ป.ป.ท.บุกตรวจสอบทุจริตงบศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงเชียงใหม่ ผลาญงบกว่า 67 ล้าน แต่ "ชาวเขา" ไม่ได้รับเงินยกจังหวัด ชาวบ้านโอดให้เขียนเบิก 3 พัน จ่ายแค่พันเดียว "จรัมพร" แฉพฤติกรรมอมเงิน-สวมชื่อ ปลอมแปลงเอกสารเป็นว่าเล่น สธ.โบ้ย “อปท.-ปศุสัตว์” แจงงุบงิบงบฯวัคซีนหมา "บิ๊กตู่" เมินใช้อำนาจพิเศษ จัดการคนโกง ปล่อยให้เข้ากระบวนการยุติธรรม
วานนี้ (22 มี.ค.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยมี พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการ ป.ป.ท. พร้อมคณะร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ งบประมาณปี 2560 ประมาณ 67,917,000 บาท
พล.ต.อ.จรัมพร เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เนื่องจากเป็นการขยายผลจาการตรวจสอบการทุจริตศูนย์คนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาราษฏรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเมื่อปี 2559 สตง.ได้มีการตรวจสอบว่าเป็นงบที่กระโดดมากจาก 3 ล้านบาทเป็นกว่า 60 ล้านบาท จากข้อมูล ป.ป.ท.สอบถามชาวบ้านที่ปรากฏรายชื่อผู้รับเงินสงเคราะห์ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีสัญชาติไทย ปรากฎว่าส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับเงินสงเคราะห์เช่นกัน ขณะที่บางหมู่บ้านมีชื่อกำนันตำบล หัวหน้าเขตอำเภอ เป็นผู้ได้รับเงินสงเคราะห์ด้วย แต่เมื่อถามบุคคลที่มีชื่อได้ยืนยันว่า ตนเอง และลูกบ้านไม่เคยได้รับเงินสงเคราะห์ดังกล่าวเลย ที่น่าตกใจคือในส่วนของตำบลแม่ทา ทั้งหมด 537 รายนั้นไม่ได้รับเงินแม้แต่รายเดียวแต่กลับถูกนำรายชื่อไปเบิกจ่ายทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการท้องถิ่นก็ถูกนำรายชื่อไปเบิกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบถามชาวบ้าโดยเฉพาะหมู่ 8 ผาปู่จอม ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จำนวน 36 รายพบว่าไม่มีชาวบ้านได้รับเงินเลย แต่กลับมีการนำเอกสารไปเบิกเงิน ส่วนหมู่ชาวบ้านหมู่ 1 บ้านผาแดงนั้น 36 รายได้รับเงินรายละ 1,000 บาทแต่กลับนำรายชื่อไปเขียนในใบสำคัญรับเงินคนละ 3,000 บาทนอกจากนี้บางรายไม่รู้หนังสือกลับมีการเซ็นชื่อแทน ประกอบการลงพื้นที่บริเวณหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 ของตำบลแม่ทา ประชาชนร้อยละ 90 ให้ถ้อยคำยืนยันว่า ลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารใบสำคัญรับเงิน ไม่ใช่ลายมือชื่อของตน อีกทั้งตนเองไม่เคยได้รับเงินสงเคราะห์รายละ 3,000 บาท แต่อย่างใด
สำหรับลักษณะการใช้จ่ายเงินงบประมาณในจ.เชียงใหม่ จะแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ 15 เขตคือ อ.ฝาง มีการเบิกจ่าย 16 ครั้ง จำนวนเงิน 8.5 ล้านบาท อ.พร้าวเบิกจ่าย 12 ครั้ง จำนวนเงิน 9.4 ล้านบาท อ.เวียงแหง เบิกจ่าย 4 ครั้ง จำนวนเงิน 1.1 ล้านบาท อ.เวียงแหง เบิกจ่ายรอบ 2 อีก 8 ครั้ง จำนวนเงิน 1.2 ล้านบาท อ.เชียงดาว เบิกจ่าย 14 ครั้ง จำนวนเงิน 6.1 ล้านบาท อ.กัลยานิวัฒนา เบิกจ่าย 11 ครั้งจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท อ.แม่อาย เบิกจ่าย 14 ครั้ง จำนวนเงิน 5.1 ล้านบาท อ.แม่แตง เบิกจ่าย 15 ครั้ง จำนวนเงิน 5 ล้านบาท อ.แม่วาง เบิกจ่าย 14 ครั้ง จำนวนเงิน 3.7 ล้านบาท อ.จอมทอง เบิกจ่าย 16 ครั้ง จำนวนเงิน 11 ล้านบาท อ.แม่ริม เบิกจ่าย 13 ครั้ง จำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท อ.ไชยปราการ เบิกจ่าย 10 ครั้ง จำนวนเงิน 1.9 ล้านบาท อ.สเมิง เบิกจ่าย 8 ครั้ง จำนวนเงิน 2.5 ล้านบาท อ.อมก๋อย เบิกจ่าย 9 ครั้ง จำนวนเงิน 3.5 ล้านบาท อ.แม่แจ่ม เบิกจ่าย 7 ครั้ง จำนวนเงิน 2.3 ล้านบาท รวมงบประมาณที่เบิกจ่ายทั้งหมดเป็นเงิน 67.9 ล้านบาท
อีกด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชนเรื่องการจัดซื้อและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากทางกรมควบคุมโรค จะรับผิดชอบในส่วนของวัคซีนในคนที่ใช้ฉีดให้คนที่ถูกสัตว์สงสัยว่าป่วย เช่น สุนัข แมว กัดหรือข่วน ส่วนวัคซีนที่ฉีดในสัตว์เพื่อป้องกันพิษสุนัขบ้ามีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมปศุสัตว์ เป็นผู้จัดซื้อและฉีดในสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคคือ สุนัข แมว โดยที่กระทรวงสาธารณสุขทำได้คือสนับสนุนการดำเนินงาน ไม่ได้ก้าวล่วงไปจัดซื้อหรือบริการฉีดวัคซีนในสัตว์ได้
ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ถึงกรณีการทุจริตในขณะนี้ว่า เราต้องสนใจสิทธิประโยชน์ของตัวเอง ส่วนเรื่องที่กำลังตรวจสอบอยู่ เช่นโครงการเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรณีอื่นๆ ติดคุกหมด รวมถึงโทษทางวินัย อาญา และแพ่ง กฎหมายมีอยู่แล้ว รัฐบาลนี้เข้ามาทำไม่ได้เร็วนัก เพราะต้องให้ความเป็นธรรมไม่ใช้อำนาจพิเศษลงโทษเขาให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม