xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพีบีเอสทำผิดแต่ไม่มีคนผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


จากกรณีที่ผู้บริหารไทยพีบีเอส 3 คนได้เซ็นชื่อเพื่อร่วมซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และภายหลังกฤษฎีกาตีความว่า การอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 11 เรื่องทุน ทรัพย์สินและรายได้ขององค์กร (7) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์กรนั้น ไม่สามารถทำได้

จนกระทั่งนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ได้ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ผู้บริหารทั้งหมดต้องพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย

ต่อมาเมื่อมีการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ปรากฏว่า รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดีตรองผู้อำนวยการซึ่งพ้นตำแหน่งไปพร้อมนายกฤษดาและเป็น 1 ใน 3 ที่ร่วมเซ็นซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้ ได้กลับมานั่งเก้าอี้ ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ และดร.วิลาสินียังได้เลือกนายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ อดีตรองผู้อำนวยการและเป็นผู้ร่วมซื้อหุ้นกู้ด้วยเช่นกันกลับมาเป็นรองผู้อำนวยการอีกครั้ง

ย้อนไปก่อนที่กฤษฎีกาชี้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ไทยพีบีเอสนั้น มีการยืนยันมาจากคณะกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอสตลอดมาว่า การซื้อหุ้นดังกล่าวทำได้ตามกฎหมาย มีการออกแถลงการณ์มาเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบและกรรมการชุดนั้นมีความเห็นว่า การซื้อหุ้นชอบด้วยกฎหมาย

ตอนนั้นผมได้หารือกับนักกฎหมายหลายคนเห็นว่า การซื้อหุ้นกู้ของไทยพีบีเอสนั้นไม่สามารถทำได้ และต่อมากฤษฎีกาก็ตีความออกมาตรงกัน เมื่อกฤษฎีกาตีความออกมาเช่นนี้เท่ากับว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย เป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว

ปรากฏในเวลาต่อมาว่า คณะกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอสได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบโดยมีประธานคือนายวรพันธ์ เย็นทรัพย์ และมีกรรมการอื่นอีก 5 คนร่วมเป็นคณะทำงานสอบสวน โดยมีวัตถุประสงค์ในคำสั่งระบุว่า เพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้ว่า ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าวประกอบด้วยผู้ใดบ้าง และผู้ใดต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา และวินัย

กรรมการได้เชิญผู้เกี่ยวข้องหลายคนเข้ามาสอบสวน ทั้งผู้เซ็นกู้ซื้อ 2 คนคือ ดร.วิลาสินี และนายอนุพงษ์ รวมถึงฝ่ายบัญชี ฝ่ายการเงิน ดูเหมือนการให้การของทั้งหมดจะโยนไปที่น.ส.อัจฉรา สุทธิศิริกุล ที่ปรึกษาฝ่ายการเงิน แต่ไม่ได้มีการเชิญนายกฤษดาและน.ส.อัจฉรามาสอบสวนแต่อย่างใด

นายอนุพงษ์ให้การว่า การร่วมลงชื่อเซ็นซื้อหุ้นกู้ เพราะเข้าใจว่าเป็นเอกสารยืนยันความเป็นเจ้าของหุ้นกู้ และเข้าใจว่ากระบวนการตัดสินใจอนุมัติการซื้อหุ้นกู้เกิดขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่ลงนามจะทำให้ ส.ส.ท.เสียประโยชน์ และไม่ทราบที่น.ส.อัจฉราเสนอกรอบนโยบายการลงทุนที่เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559

ดร.วิลาสินี อ้างว่า เข้าใจว่าตัวเองเป็นผู้ร่วมลงนามเพื่อให้จบครบถ้วนตามอำนาจในแนวนอนไม่ใช่แนวตั้ง แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีอะไรหายไปหรือไม่เกี่ยวกับเอกสาร Trade Confirmation และจำไม่ได้ว่ามีเรื่องกระบวนการลงทุน มีวาระเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหรือไม่

โดยสรุปก็คือ คณะกรรมการชี้ว่าการซื้อหุ้นกู้ไม่สามารถทำได้ และการตรวจสอบสัญญาจ้างพบว่านายกฤษดาได้ทำสัญญาจ้างน.ส.อัจฉราในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการเงินซึ่งในขอบเขตการทำงานมีลักษณะให้คำปรึกษาต่อผู้อำนวยการ แต่นายกฤษดากลับให้น.ส.อัจฉรามีอำนาจสั่งการผู้ปฏิบัติงานฝ่ายบัญชี ฝ่ายงบประมาณและการเงิน ซึ่งเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่

และหลายฝ่ายให้การตรงกันว่าการอนุมัติซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้เป็นไปตามความเห็นและการดำเนินการของน.ส.อัจฉรา

