ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ เธอไม่รู้บ้างเลย...” ฮัมกันทั่วบ้านทั่วเมืองกับซิงเกิลฮิต “คุกกี้เสี่ยงทาย” ของไอดอลญี่ปุ่นฉบับไทย สุดคาวาอี้อย่างวง BNK48 เกิร์ลกรุ๊ปที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในเวลานี้ เพราะไม่เพียงละลายหัวใจโอตะ (เพี้ยนมาจากคำว่า โอตะคุ : แฟนคลับ) BNK48 ยังสร้าง “ปรากฏการณ์คลั่งไคล้” ลามไปทั่วทุกกลุ่ม ชนิดที่ว่า “ไม่รู้จัก...ก็ต้องได้ยินชื่อมาบ้าง” เพราะกระแสของสาวๆ แรงซะเหลือเกิน จนกุม “หัวใจ” ของ “หนุ่มไทย” ครึ่งค่อนประเทศ
เรียกว่า สาวๆ คลั่ง “GOT7” ฉันใด หนุ่มๆ ก็คลั่ง “BNK48” อย่างไรอย่างนั้น
BNK48 (บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต) สร้างสีสันให้วงการเพลงไทยในปี 2560 กลับมาครึกครื้นอีกครั้งหลังซบเซาไปนาน ความน่ารักคาวาอี้ของสาวๆ ทำให้ใครหลายคนกลายมาเป็น “โอตะ BNK48” (โอตะคุ : แฟนคลับ) แสดงตัวว่า “โอชิ” สาวๆ คนนั้นคนนี้ (โอชิ : สมาชิกที่ชอบ) รักใครเชียร์ใครก็แสดงตัวให้เจ้าตัวรู้กันไป “โอชิเฌอปราง” “โอชิอรอุ๋ง” “โอชิเจนนิษฐ์” “โอชิปัญ” ฯลฯ
BNK48 เปิดตัวอย่างงดงามกระแสแรงข้ามปีด้วยเพลงฮิต “คุกกี้เสี่ยงทาย” ที่เป็นไวรัลอยู่ในโลกออนไลน์ ถูกคัฟเวอร์โดยศิลปินดังมากมาย ถูกแปลงเนื้อเพลงเย้าแหย่อย่างสนุกสนาน เป็นต้นว่า “คุกกี้เสี่ยงคุก” ที่มีเนื้อร้องทำนองว่า “แอบมองลุงอยู่นะจ๊ะ แต่ลุงไม่รู้บ้างเลย...”
รวมทั้ง การมีโอตะเป็นคนในวงการบันเทิง อาทิ ชมพู่ - อารยา, แสตมป์ - อภิวัชร์, เต๋อ - นวพล , โอ๊ต-ปราโมทย์ ฯลฯ ก็มีส่วนผลักดันสาวๆ BNK48 ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
เรียกว่าถนนทุกสายในประเทศไทยต่างจับจ้องและให้ความสนใจอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระทั่งกล่าวได้ว่า นี่ต่างหาก “ไทยนิยม” ของจริงไม่อิงนิยาย
BNK48 คืออะไร
BNK48คือ กลุ่มไอดอลสาวไทย ที่ถือเป็น “ไอดอลน้องสาว (Sister group)” ของ AKB48 (เอเคบีโฟร์ตีเอต) ต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น กลายๆ ว่า เป็นกลุ่มไอดอลที่มีรูปแบบ “แฟรนไชส์” โด่งดังกระจายไปยังหลายประเทศในเอเชีย เช่น JKT48 อินโดนีเซีย TPE48 ไต้หวัน ฯลฯ
แรกเริ่มก่อตั้งขึ้นภายใต้แนวคิด “ไอดอลที่คุณสามารถไปพบได้ หรือ Idol You can Meet” ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจการบริหารศิลปิน ที่ก่อตั้งโดย “อากิโมโตะ ยาสึชิ” โดยนำจุดขายความเป็นไอดอลในเรื่องของ “ตัวตน” ความพยายามการฝึกฝน มากกว่าความเป็นศิลปินเพอร์เฟกต์ร้องเก่งเต้นเป๊ะ แต่เป็นไปในลักษณะไอดอลที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์แต่เติบโตไปพร้อมกับแฟนๆ ได้
ย้อนกลับไปที่วงต้นแบบ BNK48 นั่นก็คือ AKB48 เริ่มจากแนวคิดไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปชุดนักเรียนที่เห็นได้ทั่วไป โดยจะมีการแสดงที่ “เธียเตอร์” ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหล่าโอตะจะมาพบปะกับเหล่าไอดอลชื่นชอบ มีการพูดคุย การแสดงจากสมาชิกหมุนเวียนทุกๆ วัน ในย่านอากิฮาบาระ ประเทศญี่ปุ่น
ส่วนชื่อของวงน้องที่มีสาขากระจายอยู่หลายประเทศ จะตั้งตามชื่อย่อของเมือง อย่าง BNK48 ก็มาจาก Bangkok บางกอก หรือ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ส่วนตัวเลข 48 ไม่ได้หมายถึงจำนวนสมาชิก แต่มีที่มาจากชื่อของประธานบริษัทเพียงเท่านั้น
สำหรับ BNK48 เปิดตัวอย่างเป็นทางการใน “BNK48 The debut” ช่วงกลางปี 2560 ด้วยสมาชิก 30 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 3 คน ประกาศจบการศึกษา (ศัพท์เฉพาะมีความหมายว่าลาออกจากวง) BNK48 ปล่อยซิงเกิลแรก “อยากจะได้พบเธอ (Aitakatta)” ตามด้วยซิงเกิล “365 วันกับเครื่องบินกระดาษ (365 Nichi No Kamihikouki)”, “ก็ชอบให้รู้ว่าชอบ (Oogoe Diamond)”, “คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie)” และ “เพลงชาติ BNK48” ที่มีความโดดเด่นเรื่องของสถานที่รอบกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ “วงน้อง” ที่มีสาขาอยู่ในหลายประเทศ ทั้งหมดได้เนื้อหาแปลงเป็นภาษาไทยแต่ยังคงเมโลดี้ญี่ปุ่นไว้
ความน่าสนใจของ “เกิร์ลกรุ๊ปตระกูล 48” จะมี “คำศัพท์เฉพาะทาง” ที่ใช้กันใน “กลุ่มโอตะ” หรือเพี้ยนมาจาก “โอตาคุ” ซึ่งหมายถึงแฟนคลับนั่นเอง เป็นต้นว่า
“โอชิ” หมายถึง สมาชิกวงที่คุณชื่นชอบที่สุด เช่น ผมโอชิเฌอปราง หมายความว่าชอบเฌอปรางมากที่สุด “กัปตัน” หมายถึงหัวหน้าวงที่คอยดูแลทุกคนในวง “เซ็นเตอร์” หมายถึงดาวเด่นในแต่ละซิงเกิล “เธียเตอร์” หมายถึงสถานที่พบปะระหว่างไอดอลกับโอตะ “งานจับมือ” หมายถึงงานที่เปิดโอกาสให้จับมือทักทายสาวๆ ซึ่งแต่ต้องแลกกับการซื้อซีดีที่แถมบัตรจับมือ “เซมบัตสึ” หมายถึงสมาชิกที่ถูกเลือกในแต่ละซิงเกิล ด้วยสมาชิกจำนวนมากจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะกับเพลง “เลือกตั้ง” หมายถึงการโหวตโอชิคนใดคนหนึ่งโดดเด่นขึ้นมาโดยโอตะ “จบการศึกษา” หมายถึงการที่สมาชิกลาออกจากวงไปเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เป็นต้น
เรียกว่า ทั้งคอนเซ็ปต์และกิจกรรมโปรโมทต่างๆ BNK48 ถอดโมเดลวงรุ่นพี่ AKB48 ประเทศญี่ปุ่นมาทุกกระเบียดนิ้ว
เบื้องหลังคุกกี้ฯ ฟีเวอร์
BNK48 ทวนกระแสท่ามกลางสภาวะซบเซาธุรกิจเพลงไทย สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ให้เหล่าโอตะทั้งชายหญิงตกหลุมรัก “คุกกี้เสี่ยงทาย” กลายเป็นเพลงฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง 16 เซมบัตสึ สร้างปรากฏการณ์ชักชวนโอตะกว่า 2,000 คนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมิวสิกวิดีโอซิงเกิลแรก
