อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด และนางสาวภัคจิรา ธรรมมานุธรรม
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความในคอลัมน์พินิจอินเดียฉบับนี้มีความพิเศษ เพราะมีนางสาวภัคจิรา ธรรมมานุธรรม นิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นนักเขียนรับเชิญร่วมกับผู้เขียนประจำ ด้วยมีจุดประสงค์ที่คณาจารย์ทีมอินเดีย จุฬาฯ ต้องการสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานคุณภาพของนิสิตที่ตั้งใจศึกษาค้นคว้าเรื่องอินเดีย ให้ได้เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน บทความมีเนื้อหาดังนี้
‘ข้าวมธุปายาส’ ปรากฏในพุทธประวัติตอนนางสุชาดาถวายอาหารมื้อสุดท้ายแด่พระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่พระองค์จะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในราตรีวัน 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ เมื่อ 2500 กว่าปีที่แล้ว เป็นเรื่องที่น่าสงสัยใคร่ศึกษาให้รู้ว่า ลักษณะที่แท้จริงของข้าวมธุปายาสในพุทธประวัตินั้นเป็นเช่นไรกันแน่ บทความฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะค้นคว้าหาหลักฐานเท่าที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายภาษาบาลีมาแสดงเพื่อตอบคำถามดังกล่าว
มธุปายาส เป็นภาษาบาลีประกอบด้วยคำสองคำ กล่าวคือ ‘มธุ’ แปลว่า น้ำผึ้ง และ ‘ปายาส’ แปลว่า ข้าวหุงด้วยน้ำนม โดยคำว่า ปายาส มาจากคำว่า ‘ปยสฺ’ ที่แปลว่าน้ำนม โดยนัยนี้ มธุปายาส จึงแปลว่า ข้าวหุงด้วยน้ำนมใส่น้ำผึ้ง
พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีข้อความตอนหนึ่งในพุทธวงศ์ ขุททกนิกาย ว่า
“พระตถาคตจักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้นแล้ว เสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้น จักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว...”
จะเห็นได้ว่าในพระไตรปิฎกบาลีใช้คำว่า ‘ปายาส’ แทนสิ่งที่พระตถาคตทรงรับและเสวยก่อนการตรัสรู้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในพระไตรปิฎกฉบับนี้ยังมีการใช้คำว่า ‘ปายาส’ อีกหลายแห่ง เช่น สคาถวรรค สังยุตตนิกาย, ชาดก ขุททกนิกาย, อปทาน ขุททกนิกาย ส่วนคำว่า ‘มธุปายาส’ พบว่ามีใช้แห่งเดียวในเรื่องของพระโคสาลเถระ พบในเถรคาถา ขุททกนิกาย และมีการใช้คำว่า ‘สัปปิปายาส’ ซึ่งแปลว่า ปายาสใส่เนยใส ในหลายแห่ง เช่น สฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย, ชาดก ขุททกนิกาย ในบางแห่งยังกล่าวถึงส่วนผสมด้วยว่า “ปรุงข้าวปายาส ด้วยเนยใส” (สปฺปินา ปายาโส) จากการศึกษาพระไตรปิฎกบาลีทำให้เข้าใจได้ว่าปายาสทั้งสามอย่างนี้น่าจะเป็นอาหารชนิดเดียวกันและอาจจะเป็นอาหารอย่างเดียวกันแต่มีส่วนผสมที่ต่างกันโดยดูจากคำขยายข้างหน้าที่บอกส่วนผสมของปายาส กล่าวคือ มธุปายาส คือปายาสที่ใส่น้ำผึ้ง สัปปิปายาส คือปายาสที่ใส่เนยใส การกล่าวถึงปายาสโดยไม่มีคำขยายข้างหน้านั้นอาจจะละคำที่แสดงส่วนประกอบไว้ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามเราก็ได้ทราบส่วนประกอบของปายาสว่ามีการเติมน้ำผึ้ง หรือเนยใส และอาจสันนิษฐานได้ว่า ปายาส เป็นอาหารชั้นดี ที่นิยมนำมาถวายแด่พระภิกษุ
ในอรรถกถาภาษาไทย ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย และอรรถกถาภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ กล่าวเรื่องข้าวมธุปายาสในพุทธประวัติไว้ในอวิทูเรนิทานในนิทานกถาซึ่งเป็นส่วนต้นของคัมภีร์ชาตกัฏฐกถา หรืออรรถกถาของคัมภีร์ชาดก ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้าวมธุปายาสมากที่สุด มีเนื้อหาโดยสรุปว่า
นางสุชาดา ธิดาของกุฎุมพีในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้กระทำความปรารถนาที่ต้นไทรแห่งหนึ่งว่า ถ้าได้แต่งงานกับผู้ที่มีชาติตระกูลเสมอกันและได้บุตรคนแรกเป็นชาย จะทำพลีกรรมโดยบริจาคทรัพย์หนึ่งแสนให้ทุกปี ๆ ความปรารถนาของนางสำเร็จแล้ว เมื่อพระมหาสัตว์กระทำทุกรกิริยาครบ 6 ปี ในวันเพ็ญเดือน 6 นางสุชาดาประสงค์จะทำพลีกรรม ก่อนหน้านั้นนางได้ปล่อยโคนม 1,000 ตัว ให้ท่องเที่ยวอยู่ในป่าชะเอม ให้โคนม 50 ตัว ดื่มน้ำนมของโคนม 1,000 ตัวนั้น แล้วให้โคนม 250 ตัว ดื่มน้ำนมของโคนม 500 ตัวนั้น นางปรารถนาน้ำนมข้นและมีโอชะจึงได้ให้โคหมุนเวียนดื่มน้ำนมจนกระทั่งเหลือโค 8 ตัว ดื่มน้ำนมของแม่โคนม 16 ตัวนั้น ในเช้าตรู่วันวิสาขบูรณมี นางสุชาดาลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ให้รีดนมโคนม 8 ตัวนั้น ลูกโคทั้งหลายยังไม่ได้ไปถึงเต้านมเหล่านั้น แต่พอนำภาชนะใหม่เข้าไปใกล้เต้านมเท่านั้น ธารน้ำนมก็ไหลออกตามธรรมดาของตน นางสุชาดาได้เห็นความอัศจรรย์นั้นจึงตักน้ำนมด้วยมือของตนเอง ใส่ลงในภาชนะใหม่แล้วก่อไฟด้วยมือของตนเอง เมื่อกำลังหุงข้าวปายาส ฟองใหญ่ ๆ ตั้งขึ้นไหลวนเป็นทักษิณาวัฏ แม้หยาดสักหยดหนึ่งก็ไม่หกออกภายนอก ควันไฟแม้มีประมาณน้อยก็ไม่ตั้งขึ้นจากเตา สมัยนั้นท้าวจตุโลกบาลมาถือการอารักขาที่เตา ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกะนำดุ้นฟืนมาใส่ไฟให้ลุกโพลงอยู่ เทวดาทั้งหลายรวบรวมโอชะใส่เข้าไปในข้าวปายาสนั้นด้วยเทวานุภาพของตน เหมือนบุคคลคั้นรวงผึ้งอันติดอยู่ที่ท่อนไม้ แล้วถือเอาแต่น้ำหวานฉะนั้น ในเวลาอื่น ๆ เทวดาทั้งหลายใส่โอชะในคำข้าว ก็แต่ว่าในวันตรัสรู้และวันปรินิพพาน ใส่โอชะในหม้อเลยทีเดียว นางสุชาดาคิดจะใส่ข้าวปายาสในถาดทองจึงให้คนใช้นำถาดทองมีค่าหนึ่งแสนออกมา ประสงค์จะใส่ข้าวปายาสในถาดทองนั้น จึงรำพึงถึงโภชนะที่สุกแล้ว ข้าวปายาสทั้งหมดก็กลิ้งไปประดิษฐานอยู่ในถาดเหมือนน้ำกลิ้งจากใบบัว ข้าวปายาสนั้นเต็มถาดหนึ่งพอดี นางสุชาดาได้เดินไปยังโคนต้นไทร เปิดฝาเอาสุวรรณภิงคารใส่น้ำอันอบด้วยดอกไม้หอม เข้าไปยืนอยู่ใกล้ ๆ พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เหยียดพระหัตถ์ขวาออกรับ นางสุชาดาจึงวางถาดทองข้าวปายาสในพระหัตถ์ของพระมหาบุรุษ ฝ่ายพระโพธิสัตว์เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ทรงทำประทักษิณต้นไม้ ถือถาดเสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงวางถาดที่ฝั่ง เสด็จลงสรงสนานเสร็จแล้วทรงนั่ง ทรงนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทรงกระทำปั้นข้าว 49 ปั้น ประมาณเท่าจาวตาลสุกจาวหนึ่ง ๆ แล้วเสวยมธุปายาสมีน้ำน้อยทั้งหมด ข้าวมธุปายาสนั้นได้เป็นอาหารอยู่ได้ตลอด 7 สัปดาห์ และยังมีปรากฏเรื่องข้าวมธุปายาสในพุทธประวัติอยู่ในพุทธวงศ์ ขุททกนิกาย โดยมีการใช้คำว่า “ข้าวปายาสที่ไม่แข้นแข็ง มีรสอร่อยอย่างยิ่ง” (ปายาส อนายาส ปรมมธุร)