ส่วนคำให้การของดร.วิลาสินีซึ่งอ้างว่าเซ็นไปตามขั้นตอนนั้น กรรมการเห็นว่า ดร.วิลาสินีได้เข้าร่วมประชุมมาตลอดย่อมถือว่าได้รับทราบมติเกี่ยวกับกรอบนโยบายการลงทุน การเสนอขอปรับปรุงกรอบบริหารการเงินของ ส.ส.ท.ที่ขอขยายให้ลงทุนตราสารหนี้เอกชนเป็นผู้ออก ซึ่งได้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารก่อนจะเสนอคณะกรรมการนโยบาย ดร.วิลาสินีย่อมสมควรจะทักท้วงการดำเนินการของผู้อำนวยการ ส.ส.ท.และที่ปรึกษาด้านการเงิน แต่กลับลงมติเห็นชอบด้วย

นายอนุพงษ์ก็เช่นเดียวกันก็ได้เข้าร่วมประชุมเช่นเดียวกับดร.วิลาสินีมาตลอด แต่มิได้ทักท้วงกลับมีมติเห็นชอบให้ฝ่ายบริหารนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนต่อคณะกรรมการนโยบายดำเนินการของผู้อำนวยการ ส.ส.ท.และที่ปรึกษาด้านการเงิน

โดยคณะกรรมการได้มีข้อสรุปดังนี้ นายกฤษดาในฐานะผู้อำนวยการ ใช้อำนาจบริหารการเงินไม่เป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบาย โดยไม่แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการเงินของ ส.ส.ท.และการจ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบกลางที่กำหนด รวมทั้งการบริหารงานให้อำนาจที่ปรึกษาฝ่ายการเงินซึ่งมิใช่พนักงานเกินขอบเขตสัญญาจ้าง การตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ขาดการถ่วงดุลไม่เป็นไปตามหลักการควบคุมที่ดี เนื่องจากผู้มีอำนาจตัดสินใจและมีอำนาจพิจารณาสั่งซื้อเป็นคนคนเดียวกัน

ดร.วิลาสินีและนายอนุพงษ์ เห็นว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อหุ้นกู้ แต่ทั้งสองคนต้องมีส่วนร่วมในการติดตามการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบาย และทักท้วง ตรวจสอบการซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้ให้เป็นไปตามมติคณะกรรมนโยบายให้ครบถ้วน

ส่วนคนอื่นนั้นมีข้อสรุปว่า ไม่สามารถทักท้วงได้เพราะผู้อำนวยการให้อำนาจที่ปรึกษาฝ่ายการเงินในการตัดสินใจ ส่วนที่ปรึกษาฝ่ายการเงินซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินนำเสนอขออนุมัติซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟนั้นกรรมการชี้ว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามสัญญาจ้าง โดยเห็นว่าผู้อำนวยการให้อำนาจที่ปรึกษาฝ่ายการเงินคือน.ส.อัจฉรามากเกินไป

เมื่อพิจารณาว่าผู้เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดในทางแพ่ง อาญา และวินัยหรือไม่

คณะกรรมการสอบสวนกลับเห็นว่า จากข้อมูลที่ได้รับฟังจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าผู้เกี่ยวข้องคนใดบ้างที่จะต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา และวินัย อันเนื่องมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างการบริหารงานของ ส.ส.ท.ประกอบกับผู้อำนวยการ ส.ส.ท.คือนายกฤษดาได้ลาออกไปแล้ว นอกจากนี้ เมื่อไทยพีบีเอสได้ขายหุ้นกู้ซีพีเอฟออกไป ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไทยพีบีเอสไม่ได้รับความเสียหายทางการเงินแต่อย่างใด

ส่วนตัวผมว่าแปลกนะครับ สมมติว่าการซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้ทำได้ตาม พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส เราไม่พูดถึงที่กฤษฎีกาชี้ว่าทำไม่ได้ก่อนนะครับ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามการซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเสียก่อน และการสั่งจ่ายเงินเพื่อชำระหุ้นกู้ครั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายด้วย เมื่อการซื้อหุ้นกู้ไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายแล้วจะไม่มีคนกระทำผิดหรือ

แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่าการซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมายก็เท่ากับว่า การซื้อหุ้นกู้เอกชนครั้งนี้มีความผิดอย่างชัดเจน ต่อให้การซื้อครั้งนั้นจะมีการขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายหรือไม่ก็ตาม

มันแปลกไหมครับชี้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดไม่มีคนทำผิดเลย โดยอ้างว่า คนอนุมัติลาออกไปแล้ว และได้ขายคืนหุ้นกู้ไปแล้วไม่ขาดทุน

ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น