“โมเดล BNK48” ทำให้ธุรกิจเพลงไทยสลัดจากกรอบเดิมๆ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจของ บริษัท โรสอาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ (RAM) ในเครือโรส มีเดีย เป็นผู้นำเข้า “แฟรนไชส์เกิร์ลกรุ๊ปไอดอล” ที่น่าจับตาแห่งยุค
นิตยสารออนไลน์ Positioningmag.com เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง “BNK48 ไพ่ใบใหม่ โรสมีเดีย ธุรกิจเสี่ยงที่กำลังทำเงิน” ใจความสำคัญ ความว่า
“ในฐานะที่บริษัทมีการทำธุรกิจซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูจากประเทศญี่ปุ่นมาทำตลาดในไทยอยู่แล้ว ประกอบกับเห็นความดังของ AKB48 จึง “เสี่ยง” นำมาบุกเบิกในประเทศไทย เหตุผลที่ BNK48 เสี่ยง เพราะโมเดลการบริหารศิลปินจนสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในบ้านเรายังเป็นตลาดที่เล็กและเฉพาะอยู่มากๆ (Niche Market) โอกาสรุ่งและร่วงมีพอๆ กัน แต่ถึงแม้จะมีอุปสรรค (Threat) จากการเป็นธุรกิจ “ใหม่ถอดด้าม” คนไม่ค่อยรู้จัก แต่จุดแข็ง (Strength) ก็มีอยู่ไม่น้อย ดังนี้ การซื้อแฟรนไชส์เข้ามา หมายความว่า บริษัทยก “สูตรสำเร็จ” จากญี่ปุ่นมาปรับใช้และเดินตามได้ทันที ธุรกิจใหม่ สามารถสร้างความแตกต่างในตลาดได้ ดึงดูความสนใจและเป็นกระแสได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยช่างเห่อ ชอบลองของใหม่ฐานแฟนคลับของ AKB48 ช่วยสร้างการรับรู้ของโมเดลธุรกิจให้แก่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ ประเทศไทยมีความชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลายอย่าง เอื้อต่อการเปิดรับความเป็นญี่ปุ่น ธุรกิจญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยให้ความสนใจในการดึงไอดอลวงนี้ไปร่วมกิจกรรม”
ด้าน จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด เคยให้สัมภาษณ์ถึงโปรเจ็กต์ไอดอล BNK48 เอาไว้ว่า “เราไม่ได้ขายคอนเซปต์การทำธุรกิจเพลงอยู่แล้ว แต่ขายการเป็นผู้ดูแลจัดการศิลปิน (artist management) สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจลงไปสู่โซเชียลมีเดียด้วย
“...เราพยายามหาคนที่มีเสน่ห์ ไม่ใช่คนที่อยากดังหรือสวยอย่างเดียว บางคนไม่ต้องร้องดีเต้นดีก็ได้ แต่ขอให้มีอะไรดีๆ ที่จะนำเสนอออกมา เราสนใจเรื่องของการนำเสนอ และคนที่พร้อมจะทำตัวเป็นแก้วเปล่า เพื่อฝึกฝนเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกัน”
ทั้งนี้ ต้องบอกว่า สมาชิก BNK48 ทุกคนล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์มีความสามารถในแบบฉบับของตัวเอง โดยคัดเลือกจากเด็กสาวช่วงอายุ 12 - 22 ปี จากจำนวนกว่า 1,375 คนให้เหลือ 30 คน แน่นอน ทุกคนผ่านการฝึกฝนอย่างหนักก่อนเปิดตัวอย่างเปิดทางการเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว โดยความสำเร็จที่จับต้องได้ ก็คือ ยอดขายแผ่นซีดีซิงเกิล 2 เพลงสูงลิบ “อยากจะได้พบเธอ” จำหน่ายได้ถึง 13,500 แผ่น และ “คุกกี้เสี่ยงทาย” จำหน่ายได้ถึง30,000 แผ่น แผ่นละ 350 บาท รายรับคร่าวๆ ประมาณ 15,225,000 บาท
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่วัฒนธรรมไอดอลโมเดลญี่ปุ่นจะมีข้อห้ามเคร่งครัดอยู่หลายอย่าง ทั้งเรื่อง “ห้ามมีแฟน” ซึ่งหนึ่งในสมาชิก “เมษา” BNK48 ฝ่าฝืนจนถูกแบนมาแล้ว ซึ่งประเด็นนี้เหมือนเป็นสัญญาใจเพื่อรักษาภาพลักษณ์และความนิยม รวมทั้ง “ห้ามทำศัลยกรรม” “ห้ามถ่ายแฟชั่นแนวเซ็กซี่”"ห้ามเข้าผับ เข้าบาร์" และที่สำคัญ “ห้ามถ่ายภาพเซลฟี” กับแฟนๆ เหล่าโอตะอย่างเด็ดขาด
แน่นอนว่า กฎข้อห้ามทั้งหมดล้วนเป็นเหตุผลทางธุรกิจ อย่างเรื่องข้อห้ามมีแฟน จิรัฐได้อธิบายมุมมองความรู้สึกของแฟนคลับว่า หากศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบมีแฟน แฟนคลับเหล่านั้นก็จะรู้สึกว่าตัวศิลปินไม่ได้ใส่ใจความรักที่พวกเขาหรือเธอมอบให้ แต่กลับเลือกทุ่มเทความรู้สึกห่วงใยไปให้กับผู้ชายคนเดียว และนั่นเป็นผลให้ไอดอลคนนั้นจะไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป หรือข้อห้ามไอดอลถ่ายภาพเซลฟีกับแฟนคลับ ก็เป็นเหตุผลเชิงการตลาดล้วนๆ แม้แต่งานจับมือที่ต้องเสียเงินยังไม่สามารถขอถ่ายรูปกับศิลปินได้ เท่ากับว่า หากบังเอิญเดินเจอไอดอลก็ไม่อนุญาตให้ร่วมเฟรมเด็ดขาด
แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ภาพของ BNK48 นั้นเต็มไปด้วยความสดใส ไม่เครียด เป็นเพลงที่ฟังง่ายๆ มีท่าเต้นง่ายๆ แต่เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้สึกดีต่อหัวใจจนกุมหัวใจหนุ่มๆ ไทยให้กลายเป็น “โอตะ-โอชิ” กันทั้งบ้านทั้งเมืองเลยทีเดียว
เอาใจโอตะสายเปย์
โอตะถือเป็นปัจจัยสำคัญในสนับสนุนสาวๆ BNK48 ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งโมเดล BNK48 ผ่านกระบวนการคิดสู่กลยุทธ์ธุรกิจที่ดี ผลงานของ “BNK48” เป็นดั่งของสะสมให้เหล่าแฟนคลับที่เรียกขานว่าโอตะ เช่นเดียวกับ การ์ดเกมรูปแบบการสุ่มเลือกให้กับผู้สั่งซื้อ เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้ภาพหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการตามมา
ทั้งนี้ จุดขายของ BNK48 สาวๆ วัยรุ่นน่ารักคาวาอี้นั้น ทำเงินผ่าน “การขายสินค้า (Merchandise)” เช่น ซีดี เสื้อ รูปภาพ ของที่ระลึก ยกตัวอย่างเช่นที่ผ่านมาในช่วงน้ำท่วมมีการประมูลภาพของ “กัปตันเฌอปราง” ราคาสูงกว่า 70,000 บาท “งานโชว์ตัว” การเป็นพรีเซ็นเตอร์และออกอีเวนต์ต่างๆ ไฮไลท์คือ “งานจับมือ” ที่โอตะจะต้องซื้อสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับวินาทีแห่งความสุข “ผลิตคอนเทนต์” ทำรายการโทรทัศน์หรือการเล่นละคร ยกระดับสร้างการรับรู้จาก Niche ไปสู่ Mass ซึ่งจะตามมาด้วยค่าตัวที่สูงขึ้น
