่ายสองท่านก็ขึ้นมานั่งบัลลังก์ ชื่อผมถูกเรียกเป็นคนแรก ผมเลยลุกขึ้นและบอกว่า ก่อนอื่นผมขอถามข้อสงสัยสัก2ข้อ ศาลท่านอนุญาตบอกให้ผมมาพูดที่ไมค์ ผมถามว่า ข้อแรกท่านมีเวลาทำงานที่แน่นอนหรือไม่ เพราะตอนพักเที่ยงท่านพักตรงเวลา ผมจะได้รู้ว่าผมควรมาเช้าเพื่อไม่ต้องรอติดเที่ยง2ชั่วโมง ท่านตอบว่า ไม่แน่นอน ผมถามว่าแล้วตอนเช้าล่ะผมจะได้รู้เวลาว่าควรจะมากี่โมง ท่านก็ตอบว่า ไม่แน่นอน แต่ต้องภายใน 4โมงเย็น โดยสรุปประมาณนี้ ผมแค่อยากได้คำตอบเพื่อบันทึกการทำงานของท่านเท่านั้นก็ไม่ถามเรื่องนี้ต่อ

ผมเลยถามข้อ2ว่า ทำไมการชี้ตัวไม่ชี้ในบัลลังก์ปกติ ทำไมต้องเอาผมมาขังจำกัดเสรีภาพผมทั้งที่ผมยังไม่มีความผิด ท่านบอกว่า ไม่ได้จำกัดเสรีภาพ ไม่ใช่ห้องขัง ผมบอกจะไม่ใช่ได้อย่างไร ผมถูกขังไปไหนไม่ได้มีกรงเหล็กทุกด้าน ท่านก็บอกว่าเมื่ออัยการส่งฟ้องผมก็ตกเป็นจำเลยแล้ว ผมบอกว่าใช่แต่ผมยังไม่มีความผิด ท่านก็พยายามอธิบายขั้นตอนว่ากระบวนการต่อจากนี้จะเป็นยังไงยื่นประกันแล้วไปพิจารณาคดีกัน ผมเลยบอกว่าขั้นตอนนั้นผมเข้าใจ แต่นี้ผมถูกขังแล้วโดยยังไม่มีความผิด แล้วผมก็ตัดบทว่า โอเคครับจากนั้นศาลก็แจ้งข้อกล่าวหาผมสั้นๆ แล้วผมก็ปฏิเสธข้อกล่าวหา ก่อนนำไปรอในห้องควบคุมรอประกัน ยื่นไปตั้งแต่11โมง ต้องรออยู่ประมาณ3โมงกว่าถึงจะได้ประกันออกมา ก็มีคำถามเหมือนกันนะครับว่า ทำไมกระบวนการตรงนี้มันถึงใช้เวลานานขนาดนี้

เท่ากับว่า ผมถูกควบคุมตัวตั้งแต่11โมงถึง3โมงกว่า โดยยังไม่มีความผิดอะไร

ผมเข้าใจนะครับว่า หลังอัยการสั่งฟ้องแล้วผมตกอยู่ในการควบคุมตัวของศาล แต่ผมถามว่า การควบคุมตัวของศาลมีหลักปฏิบัติหรือมีขอบเขตหรือไม่ว่า แค่ไหน เพราะเท่ากับว่ายังไม่ตัดสินเลยผมก็ถูกควบคุมตัวในห้องขังแล้ว ผมถามหลายท่านอธิบายว่า การควบคุมตัวแบบนี้น่าจะง่ายต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่คือ เมื่อส่งฟ้องก็ส่งตัวไปขังใต้ถุนศาล เพื่อป้องกันนักโทษหลบหนีหรือบางครั้งอาจทำร้ายผู้พิพากษา เรียกว่า เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย

แต่คำถามของผมคือ ควรจะมีการแยกแยะความผิดหนักเบาในการควบคุมตัวให้ได้สัดส่วนกับโทษหรือไม่ ทนายท่านหนึ่งเล่าว่า ลูกความแม้ทำแบบผิดแค่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารก็ถูกส่งตัวไปขังใต้ถุนศาลแล้ว ผมคิดว่า นี่เป็นสิ่งที่ต้องแยกแยะ แม้จะถูกขังระหว่างรอประกันไม่กี่ชั่วโมงแต่ผมก็คิดว่าผมถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว

อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรค 2 บัญญัติว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้

แล้วประสบการณ์ที่เจอในห้องชี้ก็คือ จำเลยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ไม่ได้รับคำปรึกษาจากทนาย ผมนั่งฟังอยู่เมื่อจำเลยท่านหนึ่งปฏิเสธ แล้วขอประกันตัว จำเลยคนก่อนหน้าเดินมาถามว่า ประกันตัวได้เหรอ จำเลยคนนั้นตอบว่าได้สิ

เข้าใจว่า ผู้ต้องหาที่มาศาลก่อนตกเป็นจำเลยนั้น มีนัดหมายกับอัยการให้มาศาล ส่วนใหญ่ที่เป็นคนยากจนก็มาโดยไม่มีทนาย มาถึงศาลส่งฟ้องก็ถูกส่งตัวเข้าไปขังใต้ถุนศาล ผู้พิพากษาขึ้นมาอ่านข้อกล่าวหาโดยย่อแล้ว ถามว่า สารภาพหรือไม่ ถ้าสารภาพและอัตราโทษไม่เกิน5ปี ศาลก็ตัดสินตรงนั้นเลย

โดยศาลจะยึดเทียบเคียงกับแนวทางเดิมที่เคยตัดสินมา

ผู้พิพากษาท่านหนึ่งอธิบายว่า ก่อนขึ้นมาอ่านคำพิพากษามีการพิจารณาเป็นคณะมีการหารือกันมาโดยอ่านสำนวนฟ้องของอัยการก่อนแล้วลงว่าควรตัดสินอย่างไรแล้วให้ผู้พิพากษามาอ่านบนบังลังก์ถ้าจำเลยสารภาพ

แต่ปัญหาที่ผมประสบก็คือ ในคำฟ้องของผมเองที่อัยการส่งสำเนาให้ผมชุดหนึ่งนั้น ผมอ่านแล้วเป็นข้อกล่าวหาของโจทก์และอัยการฝ่ายเดียว โดยที่ไม่มีคำให้การของผมที่ให้ไว้ต่อตำรวจเลย ถ้าผมสารภาพศาลก็จะตัดสินผมจากข้อกล่าวหาของอัยการโดยที่ไม่มีคำให้การที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อผมเพื่อให้ศาลนำมาพิจารณาเลย

ผมเข้าใจนะครับว่า อัยการเป็นโจทก์และสั่งฟ้องเพราะอ่านสำนวนที่ตำรวจส่งมาแล้วเชื่อว่าผู้ต้องหาน่าจะมีความผิด อัยการจึงกลายเป็นคู่กรณีที่มุ่งหมายจะต้องลงโทษจำเลยให้ได้ อัยการจึงไม่เขียนคำให้การของผมที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมาเพื่อให้ศาลได้ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาคดี

ดังนั้นจึงเชื่อว่าผู้ต้องหาคนอื่นที่ตกเป็นจำเลยก็คงเหมือนกัน

แม้หลายคนเตือนว่า ผมไม่ควรจะเขียนเรื่องนี้ เพราะกระบวนการยุติธรรมชั้นศาลเป็นอำนาจที่ไม่อาจเอื้อมถึงของคนทั่วไป แต่ผมคิดว่าเมื่อผมเห็นว่า สิ่งที่ผมประสบนั้นคือความไม่เป็นธรรมผมไม่ควรจะนิ่งดูดาย แล้วยิ่งศาลท่านมีความสถิตยุติธรรมมากก็น่าจะเข้าใจเจตนาของผม และผมเชื่อว่าศาลส่วนใหญ่ถูกบ่มเพาะให้มีความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง

ผมสนใจเรื่องนี้เลยเข้าไปค้นกูเกิลว่ามีใครเคยมีความเห็นต่อเรื่องนี้บ้าง พบว่า เว็บ ilaw เคยเขียนเรื่องนี้ในบทความชื่อ  ตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า

“หลายคดี แม้จำเลยจะรับสารภาพ แต่ตามกฎหมายอาจมีเหตุให้จำเลยได้รับยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ ลดโทษ หรือบรรเทาโทษ ตัวอย่างเช่น จำเลยรับสารภาพว่าทำร้ายผู้อื่นจริงแต่หากเป็นการป้องกันตัวจำเลยก็ไม่มีความผิด หรือจำเลยรับสารภาพว่าฆ่าคนตายแต่หากทำไปโดยบันดาลโทสะก็มีเหตุให้ลดโทษ หรือจำเลยอาจจะยอมรับว่าขายยาเสพติดแต่ทำไปเพราะตกอยู่ในความทุกข์อย่างแสนสาหัสก็เป็นเหตุให้บรรเทาโทษได้

เหตุผลอื่นๆ ที่จำเลยอาจใช้ต่อสู้คดีได้ เช่น กระทำความผิดไปด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนเองพ้นจากอันตราย ขณะกระทำความผิดอายุไม่ถึงยี่สิบปี ขณะกระทำความผิดมีอาการวิกลจริต กระทำความผิดไปโดยทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน หรือกระทำไปเพราะสำคัญผิดในข้อเท็จจริงบางประการ ฯลฯ

แม้ว่าจำเลยจะรู้ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ที่อาจเป็นประโยชน์กับตนเอง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลประจำห้องเวรชี้ใช้วิธีการแอบถามเป็นการส่วนตัวโดยไม่มีทนายความว่า รับสารภาพหรือไม่ จำเลยก็อาจจะตอบว่า “รับ” เพราะตัวเองได้กระทำไปจริง ซึ่งหลังจากตอบว่า “รับ” และเข้ากระบวนการของห้องเวรชี้แล้ว ศาลก็จะมีคำพิพากษาทันที ข้อต่อสู้อื่นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยนั้น จำเลยจะไม่มีโอกาสได้นำเสนอเลย ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะจำเลยไม่รู้กฎหมายและไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างไรบ้าง เพราะหากรู้ว่ามีข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อคดีแล้ว จำเลยต้องตอบว่า “ปฏิเสธ” หรือ “ให้การภาคเสธ” คือ รับสารภาพบางส่วนปฏิเสธบางส่วนนั่นเอง

เมื่อจำเลยไม่เคยมีโอกาสได้นำเสนอพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ เหตุลดโทษ หรือเหตุบรรเทาโทษเช่นนี้ แม้จำเลยจะมาทราบภายหลังว่าตนเองมีสิทธิต่อสู้คดี ก็ไม่สามารถโต้แย้งคำพิพากษาที่ออกมาแล้วได้ และหากจะอุทธรณ์คำพิพากษาก็ไม่มีโอกาสต่อสู้แล้ว เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ได้นำเสนอมาเลยในศาลชั้นต้น

ดังนั้น “ห้องเวรชี้” ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนสายพานอุตสาหกรรมผลิตผลลัพธ์คดีความหลายสิบหลายร้อยคดีต่อวัน จึงเป็นเหมือนดาบสองคม ทางหนึ่งก็ช่วยให้คดีไม่รกโรงรกศาล แต่อีกทางหนึ่งหากจำเลยไม่มีความรู้ทางกฎหมายก็มีโอกาสมากที่จะเสียสิทธิของตัวเองไปในกระบวนการเหล่านี้ได้ง่ายๆ”

ผมจึงคิดว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะนิ่งดูดาย แม้การพูดเรื่องนี้อาจจะไม่ส่งผลดีต่อตัวเองก็ตาม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น