ดอนเมืองวิกฤต พบปัญหารถเข็นกระเป๋าไม่พอบริการในบางเวลา ผู้โดยสารต้องแย่งกัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่พบพิรุธ ทอท.ทำสัญญาจ้างเอกชน 7 ปี กว่า 200 ล้านจัดหารถเข็นกระเป๋าและบริหารจัดการรถให้เพียงพอ เหตุไม่ประเมินจำนวนผู้โดยสารหลังเปิดใช้อาคาร 2 ส่อเอื้อประโยชน์เพิ่มค่าจ้างเอกชนอีกกว่า 100 ล้าน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า ขณะนี้สนามบินดอนเมืองพบปัญหาในการให้บริการรถเข็นกระเป๋าสัมภาระมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลัง 18.00 น. ซึ่งปรากฏว่าบริเวณสายพานลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสารขาเข้าว่างโล่ง เมื่อพนักงานนำรถเข็นกระเป๋าสัมภาระเข้ามา ผู้โดยสารจะมีการแย่งรถเข็นกระเป๋ากัน โดยเฉพาะผู้โดยสารชาวจีนที่ใช้บริการสนามบินดอนเมืองเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เปิดประมูลจัดหารถรถเข็นกระเป๋าซึ่งได้ให้สัมปทานบริษัท นำไกรยูนิเวอร์แซล จำกัด เป็นผู้ให้บริการรถเข็นกระเป๋าแบบครบวงจร อายุสัญญา 7 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2559 ถึง วันที่ 1 ก.พ. 2566 ซึ่งกำหนดจัดหารถเข็นในปีที่ 1 จำนวน 2,500 คัน ในปีที่ 2 กำหนดให้มีรถเข็นจำนวน 2,700 คัน และปีที่ 3 มีรถเข็นจำนวน 2,900 คัน ส่วนปีที่ 4 -7 กำหนดให้มีรถเข็นกระจำนวน 3,120 คัน (ขนาดใหญ่ 20 คัน ขนาดกลาง 2,500 คัน ขนาดเล็ก 600 คัน)
รายงานข่าวแจ้งว่า สัญญาดังกล่าว ทอท.ว่าจ้างเอกชนดำเนินการวงเงินประมาณ 200 ล้านบาทเศษ ตลอดระยะเวลา 7 ปี ซึ่งเอกชนจะต้องจัดเก็บรถเข็นกระเป๋าจากบริเวณต่างๆ เข้ามายังสายพานลำเลียงกระเป๋าภายในอาคารผู้โดยสารของสนามบินดอนเมืองให้เพียงพอ โดยใน TOR กำหนดจำนวนรถเข็นกระเป๋า แต่ไม่กำหนดอัตราของคนจัดเก็บกระเปาขั้นต่ำต่อผลัดไว้ โดยจะใช้การประเมินจากผลงานจัดเก็บรถเข็นกระเป๋าให้เพียงพอ ต่างจากที่สนามบินสุวรรณภูมิที่สัญญาผู้ให้บริการรถเข็นกระเป๋า กำหนดอัตราขั้นต่ำของพนักงานไว้ด้วย ซึ่งอาจเป็นจุดโหว่ที่ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตามเก็บรถเข็นกระเป๋าในบางช่วงเวลาน้อย และเกิดการไม่เพียงพอได้
ทั้งนี้ การที่ไม่กำหนดจำนวนพนักงานขั้นต่ำ ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บรถเข็นกระเป๋าตามจุดต่างๆ กลับมาได้ทัน เช่น บริเวณอาคารจอดรถ 7 ชั้น รวมถึงด้านนอกอาคาร ริมถนนวิภาวดีรังสิต และทำให้บางช่วงเวลา ที่สายพานลำเลียงกระเป๋า รถเข็น ไม่พอกับผู้โดยสารขาเข้า ประกอบกับ ระบบ RFID ที่ติดไว้กับรถเข็นตามสัญญา ส่วนใหญ่ใช้งานไม่ได้ ทำให้ไม่รู้ว่ารถเข็นกระจายอยู่จุดใดบ้าง
ทั้งนี้ มีจุดที่น่าสังเกต คือ ทอท.ได้เปิดประมูลผู้ให้บริการรถเข็นกระเป๋าที่สนามบินดอนเมืองและเอกชนได้เข้าดำเนินการก่อนที่จะมีการเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น แต่เหตุใด ทอท.จึงไม่ประเมินจำนวนรถเข็นและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่จัดเก็บรถเข็นที่เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสารของอาคาร 1 และอาคาร 2 ขณะที่มีการฟันราคาประมูลลงค่อนข้างต่ำ โดยตัดต้นทุนเรื่องแรงงานออก เพราะเงื่อนไขในทีโออาร์ที่ ไม่มีการกำหนดจำนวนเจ้าหน้าที่ขั้นต่ำที่จัดเก็บรถเข็นไว้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้บริหาร ทอท.อยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มวงเงินค่าจ้างให้กับเอกชนอีกกว่า 100 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหารถเข็นกระเป๋าไม่พอ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการเอื้อเอกชนหรือไม่