สมาชิกที่ได้รับความนิยมสูงยอมส่งผลให้ “มูลค่าสูง” ตามไปด้วย เช่น ภาพที่เรียกว่า SSR (ย่อมาจาก Super Special Rare) มีลายเซ็นของสมาชิกที่เป็นหน้าเป็นตาของวงอย่าง “เฌอปราง” มีมูลค่าสูงเป็นหลักหมื่นไปจนถึงแสนบาททีเดียว
เรียกว่าบรรดาสมาชิกถือเป็นคอนเทนต์สำคัญ สาวๆ แต่ละคนมีเสน่ห์แตกต่างดึงดูดผู้คนหลากหลายกลุ่ม มีการจัดกิจกรรมให้เหล่าโอตะได้ชื่นชมอย่างต่อเนื่อง โดยนำสื่อที่มีต้นทุนต่ำอย่างโซเชียลมีเดียต่างๆ ยกตัวอย่าง กิจกรรมพบปะเหล่าโอตะ “BNK48 Digital Live Studio” หรือ “ตู้ปลา” ซึ่งมีลักษณะห้องกระจกกั้นกลางระหว่างโอตะและสมาชิก BNK48 ที่จะผลัดเปลี่ยนมาปรากฏตัวเป็นประจำ พร้อมตั้งอยู่บริเวณห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ ย่านชุมชนญี่ปุ่น พร้อมมีการถ่ายทอดสดไปยังเฟซบุ๊กเพจของวง BNK48
หรือกิจกรรมออนไลน์รายการแบบไลฟ์สดผ่านแอพพลิเคชั่น Voov ที่ทางค่ายต้นสังกัดและผู้ผลิตแอพฯ จะได้รับส่วนแบ่งจากบรรดาของขวัญที่เหล่าโอตะส่งมาให้ระหว่างการไลฟ์ สร้างปฏิสัมพันธ์กับเหล่าโอตะไม่ให้ขาดตอนผ่านกิจกรรมต่างๆ หรืออย่างไฮไลท์ที่กล่าวในข้างต้นคือ “งานจับมือ” กับสาวๆ BNK48 ในเวลาสั้นๆ 8 - 10 วินาที ที่ต้องแลกกับการซื้อซีดีแลกเปลี่ยนกับบัตรจับมือโอชิ
แน่นอน โอตะหลายคน “เปย์หนัก” ทุ่มทุนเพื่อให้ได้จับมือสาวๆ ที่ชื่นชอบหลายครั้ง ได้ยินมาว่าโอตะบ้างคนวนไปจับมือโอชิถึง 15 ครั้งในวันเดียว ซึ่งในงานแต่ละครั้งได้รับความสนใจจากเหล่าโอตะอย่างล้นหลาม หรืออย่างงาน “BNK48 We Wish You! A Merry Christmas Fan Meet” ที่สามารถขายบัตรหมดเกลี้ยง 2 รอบภายใน 3 นาที
รวมทั้ง “เธียร์เตอร์” ที่เดอะมอลล์บางกะปิ ซึ่งสมาชิก BNK48 จะมีการแสดงสัปดาห์ละ 3 รอบ เริ่มมีการแสดงอย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ. 2561 รวมทั้ง การคัดเลือกสมาชิกรุ่นที่ 2 ที่กำลังอยู่ระหว่างการเปิดรับออดิชั่น
ด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจส่งผลให้ซีดีเพลงและสินค้าที่ระลึกขายดิบขายดี ยกตัวอย่าง ซีดีเพลง 2 ซิงเกิล จำหน่ายได้รวมกัน 43,500 แผ่น มูลค่า 15,225,000 บาท หรือ บัตร Founder Member BNK48 ซึ่งเหมือนเป็นการซื้อ Boxset Package ของ BNK48 มีของมากมายรวมทั้งมีบัตรเข้าชมเธียร์เตอร์ ราคาใบละ 20,000 บาท ที่ลือว่าขายไปแล้วกว่า 400 ใบ มูลค่า 8,000,000 บาท
จิรัฐ มองโอตะหรือกลุ่มแฟนคลับเสมือน User Generated Content ซึ่งเป็นสิ่งที่ BNK48 เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในเมืองไทย กล่าวคือ ในภาษาเทคนิคเรียกว่าพวกเขามีเอ็นเกจเมนต์สูง ไม่ใช่แค่คลิกดูหรือกดไลค์เท่านั้น แต่ช่วยแชร์ช่วยนำคอนเทนต์มาโปรเซสซิ่งแล้วส่งต่อ ช่วยผลักดันให้น้องๆ ในวงประสบความสำเร็จ จิรัฐ กล่าวผ่าน thestandard.co บางตอนความว่า
“...มันคือการทำให้น้องที่ตัวเองรักเป็นที่สนใจ ได้รับความนิยม เติบโตไปเรื่อยๆ การเติบโตในที่นี้วัดจากการที่เขายืนระยะเป็นเซมบัตสึได้ตลอด ได้เป็นเซ็นเตอร์ของวง มันมีเครื่องมือและกลไกของมันอยู่”
“...ผมเองมีหน้าที่ในการสร้างงานและโอกาส น้องๆ ในวงก็มีหน้าที่ทำงานให้ดีที่สุด แฟนคลับมีหน้าที่สนับสนุนน้องให้ไปถึงเป้าหมาย ทุกคนมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่แฟนคลับ ‘ซื้อ’ ก็เพราะเขาต้องการสนับสนุนให้ทั้งวงและบริษัทที่จัดการอยู่ได้อย่างยั่งยืน ความมีส่วนร่วมคือหัวใจหลักที่ทำให้สินค้าเรายังขายได้”
ดรามาไอดอลไทยใจญี่ปุ่น
หลากหลายดรามากระพือกระแส นับตั้งแต่ออกซิงเกิลแรกเมื่อปีก่อน สมาชิก BNK48 ประกาศขอ “จบการศึกษา” หรือลาออกจากวงแล้ว 3 คน “คิตแคท” “ซินซิน” ล่าสุด “แจน” ที่ตัดสินใจไปเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ในสายงานที่ตัวเองรัก ขณะที่สมาชิกที่เหลือยังคงต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้โดดเด่นด้วยจุดขายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอนาคตจะมีเซมบัตสึหรือเลือกสมาชิกในเพลงใหม่ ด้วยจำนวนสมาชิกมากจึงต้องมีการคัดเลือก
เรียกว่า “ดรามา” ค่อยๆ ก่อตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่นานมานี้ สาวๆ BNK48 ถูกโยงปม “ดรามาคอสเพลย์” เมื่อบล็อกเกอร์ดัง “เพจสะบัดแปรง” โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “ลุค คุกกี้เสี่ยงทาย เมื่อนิสาอยากเป็นเฌอปราง” จนกระทั่ง ถูกวิจารณ์เรื่องการแต่งหน้าและแต่งกายชุดเลียนแบบ (คอสเพลย์) คล้าย “เฌอปราง กัปตันแห่ง BNK48” ลุกลามใหญ่โตเรื่องลิขสิทธิ์ชุด เนื่องจากทางญี่ปุ่นเคร่งครัดในเรื่องของลิขสิทธิ์เป็นอย่างมาก
และกลายเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อหนึ่งในสมาชิกแหกกฎ “เมษา BNK48” มีภาพหลุดกับแฟนหนุ่มส่งผลต่อเรื่องภาพลักษณ์เป็นเหตุให้บริษัท โรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จำกัด (RAM) ต้นสังกัดสั่งแบน 1 เดือน โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องการดูแลภาพลักษณ์ กล่าวคือไม่ได้ระบุเรื่อง “ห้ามมีแฟน” เพียงแต่ในสัญญาขอให้ดูแลภาพลักษณ์ให้ดูดีอยู่เสมอจึงถูกทำโทษ
