ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผ่านไปแค่ฉบับเดียว สำหรับ"ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ที่หน่วยงานข้างต้น ขอขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ อ.บางละมุง และอ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พ.ศ. 2553"ออกไปอีก 2 ปี นับแต่วันที่ 31 ก.ค.61หลังจากที่ประชุมครม.สัปดาห์ที่ผ่านมา (17 ก.ค.) มีการนำมาพิจารณา และมีมติเห็นชอบในหลักการเบื้องต้น
ส่วนร่างฯ ขอขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ อ.บ้านแหลม อ.มืองเพชรบุรี อ.ท่ายาง และอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี อ.หัวหิน และ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2553 ออกไปอีก 2 ปี นั้น ครม.มีมติ คืนให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เนื่องจาก ขณะนี้ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ อ.บ้านแหลม อ.เมืองฯ อ.ท่ายาง และ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี อ.หัวหิน และ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2561 รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ลงนามในร่างประกาศ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับ เมื่อ 30 มิ.ย.61
สำหรับเรื่องขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศ ในบริเวณพื้นที่ อ.บางละมุง และอ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้กำหนดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาการใช้บังคับใช้ครั้งแรก เมื่อ 30 ก.ค.58 แต่เนื่องจากยังมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการคุ้มครองตามประกาศดังกล่าวต่ออีกระยะหนึ่ง จึงได้อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 45 วรรคสาม แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศดังกล่าวต่อไปอีกครั้งละหนึ่งปี (2559-2560) ล่าสุด ก็ยังบังคับใช้ไปอีก
ประกาศฉบับนี้ เมื่อ5 ปีที่แล้ว นำมาใช้บังคับกับ โครงสร้างของอาคาร โครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ สูงกว่า 50 ชั้น กรณีไปบดบังสภาพภูมิทัศน์บริเวณหน้าอ่าวพัทยา และป้าย Pattaya City ที่เมืองพัทยา สนับสนุนให้เป็นจุด Landmark รวมถึงกรณีบดบังบริเวณด้านหน้าของพระบรมราชานุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บนเขา สทร.5 พัทยา มาแล้ว
เนื่องจากระเบียบดังกล่าว ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้อกำหนดเรื่องของความลาดชัน ซึ่งระบุว่า พื้นที่ที่ความลาดชันร้อยละ 20-35 นั้น อาคารที่สร้างได้จะต้องมีความสูงไม่เกิน 12 เมตร ขนาดแปลงที่ดิน มีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 120 ตารางวา (ตร.ว.) มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 80 ตร.ว. ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 เนื่องจากพื้นที่ของโครงการนั้น ติดกับเชิงเขาเป็นอย่างมาก ที่สำคัญการจัดสร้างโครงการดังกล่าวมีขนาดความสูงกว่า 50 ชั้น
ส่งผลให้ชาวพัทยาในครั้งนั้น ต่อต้านการก่อสร้าง โดยเฉพาะเรื่อการขอจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ อีไอเอ ตามขั้นตอนของกฎหมาย
นำมาสู่ กรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในคราวนั้นต้องมีการเรียกตรวจสอบเอกสารของการขอทำ อีไอเอ ต่อ สผ.รวมถึง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เข้ามาตรวจสอบ เช่นเดียวกับนายกเมืองพัทยา ในขณะนั้นก็ต้องรับเรื่องมาตรวจสอบเช่นกัน เพราะถูกข้อครหาว่า อนุญาตให้มีการก่อสร้างได้อย่างไร
ต่อมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงต้องออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 5 พื้นที่ หนึ่งในนั้น มีพื้นที่ อ.บางละมุง-อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่ออนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่ไม่ให้มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างไม่เหมาะสม และทำลายสิ่งแวดล้อม และห้ามกิจกรรมบางประเภท เช่น ป้ายโฆษณา เพราะเกิดมลทัศน์ทางสายตา และอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว นำไปสู่กาสั่งระงับก่อสร้างในเวลาต่อมา โดยประกาศฉบับนี้ จะขยายระยะเวลาไปถึงวันที่ 31 ก.ค.63
กลับมาที่มติ ครม.(17 ก.ค.) ที่รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (7 มี.ค.61) มีการรับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการต่อขยายทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี และปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ ทางหลวงหมายเลข 338 สายปิ่นเกล้า - นครขัยศรี ของกรมทางหลวง คณะกรรมการฯ ให้กรมทางหลวง รับความคิดเห็นในประเด็น การคืนพื้นที่โครงการ การเพิ่มเติมเส้นทางจักรยาน การระบายนี้า การดูแลพื้นที่ โบราณสถาน รวมถึงการจัดทำรายละเอียดขั้นตอนและกระบวนการในการรับเรื่องร้องเรียน ไปพิจารณา ดำเนินการด้วย
2. โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย คณะกรรมการฯ ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยรับความคิดเห็นในประเด็นการปีองกันปัญหามลพิษทางอากาศ ภายในอุโมงค์ รวมถึงการคืนพื้นที่โครงการ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย
3. โครงการศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุขพร้อมที่จอดรถ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการฯ ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับความคิดเห็น ในประเด็นการประเมินอัตราขยะติดเชื้อ การเพิ่มเติมรายละเอียดขั้นตอนและกระบวนการจัดการขยะติดเชื้อ ประเภทต่างๆ ที่ขัดเจน กระบวนการนำตะกอนแห้งไปทำปุ๋ยอย่างถูกหลักวิชาการ และการคืนพื้นที่โครงการ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย
4. โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ของ บริษัท ทีพไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) คำขอประทานบัตรที่ 12/56 ร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกัน กับคำขอประหานบัตรที่ 13/2556 คำขอประทานบัตรที่ 14/2556 คำขอประทานบัตร ที่ 15/2556 คำขอประทานบัตรที่ 16/2556 คำขอประทานบัตร ที่ 17/2556 ประทานบัตร ที่ 27340/14390 ประทานบัตร ที่ 27341/14391 และประทานบัตรที่ 27348/14392 ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4, 6 ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก และ หมู่ที่ 4 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
โดยให้เจ้าของโครงการและหน่วยงานอนุญาต ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการ ติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ อย่างเคร่งครัด ให้ตั้งงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งนวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ และนำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอครม. เพื่อประกอบการพิจารณา ตาม มาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ต่อไป
นอกจากนั้น ยังรับทราบ ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 แต่ให้ไปปรับเพิ่มเติมประเด็นการเพิ่มขี้นของประชากรและปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงประเด็นทรัพยากรแร่ และสถานการณ์สัตว์ป่า ไปพิจารณาเพิ่มเติมในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมฉบับ ปี 2561