จะเห็นได้ว่ามีการใช้ ปายาส และ มธุปายาส เมื่อกล่าวถึงสิ่งเดียวกัน และมีคำขยาย มธุปายาส ด้วยคำว่า มีน้ำน้อย (อปฺโปทกมธุปายาส) นอกจากมีการบอกลักษณะของข้าวมธุปายาสว่ามีน้ำน้อยแล้ว จากลักษณะของการเสวยที่ทรงกระทำปั้นข้าว และ “ข้าวปายาสทั้งหมดก็กลิ้งไปประดิษฐานอยู่ในถาดเหมือนน้ำกลิ้งจากใบบัว” อีกทั้งมีข้อความว่า “ข้าวปายาสที่ไม่แข้นแข็ง” จึงทำให้พอพิจารณาได้ว่าข้าวมธุปายาสไม่ใช่อาหารที่แข็งและเหลวนัก พอจะกลิ้งไปได้เหมือนน้ำกลิ้งจากใบบัว และยังได้ทราบอีกว่าข้าวมธุปายาสทำมาจากนมโคและในการปรุงต้องใช้ความร้อน
อรรถกถาฉบับดังกล่าวได้อธิบายคำว่า มธุปายาส ที่ปรากฏแห่งเดียวในพระไตรปิฎกบาลีในเรื่องของพระโคสาลเถระว่าเป็น “ข้าวปายาส ที่เขาหุงด้วยน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด” และปรากฏคำอธิบายเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกบาลีอีก เช่น “ข้าวปายาสที่ปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย” ในอรรถกถาเรื่องติตถชาดก และ “ข้าวมธุปายาสที่ปรุงด้วยเนยใสเป็นต้น” และ “ข้าวปายาสผสมด้วยสัปปิ” ในอรรถกถาเรื่องสันถวชาดก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าคำว่า ปายาส และ สัปปิปายาส น่าจะหมายถึงสิ่งเดียวกัน ต่างกันเพียงแค่วิธีการเพิ่มคำขยายเท่านั้น
พบว่าข้าวปายาสที่กล่าวถึงในคัมภีร์ทั้งหลายมีลักษณะแตกต่างกัน 3 ลักษณะ กล่าวคือ ข้าวปายาสที่ไม่เหลว ข้าวปายาสที่เหลว และข้าวปายาสที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งพบว่า กล่าวถึงข้าวปายาสที่ไม่เหลวมากที่สุด
ข้าวปายาสที่ไม่เหลวพบในอรรถกถาพระสุตตันตปิฎกดังนี้
“ข้าวปายาสไม่มีน้ำ” (นิรุทกปายาส) ในมหาวรรค ทีฆนิกาย
“ข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย” (อปฺโปทก มธุปายาส) ในคาถาธรรมบท ขุททกนิกาย
“ข้าวปายาสมีน้ำน้อย” (อปฺโปทกปายาส) ในอุทาน ขุททกนิกาย
“ก้อนข้าวปายาส” (ปายาสปิณฺฑ) ในชาดก ขุททกนิกาย
ข้าวปายาสที่เหลวพบในอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก มีการใช้คำว่า
“ข้าวปายาสเปียก” (กิลินฺนปายาส) ใน คาถาธรรมบท ขุททกนิกาย และ
“เอามือกอบคูถ กินและดื่มมูตรเหมือนคดข้าวปายาส” ในเถรคาถา ขุททกนิกาย
ส่วนข้าวปายาสที่เปรี้ยวพบในอรรถกถาพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค มีการใช้คำว่า
“ข้าวปายาสเปรี้ยว” (อมฺพิลปายาส)
บางแห่งในอรรถกถามีคำอธิบายถึงส่วนผสมของข้าวปายาสอีก ดังนี้
“ข้าวปายาสทำด้วยแป้ง” ในปาฏิกวรรค ทีฆนิกาย
“ข้าวปายาสอย่างดี ปรุงด้วยเนยใสน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด” ในมหาวรรค ทีฆนิกาย
“จัดแจงข้าวปายาสด้วยน้ำนมไม่ผสมน้ำ ด้วยข้าวสารแห่งข้าวสาลีที่ตนฉีกท้องข้าวสาลี ในที่นาประมาณ 8 กรีส จึงใส่น้ำผึ้ง เนยใส น้ำตาลกรวดเป็นต้นในข้าวปายาสนั้น” ในเถรคาถา ขุททกนิกาย
“เนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด ข้าวสารและนมสด...นางเห็นสิ่งเหล่านั้นก็ดีใจว่า เราประสงค์จะถวายทาน และเราก็ได้ไทยธรรมนี้แล้ว ในวันที่สอง ก็จัดทานปรุงมธุปายาสน้ำน้อย” ในวิมานวัตถุ ขุททกนิกาย
“ข้าวปายาสที่ปรุงด้วยของที่เจือด้วยเนยใสใหม่ น้ำผึ้งสุกและน้ำตาลกรวด” ในชาดก ขุททกนิกาย
ดังแสดงมานี้ จึงพอสรุปได้ว่าข้าวปายาสหรือที่นิยมเรียกว่ามธุปายาส จะประกอบด้วย ข้าว อาจจะเป็นข้าวสาลีหรือข้าวชนิดใด ไม่ได้ระบุไว้แน่ชัด และมี น้ำนม เนยใส น้ำตาลกรวด น้ำผึ้ง เตรียมขึ้นด้วยวิธีหุงต้ม มีลักษณะที่ไม่แข็งและไม่เหลวมาก สามารถที่จะปั้นเป็นก้อนได้
พระไตรปิฎกบาลีภาษาไทยฉบับอื่นพบว่า มีการแปลคำว่า ปายาส เป็น มธุปายาส เช่น ในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง กรมการศาสนา พุทธศักราช 2521 และ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสังคายนาในพระบรมราชูปถัมภ์ พุทธศักราช 2530 เป็นต้น ในพุทธประวัติภาษาไทยก็กล่าวถึงสิ่งนี้ด้วยคำว่า ข้าวมธุปายาส นั่นเป็นเหตุที่ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยคุ้นเคยอาหารชนิดนี้ในชื่อว่า ข้าวมธุปายาส
ชาวพุทธในสังคมไทย มีประเพณีการกวนข้าวทิพย์ในช่วงวันวิสาขบูชา แล้วนิยมเรียกว่า ข้าวมธุปายาส ข้าวทิพย์มีส่วนผสมคือ ข้าว นม น้ำมันพืช น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาลกรวด น้ำตาลหม้อ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา ลูกเดือย เมล็ดแตง เมล็ดบัว มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ผลไม้สด ผลไม้แห้ง ผู้ที่กวนต้องเป็นสาวพรหมจารี นุ่งขาวห่มขาว ข้าวทิพย์มีรสหวาน มีสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายกาละแม ลักษณะของข้าวทิพย์ดังกล่าวจึงแตกต่างจากข้าวมธุปายาสที่ปรากฏในพุทธประวัติ ข้าวทิพย์ไม่ได้เน้นรสของนมซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของข้าวปายาส
ในหนังสือพุทธประวัติที่เขียนด้วยภาษาฮินดี ภาษาราชการที่ประเทศอินเดียใช้สื่อสารทั่วไปในปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงอาหารที่พระพุทธเจ้าเสวยก่อนการตรัสรู้ จะใช้คำว่า ขีร ซึ่งเป็นขนมหวานชนิดหนึ่งที่ยังนิยมรับประทานทั่วไปในอินเดีย ทำจากข้าวหุงด้วยน้ำนม ใส่น้ำตาล ใส่เครื่องเทศและส่วนผสมอื่น ๆ มี กระวาน หญ้าฝรั่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น อาจใส่ ฆี(घी Ghee ) คือเนยใสด้วยก็ได้ เตรียมขึ้นโดยนำส่วนผสมทั้งหมดมาต้มแล้วกวนให้ข้นพอประมาณตามแต่ความต้องการ ลักษณะของขนมขีร คล้ายคลึงจนน่าเชื่อว่า ขีรและปายาส อาจเป็นอาหารชนิดเดียวกัน
หากถือตามนัยนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่าข้าวมธุปายาสคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอินเดียที่รักษาอัตลักษณ์มาอย่างยาวนานในการให้ความสำคัญแก่น้ำนม อาหารส่วนใหญ่ในอินเดียล้วนมีน้ำนมเป็นส่วนผสมสำคัญ จาก ‘ข้าวมธุปายาส’ หรือ ‘ปายาส’ อาหารในพุทธประวัติ สู่ ‘ขีร’ ขนมหวานที่เรียบง่ายแต่น่าเย้ายวน ผ่านกาลเวลาเนิ่นนานมากว่าสองพันปี ความหอมหวานของข้าวที่หุงด้วยน้ำนมยังไม่จืดจางหายไปจากแผ่นดินอินเดีย ดินแดนแห่งอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งในโลก