กระทั่ง กรณีโลกออนไลน์มีการแชร์เรื่องราวจากเพจคาเฟ่เบียร์สดแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง ซึ่งได้นำภาพของสมาชิกสาว “ปัญ BNK48” มาใช้เพื่อทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย โชว์รูปลด 10 เปอร์เซ็นต์ เต้นคุกกี้เสี่ยงทายได้จบเพลงรับฟรีทั้งโต๊ะ ซึ่งเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2545 มีการขยายประเด็นจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นเรื่องใหญ่โต ต่อมา ต้นสังกัดเผยว่าสมาชิก BNK48 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
ล่าสุด กรณีถูกเหยียดหยามจากนักแต่งเพลงดัง โพสต์แสดงทัศนคติต่ำตม “พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” หรือ “ปุ้ม ตาวัน” โพสต์ตำหนิวงดนตรีเกิร์ลกรุ๊ป BNK48 ความเป็นเป็น วัตถุทางเพศ ซิลิโคนทั้งดุ้น สุดท้ายก็จบเล่นหนังโป๊ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่เหล่าโอตะเป็นอย่างมาก ท้ายที่สุดลบโพสต์ออกไปพร้อมทั้งแก้ตัวว่าเข้าใจผิด
แน่นอน หากศึกษาประวัติของบรรดาสาวๆ สมาชิกBNK48 จะทราบว่าโพสต์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง เรียกว่า บรรดาสมาชิกBNK48 ถือเป็นต้นแบบเยาวชนไทยยุคใหม่ เพราะสมาชิกวง BNK48 แต่ละคนโปรไฟล์ดีงามเป็นตัวอย่างที่ดีของเยาวชน ยกตัวอย่าง กัปตันเฌอปราง อารีย์กุล สาวสวยเก่งระดับหัวกะทิ ดีกรีนักเคมี แห่งมหิดลอินเตอร์ฯ ได้รับรางวัลเยาวชนคนต้นแบบการันตี ขณะที่ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ หรือ แก้ว BNK48 ก็เพิ่งได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คณะศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาดุริยางคศิลป์ ณปภัช วรพฤทธานนท์ หรือ จ๋า BNK48 ที่รับรางวัลเกียรติบัตรเด็กและเยาวชนดีเด่น ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560 จัดโดย สมาคมคนของแผ่นดิน ร่วมกับ กลุ่มวิทยาลัยในเครือ-ไทยเทค
หรืออีกหนึ่งขวัญใจหนุ่มไทยไม่แพ้เฌอปรางก็คือ ปัญสิกรณ์ ติยะกร หรือ ปัญ BNK48 ที่สามารถผ่านการสอบ GED หรือ General Educational Development ซึ่งเป็นการสอบเทียบเท่ากับวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายในประเทศไทย ตามหลักสูตรการศึกษาของสหรัฐอเมริกา เป็นที่ยอมรับในการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีภาคภาษาอังกฤษ ปัจจุบันเรียนที่ Stamford International University เป็นต้น
ท้ายที่สุด เส้นทางไอดอลญี่ปุ่นฉบับไทย BNK48 โมเดลธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการบริหารจัดการศิลปินที่มีจุดขาย “ตัวตน” ความน่ารักเปล่งประกายเสน่ห์ของบรรดาสมาชิก นับเป็นความท้าทายที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่า “ไอดอลตระกูล 48” โมเดลธุรกิจนี้จะไต่ระดับสู่แมสได้มากน้อยเพียงใด
ขอบคุณภาพประกอบจาก BNK48OFFICIAL และอื่นๆ